ขอเขียนให้ข้อมูลแด่บรรดาแม่ ๆ ตั้งครรภ์ และคนที่จะซื้อของเยี่ยมคุณแม่คลอดบุตรสักหน่อย ก็เขียนจากประสบการณ์จริงของข้าพเจ้าและการค้นคว้าจากตำราและ รวบรวมจากบรรดาแม่ ๆ ที่เขียนโพสท์ในกระทู้พันทิปห้องชานเรือน คนโบราณบอกกล่าวว่าอย่าเพิ่งซื้อของก่อนคลอด ก็ด้วยเหตุว่าจะเสียเงินเสียทองหากแท้งไปเสียก่อน ปัจจุบันการแพทย์ดีขึ้นถ้าประคับประคองการตั้งครรภ์จนถึงเดือนที่ ๗ ได้โดยทั่วไปบุตรในครรภ์มีแนวโน้มสูงที่ทารกในครรภ์จะรอดชีวิต การเตรียมสิ่งของพร้อมใช้จะทำให้ไม่ฉุกละหุก ไม่ต้องกังวลด้วยเพราะช่วงคลอดและหลังคลอดใหม่ ๆ จะต้อง ปรับตัวกับรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้นบรรดามารดาทั้งหลายยังรู้สึกเจ็บแผล รวมถึงเหนื่อยกับการให้นมบุตร เปลี่ยนผ้าอ้อมเจ้าตัวน้อยอีกด้วย ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการซื้อของสำหรับบุตรก็คือเมื่อทารกในครรภ์มีอายุประมาณ ๓๒ สัปดาห์
ในยุคที่เศรษฐกิจบีบคั้นเฉกเช่นปัจจุบัน สำหรับคุณแม่ชนชั้นกลาง รายได้พอมีพอใช้ไม่ได้ร่ำรวยอะไร จึงจำเป็นต้องเลือกซื้อของใช้ให้หนูน้อยเท่าที่จำเป็น พวกเราลองมา สำรวจดูว่าต้องใช้อะไรกันบ้าง เมื่อเด็กน้อยลืมตาดูโลก เรื่องแรกที่สำคัญมากคือการดูดนมแม่เพื่อให้ได้สารอาหารเข้าร่างกายและเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายแม่ผลิตน้ำนมให้ลูกน้อย ถ้าแม่ไม่ได้เจ็บป่วย อะไรหรือมีน้ำนมไม่พอให้บุตร การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่งผลให้ลูกสุขภาพดีแถมจะประหยัดค่านมผงถึงประมาณ ๒ หมื่นกว่าบาทได้ แม่ให้นมบุตรจะต้องเตรียมผ้าคลุมให้นม ข้าพเจ้าขอแนะนำว่าเสื้อคลุมอาบน้ำหากใช้ที่บ้านก็สะดวกดี ประหยัดไม่ต้องเสียสตางค์เพิ่ม เพื่อเป็นการออมแรงตัวเองก็ใช้ หมอนรองให้นมบุตร เครื่องปั๊มน้ำนมก็มีความจำเป็นเพราะเป็น การกระตุ้นให้มารดาผลิตน้ำนมให้พอแก่บุตรและยังช่วยเก็บน้ำนมแม่ไว้ให้ลูกกินเวลาติดธุระหรือต้องกลับไป ทำงาน จะใช้แบบมือโยกหรือแบบไฟฟ้าก็ได้ หากอยากประหยัดจะบีบน้ำนมด้วยมือของแม่เองก็ได้ แต่ถ้ายังต้องไปหารายได้หลังลาคลอดซื้อเครื่องปั๊มนมจะดีกว่า เครื่องปั๊มนม ไฟฟ้ามีแบบปั๊มเต้าข้างเดียวและสองข้าง แบบสองข้างประหยัดเวลามากแต่ราคาแพงจริง ๆ ก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ครอบครัวก็แล้วกัน เมื่อปั๊มเสร็จแล้วก็จะต้องเก็บใส่ถุงเก็บน้ำนม หรือขวดเก็บน้ำนมใว้ ขอแนะนำใช้ถุงเก็บน้ำนมจะประหยัดพื้นที่ในตู้เย็นมากกว่า เมื่อปั๊มนมเสร็จแล้วก็ต้องเขียนวันที่ และเวลาไว้ด้วย ก่อนคลอดบุตรควรทำความสะอาดตู้เย็น