มลพิษทางน้ำ

มลพิษทางน้ำหมายถึงสภาพของน้ำที่ถูกเจือปนด้วยมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารประกอบอินทรีย์และ/sinvสารประกอบอนินทรีย์ในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพน้ำ ระบบนิเวศ รวมทั้งก่อให้เกิดอันตราต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช

มลพิษทางน้ำอาจก่อให้เกิดสภาพปัญหาต่างๆ ได้ดังนี้

1. การก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ สัตว์ และพืช จากการบริโภคโดยตรง ได้แก่ การที่น้ำเน่าเสียจนกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆ เมื่อสิ่งมีชีวิตบริโภคน้ำเหล่านั้น อาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เช่น โรคท้องร่วง โรคบิด เป็นต้น หรือถ้าแหล่งน้ำเจือปนด้วยโลหะหนัก เช่น ปรอท เมื่อนำแหล่งน้ำเหล่านั้นมาบริโภค จะส่งผลต่อระบบประสาทของสิ่งมีชีวิตและอาจถึงแก่ชีวิตได้

2. การก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เช่น กลิ่นเหม็นที่เกิดจากการเน่าเสียของแหล่งน้ำ

3. การก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ ถ้าแหล่งน้ำเกิดมลพิษย่อมส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ประมง การขนส่งทางน้ำ การเกษตรกรรม เป็นต้น

แหล่งที่มาของมลพิษทางน้ำได้แก่

1. จากชุมชนและอาคารที่พักอาศัย ที่เกิดจากการซักล้าง หรือขยะปฏิกูลต่างๆ เป็นต้น

2. จากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ ของเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต โดยส่วนใหญ่มักเป็นโลหะหนัก หรือสารพิษต่างๆ

3. จากเหมืองแร่ ซึ่งมักมีตะกอนของเศษหิน แร่ โลหะหนัก และสารพิษต่างๆ

4. จากการเกษตรกรรม มักจะเป็นสารเคมีจำพวก ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ที่ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม

5. จากการคมนาคมขนส่ง เช่น การรั่วไหลของน้ำมันหรือสารเคมีต่างๆ จากเรือลงสู่แหล่งน้ำ

มาตรการสั่งการและควบคุมเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำ

เครื่องมือในส่วนมาตรการสั่งการและควบคุมเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำส่วนใหญ่มาจากกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 20 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางน้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงต่างๆ อย่างน้อย 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม โดยตัวอย่างของกฎหมายดังกล่าว ได้แก่

1. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขที่สำคัญ ได้แก่

  1. การกำหนดมาตรฐานคุณภาพของน้ำทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ รวมไปถึงน้ำทะเลชายฝั่งและพื้นที่ปากแม่น้ำ
  2. การกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิดสำหรับควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน
  3. หน้าที่ของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ ต้องควบคุมการระบายน้ำเสียหรือของเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด และต้องก่อสร้าง ติดตั้ง หรือจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียของตนเองตามที่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษกำหนดตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง และต้องจัดเก็บสถิติผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียหรือของเสียส่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วย หรือถ้าไม่มีระบบบำบัดต้องจัดส่งน้ำเสียหรือของเสียจากแหล่งกำเนิดของตนไปบำบัดโดยเสียค่าบริการตามที่กำหนด
  4. การดำเนินงานและควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียและระบบกำจัดของเสียรวมค่าบริการและค่าปรับ

2. พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 28 ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล มูลฝอย ซากสัตว์ ซากพืช เถ้าถ่าน หรือปล่อยนํ้าเสียลงในทางน้ำชลประทาน จนก่อให้เกิดอันตรายแก่เกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค หรือสุขภาพอนามัย โดยพระราชบัญญัตินี้ได้มีคำสั่งที่ 883/2532 กำหนดมาตรฐานน้ำทิ้งที่จะปล่อยลงสู่ทางน้ำชลประทานหรือทางน้ำที่เชื่อมกับทางน้ำชลประทาน

3. พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 กำหนดให้ห้ามมิให้บุคคลใดเท ทิ้ง หรือระบายสิ่งใดๆ อันเป็นเหตุให้สัตว์น้ำได้รับอันตราย รวมทั้งห้ามมิให้กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ที่จับสัตว์นํ้าเกิดมลพิษ ยกเว้นเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

4. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านนํ้าไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้หิน กรวด ทราย ดิน โคลน สิ่งของ หรือสิ่งปฏิกูลใดๆ เช่น น้ำมัน เคมีภัณฑ์ต่างๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ซึ่งเป็นทางสัฐจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันจะเป็นเหตุให้แหล่งนํ้าตื้นเขิน ตกตะกอน สกปรก หรือเกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อม ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า

5. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อเหตุรำคาญด้วยการทำให้แหล่งนํ้า ทางระบายนํ้า หรือสถานที่อื่นใดสกปรก เกิดกลิ่นเหม็น หรือเกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

6. พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ห้ามเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใดๆ ให้กรวด หิน ดิน ทราย เลน หรือเศษวัสดุก่อสร้างลงในทางนํ้า ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคต่อการระบายนํ้าหรือทำให้ทางนํ้าตื้นเขิน ห้ามเท ปล่อย หรือระบายอุจจาระ หรือปัสสาวะจากอาคาร หรือยานพาหนะลงในนํ้า และห้ามเท หรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย นํ้าโสโครก หรือสิ่งอื่นใดลงในทางนํ้า

7. กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่จะสร้างขึ้นใหม่ ต้องมีการจัดให้มีทางระบายนํ้าทิ้งและระบบบำบัดนํ้าเสียให้ได้ ตามมาตรฐานคุณภาพนํ้าทิ้งจากอาคาร ตามประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

8. พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 62 กำหนดห้ามมิให้ทำเหมืองใกล้ทางน้ำสาธารณะภายในระยะห้าสิบเมตรเพื่อป้องกันการรั่วไหลหรือการทิ้งน้ำเสียจากการทำเหมืองลงสู่แหล่งน้ำ มาตร 63 ห้ามมิให้ปิดกั้นทำลายเพื่อให้ทางน้ำสาธารณะเสื่อมประโยชน์ มาตรา 67 กำหนดห้ามมิให้ปล่อยนํ้าขุ่นข้น หรือมูลดินทราย อันเกิดจากการทำเหมืองออกนอกเขตเหมืองแร่ เว้นแต่นํ้านั้นจะมีความขุ่นข้น หรือมูลดินทรายไม่เกินอัตราที่กฎกระทรวงกำหนด และมาตรา 68 บัญญัติว่าแม้นํ้าขุ่นข้นหรือมูลดินทรายที่ปล่อยออกมา จะเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดแล้ว ก็จะต้องมีการจัดการป้องกันมิให้นํ้าขุ่นข้น หรือมูลดินทรายนั้นไปทำให้ทางนํ้าสาธารณะตื้นเขิน หรือเสื่อมประโยชน์แก่การใช้ทางนํ้านั้น

9. พระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ห้ามเท ทิ้งสิ่งใด หรือระบายน้ำ หรือทำให้น้ำโสโครกลงไปในคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ มาตรา 15 ห้ามทิ้งซากสัตว์ ขยะมูลฝอย หรือสิ่งปฏิกูลลงในเขตคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ มาตรา 16 ห้ามซักผ้า ล้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรืออาบน้ำในเขตคลองประปา

10. พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 10 ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยควบคุมการดำเนินงานของผู้ประกอบการ โดยมีหลักเกณฑ์ในการจัดทำระบบระบายน้ำทิ้ง การระบายน้ำทิ้ง และการตรวจสอบค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรม