ปฏิมากรรมพระไม้แกะสลักของชาวล้านนา...ศรัทธาผ่านงานศิลป์
โดย...นายจารุวัตร  กลิ่นอยู่
ผู้อำนวยการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งผาสุข จังหวัดพะเยา
อีเมล์ : klinyoo@yahoo.com

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)


          พระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ หรือพระเจ้าไม้(ภาษาถิ่นชาวล้านนา))  รูปองค์พระปฎิมากรที่สลักจากไม้ให้เป็นพระพุทธรูป   ซึ่งพระพุทธรูปประเภทนี้มีหลากหลายพุทธลักษณะและ
หลายขนาดมีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นงานพุทธศิลป์นิยมกันในอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นปฏิมากรรมลักษณะในรูปแบบของประณีตศิลป์   สร้างสรรค์ผลงานด้วยความละเอียดอ่อนสะท้อน
สภาพสังคมได้สร้างสรรค์งานให้กลมกลืนกับความเชื่อจารีตประเพณี และวัฒนธรรม   ทั้งรูปแบบลวดลายรวมถึงความเชื่อและแรงศรัทธาทางศาสนาพุทธสามารถสืบทอดศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอด
มาจากบรรพบุรุษและภูมิปัญญาท้องถิ่น  มีเอกลักษณ์และมีคุณค่าควรแก่การภาคภูมิใจสำหรับชาวล้านนาเอง  งานแกะสลักพระพุทธรูปจากไม้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมล้านนา


พระประธานแกะสลักจากไม้สักทอง ศิลปไทยใหญ่
วัดนันตาราม อ.เชียงคำ จ.พะเยา
ข้อมูลภาพ ณ วันที่
28-7-59


ความเชื่อและพิธีกรรมการแกะสลักไม้เป็นพระพุทธรูป
ประการแรก        คุณสมบัติของช่างผู้แกะสลักต้องเป็นคนดีไม่ผิดศีลร้ายแรง ปฏิบัติตนอยู่ในศีลห้า
ประการที่สอง     ช่างผู้แกะสลักพระพุทธรูปจากไม้ต้องบวชเรียนปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ประการที่สาม     ก่อนที่จะแกะสลักไม้พระพุทธรูปจากไม้  ช่างผู้แกะสลักต้องถือศีลห้าอย่างเคร่งครัด เป็นเวลาก่อนล่วงหน้าหนึ่งเดือน และในขณะแกะสลักพระพุทธรูปจนเสร็จสิ้น
ประการที่สี่         ต้องทําพิธีทางศาสนา และจัดปรัมพิธีขอพรจากสวรรค์เทพเทวดา เพื่อขออนุญาต ในการแกะสลักไม้เป็นพระพุทธรูปต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์   และขอพรให้สร้างสรรค์ งานแกะสลักได้
                           อย่างเรียบร้อยเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์
ประการที่ห้า       เมื่อแกะสลักพระพุทธรูปเสร็จสิ้นแล้ว ต้องทําพิธีทางศาสนาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการขอบพระคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองปกปักษ์รักษาให้ทํางานได้อย่างราบรื่น


ภาพพระยิ้ม..แกะสลักจากไม้ศิลปไทลื้อ
ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช วัดแสนเมืองมา อ.เชียงคำ จ.พะเยา

