การนำตนเองเพื่อความสำเร็จในการศึกษา

เนื่องจากการศึกษาในระบบการศีกษาทางไกล เป็นการศึกษาที่ไม่มีชั้นเรียน จึงไม่มีตารางเวลาเรียนที่กำหนดมาจากมหาวิทยาลัย รวมทั้งไม่มีผู้ที่คอยควบคุมกิจกรรมการเรียน ของนักศึกษาอย่างเช่นการศึกษาที่มีชั้นเรียน นักศึกษาจึงต้องรับผิดชอบในการนำตนเองให้ศึกษา จนบรรลุเป้าหมายของตน โดยเป็นผู้กำหนดตารางเรียนและแผนการเรียนเองโดยอิสระ และกำกับตนเองให้ศึกษาตามตารางเวลาเรียนและแผนการเรียนของตนเองอย่างต่อเนื่อง
การนำตนเองเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการศึกษาหรือบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางต่อไปนี้
3.1 จัดสรรเวลาที่จะใช้ในการศึกษา
3.2 ทำตารางเวลาเรียน
3.3 วางแผนการศึกษา
3.4 กำกับตนเองอย่างมีระบบ

3.1 จัดสรรเวลาที่จะใช้ในการศึกษา โดยปกติในการศึกษา ๑ ชุดวิชา ควรใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 6-12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การจัดสรรเวลาเพื่อใช้ในการศึกษาด้วยตนเอง ทำได้ดังนี้
  1. สำรวจกิจกรรมประจำวันในรอบสัปดาห์ว่าในช่วงเวลาใด ทำกิจกรรมใดบ้าง
  2. เรียงลำดับความสำคัญของกิจกรรมแต่ละวัน ทุกกิจกรรม
  3. พิจารณาช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมที่มีความสำคัญน้อยที่สุด เพื่อเปลี่ยนเป็นเวลาสำหรับใช้ในการศึกษาด้วยตนเอง โดยจัดให้มีจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้เพียงพอต่อการศึกษาชุดวิชา
3.2 ทำตารางเวลาเรียน เป็นตารางเรียนประจำสัปดาห์ที่จะใช้ตลอดภาคการศึกษา เพื่อเป็นการระบุว่าจะศึกษาชุดวิชาที่ลงทะเบียนในวันและช่วงเวลาในสัปดาห์ ตัวอย่าง เช่น
  • ชุดวิชา ก ศึกษาวันจันทร์ และวันพุธ เวลา 22.00-24.00 น.
  • ชุดวิชา ข ศึกษาวันอังคาร และวันพฤหัสบดี เวลา 21.00-23.00 น.
ทั้งนี้ นักศึกษาควรกำหนดช่วงเวลาในการศึกษาชุดวิชา แต่ละครั้ง ไม่ควรต่ำกว่า 1 ชั่วโมง
3.3 วางแผนการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาทราบว่า ตลอดภาคการศึกษา จะต้องทำกิจกรรมการศึกษาอะไรบ้าง โดยเริ่มตั้งแต่เปิดภาคการศึกษาจนถึงสอบไล่ ซึ่งมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
  • กำหนดช่วงเวลาเริ่มต้นของแผน ตั้งแต่สัปดาห์แรกของภาคการศึกษา(หรือ 1 สัปดาห์ก่อนเปิดภาคการศึกษาใดก็ได้) และสิ้นสุดแผนเมื่อ สัปดาห์สุดท้ายที่มีการสอบไล่ประจำภาค(หรืออาจกำหนดสิ้นสุดในสัปดาห์ที่มีการสอบซ่อมได้) โดยดูจากปฏิทินการศึกษา และแบ่งช่วงเวลาออกเป็นสัปดาห์ เขียนเป็นตารางไว้