โดยเฉพาะช่องแช่แข็ง เตรียมไว้เก็บน้ำนมแม่ หลังจากปั๊มเสร็จก็ไปทำความสะอาดเครื่องปั๊ม ก็ต้องมีน้ำยาล้างขวดนม แปรงล้างขวดนม กะละมังหรือถังน้ำไว้ล้างขวดนม เมื่อ ล้างเสร็จแล้วก็ต้องใช้เครื่องนึ่งขวดนม ถ้ามีเวลาอาจจะไม่ซื้อแบบที่เป็นเครื่องอบแห้งในตัว แต่ข้าพเจ้าใช้แบบนึ่งเสร็จแล้วอบแห้งเลยก็เน้นความสะดวกประหยัดเวลาและแรง เวลาจะใช้น้ำนมที่แช่แข็งก็ต้องเอามาละลายในน้ำอุ่น ห้ามใช้น้ำร้อนหรือเตาอบไมโครเวฟเพราะจะทำให้สารอาหารสำคัญมลายไป แล้วก็เทใส่ขวดนม เด็กแรกเกิดกินไม่มาก ขวด ๒ ออนซ์ ก็พอ แต่ถ้าคิดว่าซื้อเผื่อโต ๔ ออนซ์ ก็ได้ เวลาโตขึ้นค่อยซื้อขวดขนาดอื่นเพิ่ม ควรเลือกขวดนมแบบ BPA Free เพราะว่ามีการวิจัยเรื่องโทษของ BPA ในทารก หลังจากกินเสร็จก็ต้องทำความสะอาดช่องปากกันหน่อยอาจใช้ผ้าก็อซ หรือ ผ้าอ้อมพันปลายนิ้ว เช็ดในช่องปากและลิ้น บางคนอาจให้ดูดน้ำนิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อเป็นการล้าง ปาก แพทย์บางท่านบอกว่าการให้นมแม่ในช่วง ๓ เดือนแรกไม่จำเป็นต้องให้น้ำ เพราะนมแม่มีน้ำพออยู่แล้ว ส่วนเด็กทารกที่มีอาการสะอึกนั้นแม้ให้ดื่มน้ำก็ไม่ช่วยอะไรเพราะ เป็นเรื่องของการที่ลูกดูดนมเร็วกระเพาะอาหารมีการขยายตัวหลังจากการดื่มนมเข้าไป เรื่องสำคัญมากของการสะอึกคืออย่าแก้ปัญหาแบบเดียวที่ทำกับผู้ใหญ่ จงให้ลูกดูดนมแม่ แทน และอุ้มพาดบ่าให้เรอ เมื่อลูกกินนมเสร็จแล้วก็ทำความสะอาดเต้านมด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุกและท่านอาจจะหาครีมทาหัวนมมาทาก็ได้ โปรดอ่านฉลากก่อนซื้อและก่อนใช้ให้ดี เวลาที่แม่ไม่ได้ให้นมบุตรน้ำนมอาจไหลจึงจำเป็นต้องมีแผ่นซับน้ำนมเอาไว้ด้วย
ถัดจากเรื่องกินก็ต้องเป็นเรื่องขับถ่าย การใช้กระดาษเปียกสำหรับทำความสะอาดก้นเด็กควรเลือกแบบไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ สำลีชุบน้ำต้มสุก ควรมีกล่องหรือกระปุกหรือ ขวดเก็บสำลี หากซื้อสำลีม้วนแล้วนำมาฉีกปั้นก้อนกลม ๆ เองก็ประหยัดดี แม่ ๆ ที่รอคลอดอาจจะฉีกสำลีม้วนปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เล็ก เป็นงานอดิเรกฆ่าเวลา เพราะหากทำตอน ลูกอยู่ด้วย สำลีมันจะคลุ้งแล้วก็ปลิวว่อนไม่ดีต่อระบบหายใจของลูก การใช้ผ้าอ้อมสาลูจะระบายอากาศดี และซื้อเข็มกลัดของเด็กมาด้วย เด็กจะไม่ค่อยเป็นผื่นผ้าอ้อม ขนาดผ้าอ้อมไม่ควรต่ำกว่า ๒๗ X ๒๗ นิ้ว ควรมีติดไว้สัก ๓ โหล ควรซัก สักสองถึงสามรอบก่อนใช้ ถ้ามีเวลาว่างไม่เยอะไม่มีคนช่วยดูแลมากนัก อาจจะใช้ผ้าอ้อมสาลูตอนกลางวันและใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตอนกลางคืน (จากการสำรวจทางกระทู้ของ พันทิปห้องชานเรือนพบว่าแม่ ๆ ทั้งหลายอยากได้ของเยี่ยมเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูปมากที่สุด ข้าพเจ้าทดลองคำนวณดูจึงทราบว่าราคาผ้าอ้อมสำเร็จรูปต่อตกชิ้นละเกือบ ๘ บาท) ถ้า เป็นเด็กแรกเกิดให้ซื้อแบบ new born ซึ่งจะมีรอยเว้าตรงสะดือ สายสะดือจะหลุดภายในหนึ่งถึงสองสัปดาห์ จึงไม่ต้องซื้อมามากนัก ถ้าจะซื้อเยอะหน่อยก็ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบ เทปกาวไซส์ S ความเห็นส่วนตัวคิดว่ากางเกงผ้าอ้อมสำเร็จรูปใส่ยากกว่า บางคนอาจใช้กางเกงผ้าอ้อมแบบผ้าแล้วก็มีแผ่นรองซับอีก ซึ่งก็ประหยัดค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปไปได้แต่ตัว ข้าพเจ้าเองยังไม่เคยซื้อมาใช้ การป้องกันผื่นผ้าอ้อมให้ใช้ ปิโตรเลียมเจลลี คนไทยรู้จักในนาม วาสลีน แต่ วาสลีน เป็นชื่อยี่ห้อของโลชั่นและปิโตรเลียมเจลลี่ ตอนซื้อไม่ว่าจะยี่ห้อไหนก็โปรดเลือกที่ เป็นปิโตรเลียมเจลลี เอาไว้ทากันผื่นผ้าอ้อม รอยแดงบริเวณรูทวารของเด็ก เวลาทาก็ต้อง ใช้สำลีพันปลายไม้ทารอบ ๆ บริเวณ รูทวาร ควรมีถังขยะมีฝาปิด ถุงพลาสติกใส่ขยะ ถังใส่ผ้าอ้อมเปื้อนอุจจาระ ๑ ใบ ถังใส่ผ้าอ้อมเปื้อนปัสสาวะ ๑ใบ ตระกร้าใส่ผ้าซักแล้ว กะละมังหรือถังซักเสื้อผ้าเด็ก ไม้แขวนเสื้อ และไม้หนีบผ้า การสระผมอาบน้ำและการซักผ้า ก็จะใช้สบู่เด็ก ยาสระผมสำหรับเด็ก น้ำยาซักผ้าของเด็กอ่อน ไม่ควรซื้อมาปริมาณมากในคราวแรกเนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่าลูกจะแพ้ หรือไม่ แต่หากมั่นใจแล้วว่าเจ้าตัวเล็กไม่แพ้แน่ ๆ ซื้อปริมาณมากในคราวเดียวถูกกว่า ข้าพเจ้าไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มเลยเพราะมีเด็กทารกหลายคนที่แพ้น้ำยาเหล่านี้ ความเป็น จริงประการหนึ่งคือพวกน้ำยาเหล่านี้มักจะได้จากคนมาเยี่ยมพอสมควรหรือมากเกินไปจนต้องหาทางบริจาคออกไปด้วยซ้ำ ส่วนเรื่องอ่างอาบน้ำเด็กท่านจะใช้กาละมังพลาสติก แทนก็ยังได้เลย ถ้าห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูกขณะอาบน้ำจะซื้อเป็นเก้าอี้อาบน้ำเด็กร่วมด้วยก็ได้ อาบเสร็จก็ต้องใช้ผ้าเช็ดตัว แล้วก็ห่อตัวเด็กทารกด้วยผ้าห่อตัวนั้นไม่จำเป็น ต้องใช้ผืนหนามากเวลาห่อตัวหลังอาบน้ำแต่ผ้าห่อตัวผืนหนาควรเก็บไว้ห่อตัวลูกเวลาไปโรงพยาบาล การแต่งกายของบุตร การซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายควรเลือกเสื้อผ้าแบบผ้าฝ้าย ๑๐๐% เสื้อแบบบอดี้สูทนั้นใส่ยากและอากาศบ้านเราร้อนจึงไม่เหมาะเท่าไหร่ เสื้อผูกป้าย