ข้อมูลภาพ ณ วันที่
28-7-59

ไม้ที่นิยมใช้แกะสลักเป็นพระพุทธรูป
        ไม้ที่ใช้แกะสลักเป็นพระพุทธรูปนิยมใช้ไม้ที่ถือกันว่าเป็นไม้มงคล ดังคำจารึกที่ฐานพระเจ้าไม้องค์หนึ่งที่วัดบ้านเปียง ตำบลบ้านแม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม้หนุน(ขนุน)
ไม้ทัน (พุทรา) ไม้รัก ไม้ทึง (ไม้พลวง) ไม้สา ไม้ส้มสุก (โศก อโศก) ไม้จันทน์
(อ่าน “สะหลี”) หรือไม้ศรี หรือไม้โพ คือต้นโพธิ์  นอกจากนี้ไม้ชนิดที่นิยมแกะสลักพระพุทธรูปมีอีกมาก อาทิ
ไม้แก้ว (พิกุล) ไม้จำปา ไม้จำปี  ไม้เดื่อปล่อง  ไม้เดื่อเกลี้ยง  ไม้ประดู่  ไม้แดง ไม้ซ้อ ไม้สัก   ไม้สะเหลียมหรือไม้สะเดา  ไม้แก่นจันทน์หรือไม้จันทน์หอม ไม้ไผ่ ตามคติความเชื่อเกี่ยวกับไม้
ที่นำมาสร้างพระพุทธเจ้าอาจเนื่องมาจากเชื่อเรื่องโพธิพฤกษ์หรือไม้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ประทับใต้ร่มไม้นั้นๆ เพื่อตรัสรู้....

อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปจากการแกะสลักไม้
“          “อานิสงส์”” ซึ่งหมายถึงผลแห่งกุศลกรรม หรือประโยชน์อันจะได้รับจากการได้ทำบุญหรือได้สร้างประโยชน์ไว้ ชาวล้านนามีความเชื่อว่าการทำบุญทำกุศลอันมีเจตนาบริสุทธิ์ย่อมจะได้รับผล
แห่งบุญนั้นตอบแทน   ส่วนคติการสร้างพระพุทธรูปไม้ล้านนาจะมีกรอบแนวคิดเดียวกันทั้งหมด คือ ค้ำชูศาสนาตราบ ห้าพันปี  เป็นที่ไหว้บูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย  อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่
ญาติหรือสัตว์ที่ล่วงลับ      เพื่อแก้คำบนบานสานกล่าว  และสร้างเป็นพระเจ้าชะตา(การสะเดาะเคราะห์)   เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้สร้างเอง เพื่อความสุขสามประการ สุขบนโลกมนุษย์ โลกสวรรค์
โลกพระนิพาน ปรารถนาไปเกิดเป็นพระอรหันต์ในยุคพระศรี-อาริย์   ปรารถนาไปเกิดบนสวรรค์ชั้นฟ้า   ปรารถนาให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ  และปรารถนามีปัญญา..  ผสมผสานความเชื่อเรื่องของ
อานิสงส์มากมายนานัปการที่พุทธศาสนิกชน เชื่อว่าถ้าได้สร้างถวายให้กับพระพุทธศาสนาแล้ว        กุศลผลบุญที่ได้กระทำไว้ในชาตินี้จักน้อมนำผู้คนเหล่านี้มีความสุขทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติ
ต่อๆไป ดังจารึกฐานพระเจ้าไม้ได้กล่าวว่า “สุขที่เมืองมนุษย์สุขที่เมืองสวรรค์และสุขแห่งพระนิพาน” เทอญ สำหรับอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปไม้มิได้แยกแยะตามชนิดของไม้

วัดวังถ้ำใหม่ ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา
ข้อมูลภาพ ณ วันที่
28-7-59

          การสร้างพระพุทธรูปจากการแกะสลักไม้  เป็นผลงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ของชาวล้านนา ที่การแกะสลักพระพุทธรูปจากไม้เป็นการสร้างสรรค์งานศิลป์ ถือเป็นของสูงที่ผู้คนให้ความ
เคารพกราบไหว้เพื่อตอบสนองความเชื่อความศรัทธาเป็นพุทธบูชาสําหรับศาสนาพุทธ   ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันอย่างแพร่หลาย อีกนัยหนึ่งถือเป็นการทําบุญที่ยิ่งใหญ่

 


เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

เนาวรัตน์ ฐิติชาญชัยกุล. (2555). ภูมิปัญญาศิลปหัตถกรรมการแกะสลักไม้ : กรณีศึกษาสหกรณ์หัตถกรรม
            ผลิตภัณฑ์ไม้สันปาตอง อําเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ศิรพงศ์ ศักดิ์สิทธิ์. (2545). คติการสร้างพระพุทธรูปไม้ในล้านนา  มหาวิทยาลัยศิลปากร.
http://www.bl.msu.ac.th/bailan/sarakham/histrory/pramai.asp
http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/4_4.pdf