  • แบ่งระยะเวลาของแผนออกเป็นระยะอย่างน้อย 2 ระยะ คือระยะศึกษา และระยะทบทวนเพื่อเตรียมสอบ นักศึกษาอาจเพิ่มระยะได้ตามความเหมาะสม เช่น เพิ่มระยะเตรียมการ เพื่อจัดเตรียมสถานที่อุปกรณ์การเรียนให้พร้อมก่อน
  • กำหนดกิจกรรมการศึกษาแต่ละชุดวิชาที่ลงทะเบียนเรียนลงในแผน เช่น ชุดวิชา ก ระยะศึกษา สัปดาห์ที่ 1 ศึกษาหน่วยที่ 1,สัปดาห์ที่ 2 ศึกษาหน่วยที่ 2,....,สัปดาห์ที่ 6 ศึกษาหน่วยที่ 6,และไปเข้ารับการสอนเสริมที่......., เป็นต้น ระยะทบทวน สัปดาห์ที่ 16,17 ทบทวนเอกสารการสอนเพื่อเตรียมสอบ
  • เขียนแผนไว้ในรูปของตารางหรือชาร์ท เพื่อให้เห็นกิจกรรมได้ชัดเจน และเพื่อสะดวกในการติดตามและประเมินตนเอง
3.4 กำกับตนเองอย่างมีระบบ นักศึกษาสามารถกำกับตนเองได้อย่างมีระบบ ขั้นตอนในการเรียนแต่ละครั้ง ให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยสามารถปฏิบัติ ดังนี้
  • กำหนดเป้าหมายในการเรียนแต่ละครั้งเช่น ต้องการเรียนรู้อะไรบ้าง ต้องการบรรลุผลอะไรบ้าง ใช้เวลายาวนานเท่าใด โดยดูจากวัตถุประสงค์ในแผนการสอนเป็นหลัก และให้สอดคล้องกับแผนที่กำหนดไว้ในแต่ละสัปดาห์
  • ปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ คือ ศึกษาจากเอกสารการสอนหรือสื่อต่างๆตามที่กำหนดไว้ในแผน และมุ่งศึกษาเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการเรียนที่ตั้งไว้ให้ได้
  • บันทึกผลการการปฏิบัติของตนเองไว้ เช่น บันทึกเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการเรียนในแต่ละครั้ง บันทึกปริมาณเนื้อหาที่ได้อ่านในแต่ละครั้ง เป็นต้น
  • ประเมินตนเอง โดยพิจารณาว่าได้ปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ และสามารถศึกษาได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ ในปริมาณมากน้อยเพียงใด
  • จูงใจตนเอง เพื่อเป็นการกระตุ้นความคิด ความรู้สึก และการปฏิบัติของตนเอง ซึ่งสามารถปฏิบัติได้หลายวิธี เช่น ทำสัญญาณเตือน เช่น
ทำตารางเรียนที่สามารถมองเห็นได้ชัด ป้ายคำขวัญ คติเตือนใจ
สร้างความตระหนัก เช่น คิดว่า หากไม่เรียนตามแผนจะเกิดผลเสียอะไรแก่ตนเองในอนาคต และหากเรียนจะมีผลดีอะไรแก่ตนเองในอนาคต
สร้างความเชื่อมั่น เช่น ตนเองสามารถเรียนรู้แต่ละเรื่องได้
สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง ที่ตนเองสามารถปฏิบัติได้ตามเป้าหมายหรือแผน ที่วางไว้
ให้รางวัลแก่ตนเองเป็นครั้งคราวตามสมควร เมื่อสามารถปฏิบัติได้ตามแผนที่กำหนดไว้
ตำหนิตนเอง หากไม่ศึกษาเอกสารการสอนตามแผนที่กำหนด
ทำกราฟหรือแผนภูมิแสดงความก้าวหน้าในการศึกษาแต่ละสัปดาห์
วิธีอื่นๆ ที่ใช้จูงใจตนเองได้

แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา มสธ.
ฝ่ายแนะแนวการศึกษา indexback