เด็กขายไม้ขีดไฟ
โดย...นายเกียรติศักดิ์  หงษ์คำ
อาชีพ ข้าราชการพลเรือน
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ

อีเมล์ : tomkhk@hotmail.com

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)


           จำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยอ่านนิทานสัญชาติเดนมาร์กเรื่อง “เด็กขายไม้ขีดไฟ” ของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน โดยเนื้อเรื่องได้กล่าวถึงเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งถูกพ่อเลี้ยงบังคับ
ให้เดินขายไม้ขีดไฟ ท่ามกลางความหนาวเย็นในค่ำคืนของวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เด็กหญิงตะโกนขายไม้ขีดไฟด้วยน้ำเสียงอ่อนน้อมและน่าสงสาร “ไม้ขีดไหมคะ ไม้ขีด
ไหมคะ ซื้อหน่อย ซีจ๊ะ”
ผู้คนที่เดินผ่านไปมาไม่มีแม้แต่จะชายหางตามองเด็กหญิงมอมแมมคนดังกล่าว ตลอดทั้งวันเด็กหญิงขายไม้ขีดไม่ได้สักกล่อง เธอนั่งลงด้วยท่าทางที่อิดโรย
ไม่มีเงินซื้อข้าว ไม่มีเงินกลับไปให้พ่อเลี้ยงที่บ้าน หากกลับบ้านไปโดยที่ไม้ขีดไฟยังเหลือเหมือนเดิม เธออาจถูกพ่อเลี้ยงทำร้ายเป็นแน่ เด็กหญิงนั่งน้ำตาไหลรินด้วยความระทม และ
ขณะที่เด็กหญิงกำลังทุกข์ทรมานเนื่องจากความหิวและความเหน็บหนาวอยู่นั้น เธอก็ได้จุดไม้ขีดไฟเพื่อให้มอบความอุ่นแก่ร่างกาย เมื่อเธอจุดไม้ขีดไฟแต่ละก้าน เธอก็จะระลึกถึง
ความสุขที่เคยมี ความรักที่เคยได้รับจากแม่และยายที่เสียชีวิตไปแล้ว ไม้ขีดไฟที่เธอจุดแต่ละก้านทำให้เกิดความอบอุ่นที่แม้แสนจะเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เธอมีความสุขเพราะรู้สึก
เหมือนได้อยู่กับแม่และยายอีกครั้ง เธอจุดไม้ขีดไฟก้านแล้วก้านเล่า ในเช้าของวันปีใหม่ ชาวเมืองที่เดินผ่านไปมาต่างก็เศร้าสลดเมื่อได้พบกับร่างอันไร้วิญญาณของเด็กหญิงกับเศษ
ก้านไม้ขีดไฟที่ถูกจุดไปแล้ววางอยู่รายรอบตัวเธอซึ่งเป็นภาพที่น่าเวทนายิ่งนัก จำได้ว่าตอนนั้นเมื่ออ่านเรื่องนี้ครั้งใดก็เป็นเหตุให้ต้องเศร้าใจไปทุกครั้ง ทว่าล่วงผ่านมาจนถึงวันนี้
มุมมองต่อนิทานเรื่องดังกล่าวมีอันตั้งหักมุมไปโดยปริยาย เมื่อมองในบริบทของการบริหารจัดการ เด็กหญิงคนนี้ถือว่าประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าเธอมีเป้าหมายที่ชัด
คือ ต้องการขายไม้ขีดไฟให้หมดเพื่อให้ได้เงิน แต่วิธีการไปสู่เป้าหมายของเธอต่างหากคือคำถามที่น่าสนใจ !

ภาพจากเว็บไซต์
http://www.baanmaha.com/community/threads/22797หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ
ข้อมูลภาพ ณ วันที่
23-6-59

          อันที่จริงความล้มเหลวล้วนมีที่มาจากเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกันออกไปตามเทคนิคและรสนิยมการวิเคราะห์ของแต่ละคน ในกรณีของเด็กหญิงขายไม้ขีดไฟหากมองในบริบท
ของการบริหารจัดการสิ่งที่นำเธอไปสู่ความล้มเหลวและต้องจบชีวิตลงด้วยความน่าเวทนา นั่นคือการที่เธอ “ไม่มีการจัดทำตัวชี้วัด” ฟังดูแล้วน่าขบขันพิลึก หรือเธออาจมีตัวชี้วัดแต่เป็น
ตัวชี้วัดที่ไม่ถูกต้อง ทำไมจะต้องจัดทำตัวชี้วัด? และตัวชี้วัดกำหนดอย่างไร ?

