ประเพณีสารทเดือนสิบ ธารแห่งน้ำใจที่ยิ่งใหญ่
โดย...คุณพงศกร   พรหมเรืองโชติ
อาชีพ รับราชการครู
ต.อ่าวลึกใต้  อ.อ่าวลึก  จ.กระบี่
อีเมล์ : ppm-mumu@hotmail.com

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)



          ความประณีตแห่งประเพณีแต่ครั้นบรรพกาล ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นกระทั่งปัจจุบัน แต่กระนั้นความงดงามยังคงปรากฏอย่างแจ่มชัดมิเสื่อมคลาย..
          ตราบใดที่ผู้คนยังวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ย่อมมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา เหลือเพียงความทรงจำให้เราระลึกถึงคนรุ่นก่อนที่เราเคารพรัก “เมื่อดวงวิญญาณ
ไปตกอยู่ในที่ทุกข์ ก็ขอให้พ้นออกจากทุกข์” ไม่มีใครสามารถล่วงรู้เลยว่าดวงวิญญาณของบรรพชนจะไปตกที่สุขหรือที่ทุกข์ หากแต่คำกรวดน้ำจะเป็นสิ่งที่อยากให้ดวงวิญญาณของ
บรรพชนไปสู่ภพภูมิที่มีดีและมีความสุข


ข้อมูลภาพ ณ วันที่
3-5-59


          ความเชื่อ ความกลัว เป็นมโนสำนึกภายในจิตใจมนุษย์ที่ก่อเกิดประเพณี ศาสนาในภายหลัง สิ่งที่เรามองไม่เห็นเป็นดวงวิญญาณที่เรียกว่า “ผี” นั่นเอง เมื่อย่างเข้าเทศกาลงาน
บุญเดือนสิบผีบรรพบุรุษที่ผู้คนเชื่อว่าจะมาปรากฏกายบนเมืองมนุษย์คือ “เปรต” ไม่มีใครเคยเห็นเปรตหรือถ่ายภาพไว้ได้ เพียงคำเล่าขานสานต่อกันมาว่า “สูงระหง ผมยาว ตัวซูบผอม พุงโต ปากเท่ารูเข็ม มือเท่าใบตาล” จากลักษณะดังกล่าว เปรตเป็นผีที่มีรูปร่างพิกลพิการก็ว่าได้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้กระทำกรรมชั่วไว้มากจึงเกิดเป็นเปรต และเมื่อผู้คนมี
ความเชื่อในรูปร่างของผีเปรตในลักษณะดังกล่าวอาหารที่จะอุทิศไปให้จึงถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญประเพณีสารทเดือนสิบ
          ภูมิปัญญาแห่งอาหารที่กำเนิดขึ้นมากับประเพณีสารทเดือนสิบ มีความสัมพันธ์กับการนึกถึงบรรพชนผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการทำบุญและอุทิศบุญกุศลให้ดวงวิญญาณด้วย
อาหาร เมื่อเปรตมีปากเท่ารูเข็มก็ยากยิ่งที่จะกินอาหารทั่วไปที่ลูกหลานอุทิศให้ ด้วยความชาญฉลาดของผู้คนจึงคิดค้นอาหารหวานที่มีลักษณะเป็นเส้นเพื่อให้เปรตกินได้เกิดขึ้นภาย
ใต้ชื่อ “ขนมลา” เป็นการรำลึกถึงชื่อที่ใช้เรียกบรรพบุรุษที่เป็นชั้นที่สูงที่สุดนั่นคือ ทวด ลวด “ลา” จะเห็นได้ว่าลักษณะของขนมชนิดนี้จะเหมือนเสื้อผ้าที่ถักทออย่างวิจิตรเพื่อให้
วิญญาณของบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้วได้สวมใส่ เหมือนการถักทอแพรพรรณขึ้นมาด้วยการหลอมรวมใจเป็นหนึ่งของลูกหลาน เป็นความผูกพันหลอมรวมเป็นหนึ่งของครอบครัว


