แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนในลาตินอเมริกา ของโฮเช่ คาลอน มาเรียเตกีJose Carlos Mariategui มาเรียเตกี (Jose Carlos Mariategui : ค.ศ.1890 – 1930) เป็นชาวเปรูมาจากครอบครัวค่อนข้างยากจน ได้รับการศึกษาเพียงชั้นประถม ต้องออกจากโรงเรียนไปรับจ้างทำงานในโรงพิมพ์ เขาศึกษาด้วยตนเองจนกลายเป็นนักเขียนและบรรณาธิการวารสาร มีความคิดเชิงสังคมนิยม วิจารณ์การเมืองและสังคมจนรัฐบาลไม่พอใจ และให้ออกไปนอกประเทศ เขาได้ไปอยู่ในยุโรปและใช้เวลาศึกษางานของนักสังคมนิยมหลายคน โดยเฉพาะมาร์กซ์ (Karl Marx) และจอร์จส์ ซอเรล (Geoges Sorel) เมื่อเขากลับมาเปรูอีกครั้งก็ได้นำความคิดของมาร์กซ์มาเผยแพร่ โดยปรับให้เข้ากับสภาวะของลาตินอเมริกา แนวคิดของมาเรียเตกี สรุปได้เป็น 3 ประการ คือ 1.พลังเจตจำนงของมวลชนและของพรรค เชื่อว่าเฉพาะชนชั้นกรรมาชีพ ชาวนาและพรรคพวกเท่านั้น จึงจะมีพลังแห่งเจตจำนง พลังแห่งความเชื่อและพลังแห่งอารมณ์ที่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมได้ ดังนั้น เขาจึงผสมผสานความคิดปฏิวัติของยุโรปเข้ากับการให้คุณค่าแก่วัฒนธรรมของชุมชนอินเดียน ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในเปรู และเห็นว่าพลังแห่งความเชื่อในลัทธิสังคมนิยมแบบกรรมาชีพ บวกเข้ากับพลังแห่งวัฒนธรรมชุมชนของชาวอินเดียนแบบชาวนา จิตสำนึกและพลังจิตใจเช่นนี้จะเปลี่ยนสังคมเศรษฐกิจของเปรูได้ 2.การให้ความสำคัญแก่ชาวนาและองค์กรชุมชนของชาวนา ลักษณะทางเศรษฐกิจของเปรู ปัญหาอันเกิดจากระบบฟิวดัลและระบบทุนนิยม มีชุมชนของชาวนาซึ่งเป็นคนอินเดียนดำรงอยู่ตลอดมา รวมทั้งประเมินศักยภาพของสถาบันชุมชนดั้งเดิม เศรษฐกิจของเปรูดั้งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนเป็นระบบสังคมนิยมเกษตรกรรม มีชุมชนเป็นองค์กรพื้นฐาน เป็นองค์กรเครือญาติครอบครองที่ดินร่วมกัน และมีวิถีชีวิตแบบรวมหมู่ การรุกรานของสเปนทำให้มีการนำเอาระบบฟิวดัลมาใช้ แต่ต่อมาหลังการประกาศเอกราช นายทุนเชื้อชาติอังกฤษและอเมริกาได้เข้าลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ น้ำตาล และควบคุมเศรษฐกิจของชาติ มาเรียเตกีลงความเห็นว่าปัญหาของชาวอินเดียนคือ ปัญหาการขาดที่ดิน และการแก้ปัญหาคือ การจัดระบบที่ดินใหม่ ซึ่งจะเป็นการทำลายระบบฟิวดัล จากนั้นมีทางเลือก 2 ทาง คือ แนวทางทุนนิยม ใช้ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือ สังคมนิยม ซึ่งใช้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ซึ่งมาเรียเตกีเห็นว่าควรใช้แนวทางที่ 2 เนื่องจากเปรูมีความเป็น “ชุมชน” เหลืออยู่ มาเรียเตกีได้อ้างแนวคิดจากหนังสือ ชุมชนพื้นเมืองของเรา (Our Indigenous Community) ของฮิลเดอร์ แบนโด คลาสโด โปโซ ที่ว่า ระบบเสรีนิยมที่เกิดขึ้นหลังจากที่เปรูได้รับเอกราชแล้ว แต่ระบบฟิวดัลก็ยังไม่สิ้นสุดลง ธุรกิจสำคัญอยู่ในมือนายทุนต่างชาติ เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่มีอำนาจมาก ถึงกระนั้น “ชุมชน” ของชาวอินเดียนก็ยังคงแสดงศักยภาพที่จะพัฒนา ชุมชนยังคงรักษาสาระแห่งการร่วมมือกันและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การทำงานอยู่ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และน่าพึงพอใจด้วยการแข่งขันฉันท์มิตร นอกจากนั้น ชุมชนยังสามารถปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ได้ด้วย 3.ชาตินิยมและอินเดียนนิยม ระบบสังคมนิยมในเปรูจะต้องเป็นสังคมนิยมที่เป็นชาตินิยม และเป็นอินเดียนนิยมพร้อม ๆ กันไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบสังคมนิยมของเปรูต่างไปจากยุโรป เพราะในยุโรปที่ครอบงำเป็นทุนชาติเดียวกัน แต่กับเปรูทุนที่ครอบงำเป็นทุนต่างชาติ ดังนั้น การต่อสู้ในเปรูจึงเป็นทั้งการต่อสู้ของชนชั้นและการต่อสู้ของเชื้อชาติ ชาวอินเดียนส่วนใหญ่ของทั้งประเทศเป็นชาวนา ในขณะที่เจ้าของที่ดินคือ ชาวสเปน หรือเชื้อสาย และปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ไขคือ ปัญหาที่ดิน ดังนั้น ชาวอินเดียนจะต้องมีบทบาทสำคัญในกระบวนการปฏิวัติล้มลางระบบฟิวดัล เขาให้ความสำคัญแก่ศักยภาพของชุมชน และพลังของวัฒนธรรมชุมชนด้วย
|