ภูมิปัญญาไทย : องค์ความรู้ที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมไทย
โดย...นายประภัสสร  ทองยินดี
อาชีพ อาจารย์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม
อีเมล์ : chichi115@hotmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)


          ภูมิปัญญา เป็นองค์ความรู้ ทักษะต่าง ๆ และประสบการณ์ของมนุษย์ ผ่านการลองผิดลองถูก เป็นสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต โดยผ่านกระบวนการศึกษา สังเกต คิดวิเคราะห์
จนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้เประโยชน์ได้ โดยในแต่ละสังคม แต่ละชุมชนจะมีภูมิปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น
รวมไปถึงประเทศชาติ

ภาพจาก Web Site
http://tkpp.myreadyweb.com/news/topic-70515.html
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 18-5-58

ประเภทของภูมิปัญญา
          1. ภูมิปัญญาระดับชาติ เป็นองค์ความรู้ ทักษะและความสามารถต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและช่วยให้ชาติผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ช่วยแก้ปัญหาในการดำรงชีวิต
ในสังคมของคนส่วนใหญ่ รวมถึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคม เช่น การกอบกู้เอกราชและการช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกในยุคล่าอาณา
นิคมของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต
          2. ภูมิปัญญาระดับท้องถิ่น เป็นองค์ความรู้ ทักษะและความสามารถต่าง ๆของประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ภูมิปัญญาในระดับท้องถิ่นมีส่วนคล้ายกันและแตก
ต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่นซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาหรืออำนวยความสะดวกในการดำนินชีวิตประจำวันของประชาชนใน ท้องถิ่น ๆ นั้น เช่น การอนุรักษ์
ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ เป็นต้น

ลักษณะของภูมิปัญญาไทย มีดังนี้
          1 . ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเป็นความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรม
          2 . ภูมิปัญญาไทยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
          3 . ภูมิปัญญาไทยเป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิตของมนุษย์
          4 . ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว รวมถึงการเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม
          5 . ภูมิปัญญาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญในการมองชีวิต เป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ
          6 . ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเฉพาะ หรือมีเอกลักษณ์เป็นตัวเอง
          7 . ภูมิปัญญาไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อปรับสมดุลตามพัฒนาการทางสังคม

ภาพจาก Web Site
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=23&chap=1&page=picture_detail23_1.html#l23-2
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 18-5-58

ความสำคัญของภูมิปัญญาไทย
          1. สร้างความภาคภูมิใจและเกียรติภูมิแก่คนไทย คนไทยในอดีตมีความสามารถเป็นที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มากมาย และถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ
เช่น คนไทยมีอักษรเป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และพัฒนาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน วรรณกรรมไทยมีความไพเราะ เป็นที่ยอมรับทั้งใน
ประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงภูมิปัญญาไทยด้านอาหารที่มีรสชาติอร่อยเป็นที่ถูกใจของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และสามารถป้องกันโรคได้ด้วย เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า
เป็นต้น ภูมิปัญญาไทยที่มีชื่อเสียงยังมีอีกมากมายไม่สามารถยกมากล่าวได้หมด นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น
          2. ช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น พระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้ภูมิปัญญาสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงปกครองประชาชน
ด้วยความเมตตา แบบพ่อปกครองลูก ผู้ใดประสบความเดือดร้อนสามารถตีระฆังเพื่อขอความช่วยเหลือ พระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงใช้ถภูมิปัญญาของพระองค์เองในการ
ทรงกระทำยุทธหัตถีจนชนะข้าศึก ทำให้สามารถประกาศอิสรภาพชนะข้าศึกศัตรูได้
          3. สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคมและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ภูมิปัญญาไทยมีความเด่นชัดในเรื่องของการยอมรับนับถือ และให้ความสำคัญแก่คน สังคม
และธรรมชาติ เช่น ในการรักษาป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ได้ประยุกต์ให้มีประเพณีการบวชป่า เพื่อให้คนเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพ
แวดล้อม ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่คู่กับท้องถิ่น
          4. ช่วยเปลี่ยนแปลงปรับวิถีชีวิตของคนไทยให้เหมาะสมได้ตามยุคสมัย แม้ว่าความรู้สมัยใหม่ จะหลั่งไหลเข้ามามากมาย แต่ภูมิปัญญาไทย ก็สามารถปรับเปลี่ยน
ให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น การรู้จักนำเครื่องยนต์มาติดตั้งกับเรือ ใส่ใบพัด เป็นหางเสือ ทำให้เรือสามารถแล่นได้เร็วขึ้น เรียกว่า เรือหางยาว การรู้จักทำการเกษตรแบบ
ผสมผสาน สามารถฟื้นฟูธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์เพื่อทดแทนสภาพเดิมที่ถูกทำลายไป
          5. สามารถปรับประยุกต์หลักธรรมคำสอนทางศาสนาใช้กับวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม ในสังคมไทยประกอบไปด้วยบุคคลที่นับถือศาสนาหลากหลาย เช่น
พุทธศาสนา คริสต์ อิสลาม เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่คนไทยนับถือศาสนาพุทธ โดยได้นำหลักธรรมคำสอนของศาสนา มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
ทำให้คนไทยเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความอดทน ให้อภัยแก่ผู้สำนึกผิด ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่คนไทย
นับถือ เป็นการใช้ภูมิปัญญาในการประยุกต์นำเอาหลักธรรมคำสอนของศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
          ตัวอย่างภูมิปัญญา ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การถ่ายทอด ความรู้ดั้งเดิมเพื่อการอนุรักษ์ เช่น การเคารพ
แม่น้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
          ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประชน ตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ป่าชายเลนที่ทอดยาวไปตามชายฝั่งอ่าว
บางขุนไทร ป่าชายเลนกว่า 6,000 ไร่ บริเวณภาคกลางหรือก้นอ่าวไทย ผืนป่าและชายฝั่งทะเลแห่งนี้คือ “แหล่งผลิตหอยแครงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” และอาจกล่าวได้ว่าเป็น
แหล่งเพาะพันธุ์หอยแครงตามธรรมชาติแหล่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ ชาวบ้านในตำบลบางขุนไทรจะเก็บหอยด้วยมือและกระดานถีบ ซึ่งคือตัวแทนเครื่องมือหากินของชาวบ้านที่สะท้อน
ถึงความเคารพและเป็นมิตรกับธรรมชาติ เก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยมือเปล่าไม่ใช้เครื่องจักรใด ๆ และรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด การเก็บหอยด้วยมือเปล่าและกระดานถีบ เป็น
ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ส่งผลทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้อยู่คู่กับท้องถิ่นและสังคมไทย ช่วยให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากร
ธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

ภาพประกอบจากสถานที่จริงโดยผู้เขียน
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 18-5-58


          จากที่ได้กล่าวไปจะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาไทยเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ช่วยอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิตของประชาชน
ในสังคม ดังนั้นเราควรช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาไทย รวมถึงถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติเพื่อให้ภูมิปัญญาไทยอยู่คู่กับสังคมตลอดไป





เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

http://pttinternet.pttplc.com/greenglobe/2544/community-03.html
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=23&chap=1&page=t23-1-infodetail01.html
วิมล จิโรจพันธุ์. 2548. วิถีไทย. กรุงเทพฯ: แสดงดาว.
กฤษณา วงษาสันต์. 2542. วิถีไทย. กรุงเทพฯ: เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น.