หน้ากับป้ายหลัง ป้ายหลังจะเป็นสิ่งที่ใส่ง่ายกว่าและคลุมหน้าอกได้ดีกว่า กางเกงไม่ต้องซื้อไว้เยอะ จากประสบการณ์เดี๋ยวปัสสาวะเดี๋ยวอุจจาระ ถอดเข้าถอดออกจะเปลี่ยนไม่ทัน ลูกน้อยของข้าพเจ้าจะได้ใส่กางเกงในวันที่ฝนตกอากาศเย็นหรือในช่วงฤดูหนาวสั้น ๆ หรือ ต้องเดินทางไปข้างนอก เท่านั้นเอง ส่วนหมวกก็มีไว้แค่ออกนอกบ้าน ในกรณีลูกอายุต่ำ กว่า ๔ เดือน ผ้ากันเปื้อนแบบผ้าจะใช้ในกรณีที่ป้อนนมบุตรด้วยขวดและยังไม่อยากให้เลอะ ถ้าลูกอายุไม่ถึง ๔ เดือนห้ามให้อาหารเสริมเด็ดขาด ต้องระวังที่เพิ่งเป็นข่าวมาไม่ นานนี้เพราะพ่อของเด็กรู้เท่าไม่ถึงการณ์บุตรจึงเสียชีวิต
ถุงมือจำเป็นมาก บางทีลูกจะเอามือป้ายหน้าป้ายตา แล้วเล็บยาวและคมจะไปข่วนใบหน้าและนัยน์ตาได้ ควรเลือกถุงมือคู่ที่ใหญ่สักหน่อย มีพื้นที่ให้ลูกกางมือได้เต็มที่ จากวันแรกที่คลอดเข้าสู่เดือนกว่า ๆ ถุงมือคู่เล็กเอาไม่อยู่ โปรดตรวจสอบว่าการเย็บนั้นดีหรือไม่ ไม่มีด้าย เพราะพี่พยาบาลเล่าให้ฟังว่ามีคนอุ้มลูกมาหาเพราะด้ายในถุงมือมัน พันนิ้วแน่น ถุงเท้าควรเลือกคู่ที่ใส่ง่าย บางคู่ดูดีแต่กว่าจะหล่อจะสวยทรมานตอนใส่ตอนถอดก็แย่ ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนควรมีเสื้อแบบบางเป็นหลัก และมีเสื้อหนาไว้เดินทาง ไปหาหมอหรือเวลาอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ อย่าพาลูกออกจากบ้านจนกว่าลูกจะอายุสองเดือนไปแล้ว แต่ก็เข้าใจแม่เลี้ยงเดี่ยวเหมือนกันว่าลำบากไม่มีคนช่วยเลี้ยงจะทิ้งลูกไว้ก็ไม่ได้ ก็เลย ต้องหอบกันไปแต่มันอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ส่วนตู้เสื้อผ้าเด็กถ้ารู้สึกว่าแพงไปใส่ชั้นวางของพลาสติกแบบมีลิ้นชักก็ได้ เก็บอุปกรณ์ทั้งหมดได้ ลูกเล็บยาวเร็วควรมีกรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็ก การโกนผมไฟเมื่อครบ ๑ เดือนนั้นไม่จำเป็น อันตรายเกินไป ให้ใช้กรรไกรเล็ก ๆ เล็ม ๆ ตัดผม ลูกจะดีกว่า สามารถนำกรรไกรตัดขนจมูกมาใช้ก็ได้เพราะปลายมันงุ้ม ๆ และไม่คมมาก ส่วนเรื่องอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรมีแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคติดเอาไว้ด้วย ทารกมักจะท้องอืดท้องเฟ้ออันเนื่องจากแม่อุ้มลูกให้ดูดนมไม่ถูกท่าและทารกดูดนมผิด วิธีจึงดูดเอาลมเข้าไปด้วย ให้สังเกตว่าท้องแข็งให้ใช้มหาหิงคุ์ทาที่ท้องและฝ่าเท้า หรือ ใช้ยาชื่อ แอร์เอ็กซ์เบบี้หยดเข้าที่ปากลูก ๐.๓ มิลลิกรัม เมื่อทารกได้รับวัคซีนอาจมีไข้ ได้ ๑-๒ วัน จึงควรมีปรอทวัดไข้ด้วย อุณหภูมิปกติของทารกอยู่ที่ประมาณ ๓๖-๓๗.