ความเป็นมาของระบบมาตรฐานทองคำ

ระบบมาตรฐานทองคำ (gold standard) ถือเป็นระบบมาตรฐานการเงินระหว่างประเทศระบบแรกที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้ในการทำการค้าระหว่างกันอย่างกว้างขวาง โดยมีการใช้งานในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1870 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

ระบบมาตรฐานทองคำมีพัฒนาการมาจากการใช้เหรียญทองคำทำหน้าที่แทนเงินซึ่งมีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นมาตรฐานในการวัดค่าของสินค้าและบริการ และเป็นเครื่องเก็บรักษามูลค่า ประเทศผู้นำในการใช้ระบบมาตรฐานทองคำคือ สหราชอาณาจักร ซึ่งได้ผูกค่าเงินสกุลปอนด์สเตอร์ลิงไว้กับทองคำเป็นประเทศแรก ทั้งนี้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักรเป็นผู้นำทั้งในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ การทหารและการเมือง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก หรือถือได้ว่าเป็นมหาอำนาจของโลกในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เงินปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักรได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการค้นพบทองคำเป็นปริมาณมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ ทำให้ปริมาณทองคำในโลกเพิ่มขึ้น ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น จึงได้นำระบบมาตรฐานทองคำมาใช้ในระบบการเงินระหว่างประเทศของตนมากขึ้น

ในช่วงที่มีการใช้ระบบมาตรฐานทองคำ ระบบการเงินระหว่างประเทศถือว่ามีเสถียรภาพสามารถทำงานได้ค่อนข้างราบรื่น โดยในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่ปราศจากสงคราม มีการขยายตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศโดยเงินปอนด์สเตอร์ลิงถือเป็นเงินสกุลหลักที่มีความสำคัญ รวมทั้งมีปัญหาความขัดแย้งในนโยบายของประเทศต่างๆ ค่อนข้างน้อย จนอาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคทองของความสัมพันธ์ทางการเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบมาตรฐานทองคำได้ดำเนินมาจนถึงช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นในปี ค.ศ.1914 โดยประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมสงครามได้ประกาศยกเลิกการแลกเปลี่ยนเงินตราของตนกับทองคำ รวมถึงห้ามส่งออกทองคำเพื่อรักษาทุนสำรองของประเทศ หลังจากนั้นประเทศอื่นๆ ก็ได้ทยอยยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำเช่นกัน จึงทำให้ระบบมาตรฐานทองคำล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1932

ที่มา (13) ตัวอย่างทองคำขนาดมาตรฐาน 10 ออนซ์