ภาพจากเว็บไซต์
http://www.slideshare.net/speedcars/key-performance-indicator-11582069
ข้อมูลภาพ ณ วันที่
23-6-59

          หากพูดกันตามหลักวิชาการ “ตัวชี้วัด” หรือ Key Performance Indicators คือเครื่องมือสำคัญในการบริหารงาน หน่วยงานที่ขาดตัวชี้วัด หรือมีตัวชี้วัดที่ไม่เหมาะสม จะทำให้
ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ทราบข้อเท็จจริงหรือมองไม่เห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รวมทั้งขาดการพัฒนาที่ถูกทิศทาง การปรับ
กลยุทธ์ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ และนำไปสู่ความล้มเหลวในท้ายที่สุด หรือโดยสรุปตัวชี้วัดก็คือหนทางสู่ความสำเร็จนั่นเอง โดยตัวชี้วัดในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ
          1. ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ วัดค่าเป็นตัวเลข เช่น จำนวนคน น้ำหนัก ร้อยละ ระยะเวลา งบประมาณ ระดับความพึงพอใจ ฯลฯ ใช้วัดสิ่งที่สามารถนับได้ วัดได้ เป็นรูปธรรมและมี
ความชัดเจน
          2. ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ วัดในสิ่งที่ไม่ใช่ค่าตัวเลขหรือปริมาณหรือหน่วยวัดใดๆ เช่น คุณภาพชีวิต ผลการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ ซึ่งจะใช้วัดผลกิจกรรมที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ สมรรถนะ
หรือความสามารถ เป็นต้น

          ในส่วนของหลักเกณฑ์การจัดทำตัวชี้วัด มีแนวทางที่น่าสนใจเรียกว่า SMARTER ได้แก่
          1. S (Specific) = เจาะจง คือ จะต้องมีความเฉพาะเจาะจง ตัวชี้วัดควรมีความชัดเจนและมีความหมายมั่งไปยังสิ่งที่วัด ควรกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน ไม่กำกวม เพื่อมิให้เกิด
การตีความผิดพลาดและเพื่อสื่อสารความเข้าใจให้ตรงกันทั่วทั้งองค์กร
          2. M (Measurable) = วัดได้ คือ จะต้องเป็นตัวชี้วัดที่สามารถนำไปวัดผลการปฏิบัติงานได้จริง ข้อมูลที่ได้จากการวัดสามารถนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากตัวชี้วัดอื่น
และใช้วิเคราะห์ความหมายทางสถิติได้
          3. A (Acceptable/Achievable) = บรรลุผล คือ เป็นที่ยอมรับร่วมกันและสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ องค์กรไม่ควรใช้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักที่องค์กรไม่สามารถควบคุม
ให้เกิดผลสำเร็จได้โดยตรง
          4. R (Realistic) = เป็นจริงได้ คือ มีความสมจริงตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักมีความเหมาะสมกับองค์กรและไม่ใช้ต้นทุนการวัดที่สูงเกินไป
          5. T (Time Frame) = การดำเนินงานภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสม คือ สามารถใช้วัดผลการปฏิบัติงานได้ภายในเวลาที่กำหนด ควรปรับปรุงตัวชี้วัดให้ทันสมัยอยู่เสมอ
          6. E (Extending) = ความยืดหยุ่น หรือสามารถปรับหรือขยายการกิจบางอย่างเพื่อความเหมาะสมหรือให้เกิดการคล่องตัวได้
          7. R (Rewarding) = มีความคุ้มค่า

ภาพจากเว็บไซต์
ภาพจากเอกสารบรรยายชี้แจงแปลงแผนจากยุทธศาสตร์ สปน. สู่การปฏิบัติของนายเกียรติศักดิ์ หงษ์คำ

ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 23-6-59

          เมื่อเข้าใจเกณฑ์ในการจัดทำตัวชี้วัดแล้วสิ่งที่ควรคำนึงถึงในลำดับต่อไปเมื่อได้มีการกำหนดหรือเขียนตัวชี้วัดแล้ว คือการทดสอบตัวชี้วัดว่าจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีและสะท้อน
ผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานได้หรือไม่ ภายใต้ข้อคำถามดังนี้
          1. ตัวชี้วัดนั้นมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มากน้อยเพียงใด
          2. ตัวชี้วัดนั้นสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงหรือไม่ หรือแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องการจะวัดจริงหรือไม่
          3. ความพร้อมของข้อมูล โดยประเมินว่าภายใต้ตัวชี้วัดแต่ละตัวมีข้อมูลเพียงพอหรือไม่
          4. ต้นทุนในการจัดหาข้อมูล เป็นการประเมินว่าตัวชี้วัดแต่ละตัวมีความคุ้มทุนหรือไม่หากจะหาข้อมูลมาเพื่อการบรรลุตัวชี้วัดนั้นๆ
          5. ความถูกต้องของข้อมูล เป็นการประเมินว่าข้อมูลที่มีอยู่ของตัวชี้วัดแต่ละตัวมีถูกต้องแม่นยำเพียงใด
          6. ตัวขี้วัดนั้นสามารถนำไปใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่น หรือกับผลการดำเนินงานในอดีต
          ย้อนกลับมาดูในความเป็นจริง ทุกวันนี้หลายหน่วยงานยังเขียนคงวนเวียนกำหนดตัวชี้วัดในลักษณะป้องกันตัวเองจนเกินไป กระทั่งไม่เกิดผลดีต่อหน่วยงานแต่อย่างใด กล่าวคือ
กำหนดตัวชี้วัดที่ง่ายต่อการวัดจนเกินไป และมักกำหนดตัวชี้วัดเชิงปริมาณ ซึ่งมิได้สะท้อนผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานอย่างแท้จริง เช่น การจัดอบรม สัมมนา หรือการพัฒนาความรู้ต่างๆ
หลายหน่วยงานมักกำหนดตัวชี้วัด คือ ร้อยละของจำนวนของผู้เข้าร่วมการอบรม ระดับความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมการอบรม เป็นต้น ทั้งนี้จะวัดผลสัมฤทธิ์กันอย่างแท้จริงควรกำหนด
ตัวชี้วัดในลักษณะของเชิงคุณภาพร่วมด้วย เช่น ร้อยละการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรม ระดับความรู้ความเข้าใจของผู้เข้ารับการอบรม เป็นต้น ในบางครั้งการกำหนด
ตัวชี้วัดที่ยากเกินไปก็อาจไม่ส่งผลดีต่อองค์กรเสมอไป เพราะการกำหนดตัวชี้วัดไม่ได้อยู่ที่วิธีการว่าง่ายหรือยาก แต่อยู่ที่ว่าเป็นตัวชี้วัดที่ถูกต้องหรือไม่ วัดความสำเร็จได้จริงหรือไม่
หลายท่านอาจมีคำตอบอยู่แล้วในใจหากแต่ยังไม่มีความกล้าพอที่จะกำหนดออกมาเป็นตัวชี้วัด แต่ถ้าหากเราคำนึงถึงเป้าหมายของหน่วยงาน มองเห็นผลประโยชน์ต่อหน่วยงานและ
ส่วนรวม การกำหนดตัวชี้วัดก็ควรกำหนดให้มันสามารถทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง และไม่ควรมองตัวชี้วัดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายไร้ประโยชน์ เพียงเพราะเรายังไม่เปิดให้โอกาส หรือ
ไม่กล้าให้ตัวชี้วัดได้ทำหน้าที่อย่างแท้จริงเลย ท้ายที่สุดนี้หากหน่วยงานใดยังคงละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับตัวชี้วัด เป็นไปได้ว่าอนาคตของหน่วยงานคงไม่ต่างอะไรไปจากตอนจบ
ของนิทานเรื่อง “เด็กขายไม้ขีดไฟ”




เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

เกียรติศักดิ์ หงษ์คำ. (2558). เอกสารประกอบการบรรยาย ชี้แจงแปลงแผน : จากยุทธศาสตร์ สปน. สู่การ ปฏิบัติ.
วรรณา ทองเจริญศิริกุล. (2552). เอกสารประกอบการบรรยาย เทคนิคการจัดทำโครงการอัจฉริยะ สำนัก นโยบายอุตสาหกรรมมหภาค.
จากเว็บไซด์
https://www.baanmaha.com/community/threads/22797หนูน้อยขายไม้ขีดไฟ