มาตรการสั่งการและควบคุมเป็นการกำหนดมาตรฐาน ข้อกำหนด หรือข้อห้ามต่างๆ เพื่อลดปริมาณของเสียและมลพิษที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่างๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานน้ำเสียจากการที่ผู้ประกอบการจะต้องบำบัดก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ การกำหนดมาตรฐานอากาศที่มาจากปล่องควัน มาตรฐานเกี่ยวกับการกำจัดฝุ่นละออง การกำหนดเขตควบคุมมลพิษ เป็นต้น
การลดปริมาณของเสียและมลพิษจากมาตรการสั่งการและควบคุมมีอยู่ 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกเป็นการจัดการที่แหล่งกำเนิด โดยเน้นการป้องกันเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุดในกระบวนการผลิตและการบริโภค แนวทางนี้เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การเลือกใช้วัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ และการทิ้ง (กรมควบคุมมลพิษ 2542) ส่วนแนวทางที่สองเป็นการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่กำลังจะปล่อยออกมาจากหน่วยผลิต แนวทางนี้เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษแพร่กระจายออกไป ซึ่งมักประกอบด้วยการดูแลจัดเก็บของเสีย การขนส่งของเสีย การบำบัด การกำจัด และการควบคุมมลพิษ
โดยทั่วไปการใช้แนวทางการจัดการที่แหล่งกำเนิดมักมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้มาตรการควบคุมหลังจากมลพิษได้เกิดขึ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย แนวทางการจัดการมักเน้นไปที่การควบคุมด้วยการบำบัดที่ปลายท่อก่อนปล่อยทิ้ง ซึ่งเป็นการบำบัดที่ปลายเหตุและเป็นการแก้ไขปัญหาภายหลังที่เกิดมลพิษแล้ว ในขณะที่การลดมลพิษที่จุดกำเนิดหรือการป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษยังคงไม่ได้รับความสนใจและไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในหมู่ผู้ประกอบการในประเทศไทย (กรมควบคุมมลพิษ 2542)