๕ องศาเซลเซียส ถ้าไข้สูงเท่ากับหรือสูงกว่า ๓๙ องศา ให้เช็ดตัวลูกด้วยน้ำอุณหภูมิห้องแล้ว พาไปพบกุมารแพทย์ทันที การนอนของลูกน้อย อาจให้นอนบนเบาะหรือเปลหรือเตียงก็ได้ แต่เบาะที่ใช้ต้องแข็งหน่อย ถ้าจะซื้อเตียงแล้วก็ควรซื้อเบาะจากที่เดียวกัน เคยไปซื้อเตียงที่นึงแล้วกะว่าจะ ไปซื้อเบาะอีกที่นึง ขนาดมันไม่พอดี แทนที่จะถูกกลายเป็นเสียค่าน้ำมันรถเพิ่ม เสียเวลาเพิ่ม เบาะที่นิ่มมันจะยุบตัวและอาจอุดจมูกลูกได้ ผ้าคลุมเบาะ แล้วก็มีผ้ายางกันปัสสาวะ อุจจาระกันเลอะเทอะ ควรมีไว้สัก ๓ ผืน ผ้าห่มก็ควรมีติดไว้ หมอนและหมอนข้างสำหรับทารกนั้นไม่มีความจำเป็นเลย บางโรงพยาบาลจะไม่แนะนำให้ใช้เพราะกลัวจะไปอุดจมูก เจ้าตัวเล็กได้ แต่ถ้าจะใช้ก็มีหมอนหลุมวางศรีษะเด็ก พ่อแม่บางรายอาจเห็นว่าตุ๊กตาน่ารักมาก หมอนข้างก็น่ากอด ซื้อมาใส่เต็มเตียงลูก หารู้ไม่ว่านำภัยมาสู่ลูกน้อยของเขา อาจ ทำให้เด็กเป็นภูมิแพ้ ขนต่าง ๆ อาจไปอุดจมูก บางทีลูกหลับนอนกลิ้งไปกลิ้งมาอุดจมูก ลูกยังเล็กจะทำอะไรก็ไม่ได้ พ่อแม่ก็ยังไม่ตื่น ไม่ได้ยินเสียงร้องของลูก ก็จะเสียใจน้ำตาตก กันไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากอยากให้ลูกมีพัฒนาการหาโมบายแขวนสีสดใสสีตัดกันมาแขวนไว้เหนือเตียงจะดีกว่าเอาตุ๊กตามาวางบนเตียง เป้อุ้มเด็ก รถเข็นเด็กและคาร์ซีท หากท่านต้องเดินทางไกลเพื่อความปลอดภัยจะซื้อมาใช้ก็ได้ แต่เด็กเล็ก ๆ ไม่ถึง ๒เดือนไม่ควรเดินทางไกล การซื้อเป้อุ้มเด็กควรตรวจ สอบว่าเหมาะแก่อายุเด็กน้อยหรือไม่ ก่อนและขณะใช้ต้องตรวจสอบความปลอดภัยให้เรียบร้อย เพราะเด็กน้อยมีค่ามากเกินกว่าที่จะละเลยความใส่ใจเท่าที่รวบรวมมาก็น่าจะ เพียงพอต่อการมีสมาชิกใหม่แล้ว เพื่อเป็นการตอบแทนท่านผู้อ่านเลยขอร่วมส่งคำถามมาร่วมสนุกสัก ๒ ข้อ ดังนี้ ๑. คุณแม่มีอายุครรภ์เท่าใดจึงควรซื้อของเตรียมไว้ให้บุตร ๒. จากบทความนี้ผู้เขียนได้รวบรวมของที่จำเป็นต้องใช้สำหรับเด็กทารกแรกเกิดถึงอายุสามเดือนไว้กี่รายการ(โปรดนับจากแถบเน้นข้อความ (highlight) เอาไว้) เอกสารอ้างอิง ........................................................................................................................... - กรมอนามัยโดยกองอนามัยการเจริญพันธุ์และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ. (2554) คู่มือมารดาหลังคลอดและ การดูแลทารกสำหรับคุณแม่. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข. - เฟนวิก, เอลิซาเบท. (2540) คู่มือคุณแม่ฉบับสมบูรณ์ ห่วงใยคุณแม่ดูแลลูกน้อย. กทม.: ซีเอ็ด. กระทู้พันทิปชานเรือน |