ข้อมูลภาพ ณ วันที่
3-5-59


          ขนมประจำงานบุญเดือนสิบนอกจากขนมลาที่เป็นเครื่องแทนอาหารและเครื่องนุ่งห่มของเปรตแล้ว ยังมีขนมอีกหลายชนิด ได้แก่ ขนมพองเป็นสัญลักษณ์ของยวดยานพาหนะ
เรือแพ ไว้สัญจร ขนมบ้าเป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เพชร นิล จินดาอันพิลาศ ขนมดีซำเป็นสัญลักษณ์แทนเงินทองไว้จับจ่ายใช้สอย ซึ่งสัญลักษณ์ต่างๆของขนมเป็นการแสดง
ถึงมโนสำนึกของลูกหลานที่อยากให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับได้มีกินมีใช้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ได้เลี้ยงดูเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และยังสามารนำขนม
ดังกล่าวไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ยังมีชีวิตอยู่ได้อีกด้วย
          ทั่วทั้งด้ามขวานทองผ่องอำไพต่างรวมใจยกหฺมฺรับและภัตตาหารไปวัดในเทศกาลงานบุญเดือนสิบ “หฺมฺรับ” จะเป็นภาชนะที่ใส่ขนมเดือนสิบที่จัดเรียงอย่างสวยงามเพื่อยกไป
วัด เพื่อนำไป “ตั้งเปรต” อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ ซึ่งทั่วทั้ง ๑๔ จังหวัดทางภาคใต้ จังหวัดที่มีการจัดหฺมฺรับได้ยิ่งใหญ่และสวยงามคือจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งทุกๆ ปี
จะมีการจัดประกวดและแห่หฺมฺรับอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ทำให้มีผู้ที่ชื่นชอบในศิลปวัฒนธรรมหลั่งไหลมาเที่ยวชมอย่างล้นหลาม


ข้อมูลภาพ ณ วันที่
3-5-59


          อีกประเพณีหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนา “การชิงเปรต” จะเกิดขึ้นอย่างสนุกสนาน ชิงในที่นี้ไม่ถือเป็นการแย่งชิงของกินมาจากบรรพบุรุษแต่อย่างใด แต่จะกระทำหลัง
จากที่พระสงฆ์ได้สวดมนต์และแผ่เมตตาตลอดจนอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเสร็จเป็นที่เรียบร้อย การที่เราชิงเปรตมาได้มากเท่าไรถือว่าเป็นการได้บุญมากเท่านั้น และดวงวิญญาณยังได้
รับส่วนบุญเพิ่มไปด้วย เมื่อเสร็จพิธีจะมีการดึงสายสิญจน์ออกหลังจากนั้นภาพแห่งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเหล่าเด็กๆที่พากันแย่งขนม ผลไม้ และอาหารที่นำ
มาตั้งเปรต นับว่าประเพณีสารทเดือนสิบจะเป็นประเพณีแห่งน้ำใจ ความเคารพ และมิตรภาพที่เปื้อนอยู่ในหัวใจของผู้คนชาวด้ามขวานทองก็ว่าได้


ข้อมูลภาพ ณ วันที่
3-5-59


          ..วันเวลาหมุนเวียนมาบรรจบในเดือนเทศกาลสิบ “เปรต” เสมือนสิ่งที่ดึงดูดน้ำใจและการระลึกถึงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วของลูกหลานให้กลับมายังบ้านเมือง
ถิ่นเกิด ไม่ว่าจะออกไปทำงานที่ใกล้ไกลแห่งหนตำบลไหน เราจะเดินทางกลับมายังถิ่นเกิดเพื่อร่วมด้วยช่วยกันทำขนมประจำงานบุญ เข้าวัดประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อุทิศส่วน
บุญส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เสมือนสายน้ำธารเล็กๆที่ไหลมารวมกันเป็นธารแห่งน้ำใจที่ยิ่งใหญ่และงดงามยิ่งนัก

 


เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัตย์. ระวังจะเป็นเปรต. กรุงเทพฯ : เลี่ยงเชียง, 2556.
สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช. ประเพณีวันสารทเดือนสิบ.
สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2559 จาก http://www.culture.nstru.ac.th/lifestyle/sart_thai.html
Pantip. ขนมเดือนสิบ. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2559 จาก http://pantip.com/topic/31040127