ขันติ เป็นภาษาบาลี หมายถึง การรักษาภาวะปกติของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่ง ด้วยสิ่งที่น่าพอใจ หรือ ไม่น่าพอใจก็ตาม ในภาษาไทย ขันติ หมายถึง ความอดทน อด เป็นอาการ ที่อยากจะได้ แต่ไม่ได้ ทน เป็นอาการ ที่ไม่อยากได้ แต่ต้องได้ ดังนั้น ขันติ ความอดทน อดกลั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จึงหมายถึง อดทนในสิ่งที่ควรอดทนด้วยความเต็มใจและพอใจ คือ อดทน ในการละ หลีกเลี่ยงจากความชั่ว อดทน ทำความดีต่อไปในทุกสถานการณ์ อดทน รักษาใจให้ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ความอดทน จึงเปรียบเสมือนการขุดขุมทรัพย์อันมีค่ามหาศาล
บุคคลผู้มีความอดทน ย่อมไม่มีอันตรายแก่ใครๆ มีแต่จะนำประโยชน์สุขมาให้แก่บุคคลผู้ที่คบหาเสวนาด้วยอย่างเดียว เพราะบุคคลผู้มีความอดทน ย่อมเป็นผู้มีมงคลคือ เหตุแห่งความเจริญในตนอยู่แล้ว จะประกอบกิจการทุกสิ่งล้วนทำด้วยปัญญาอันประกอบด้วยเหตุผลทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นผู้หนักแน่น ไม่หวั่นไหวได้ง่าย ส่วนบุคคลผู้ที่ไม่มีความอดทน ย่อมตรงกันข้าม คือ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเข้า ก็อาจจะแสดงกิริยาอาการอันไม่งาม ไม่น่าชมออกมาได้ทุกเวลา ทุกโอกาส สถานที่ และเมื่อเป็นเช่นนี้ การประกอบกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง หรือการคบหาสมาคมกัน เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สุขต่อกันนั้น ก็ย่อมจะถึงกาลเสื่อมเสียไป ขันติธรรม คือ ความอดทน ท่านจำแนกไว้ 3 ประการ คือ ประการที่ 1 อดทนต่อความยากลำบาก หมายความว่า อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะทุกชีวิตที่เกิดมาแล้ว ย่อมไม่พ้นจากความแก่ ความเจ็บ และความตายไปได้ จำต้องประสบพบกับบุคคลทุกประเภท ไม่ว่าจะยากจน หรือ ร่ำรวยก็ตาม ล้วนแล้วแต่ได้พบด้วยกันทั้งนั้น ประการที่ 2 อดทนต่อความตรากตรำ หมายความว่า อดทนต่อความทุกข์ยากจากการทำงาน เพราะคนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งบุคคลจะได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ก็จะต้องขยันประกอบอาชีพการงาน แต่ถ้าบุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่ประกอบการงาน ก็จะมีความเป็น อยู่อย่างลำบาก หากมีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านแล้ว ก็จะหาทรัพย์ได้ ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลผู้มีหน้าที่ หมั่นขยันทำสมควร ย่อมหาทรัพย์ได้ เมื่อมีหน้าที่การงานแล้ว ควรเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ทำให้เหมาะสมกับหน้าที่ ไม่ทอดทิ้งการงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ควรเพียรพยายามทำให้เต็มกำลังความสามารถและ สติปัญญา การประกอบอาชีพการงานนั้น ย่อมประสบกับอุปสรรค ท่านที่มีปัญญาสามารถ ต้องการที่จะได้รับประโยชน์และความสุข ก็ไม่ควรทอดทิ้งหรือท้อถอย ควรใช้ความอดทน เป็นเบื้องหน้า ก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้
ประการที่ 3 อดทนต่อความเจ็บใจ หมายความว่า อดทนต่อความโกรธที่มากระทบกระทั่ง เพราะบุคคลทุกคน จะอยู่คนเดียวลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่คณะ เป็นครอบครัว ตลอดถึงเป็นประเทศชาติ บุคคลผู้อยู่ร่วมกันเช่นนี้ บางครั้งอาจมีความกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะวิวาทบาดหมางกันบ้าง เพราะต่างก็มีกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหาก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดความอดทนแล้ว ความทะเลาะวิวาทบาดหมาง ก็จะแตกแยกแผ่ขยายกว้างออกไป จนทำให้เสียหน้าที่การงานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประโยชน์สุขก็จะไม่เกิดขึ้น ธรรมะที่คู่กับขันติก็คือ โสรัจจะ ที่ท่านแปลว่า ความเสงี่ยม ตามศัพท์นั้นแปลว่าความยินดีหรือความรื่นรมย์ของใจ พูดง่ายๆ ก็คือความสบายใจ อันทำให้กายและวาจาก็ สบาย เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม โสรัจจะดั่งที่กล่าวนี้ พูดง่ายๆ ในทางปฏิบัติก็คือทำใจให้สบาย โดยที่ฝึกที่จะระบายสิ่งที่อัดอยู่ในใจนั้น ให้ออกไปจากใจ ให้สงบไปจากใจ ในขณะที่ปฏิบัติในขันตินั้น ถ้าไม่มีโสรัจจะคือการทำใจให้สบายนี้มาประกอบด้วย ก็จะรู้สึกว่าเป็นขันติที่เป็นทุกข์ ดังเช่นเมื่อกระทบกับคำจาบจ้วงล่วงเกิน ก็ปฏิบัติทำขันติ คือความอดทนเอาไว้ แต่ว่ายังมีความเจ็บใจ ยังมีความโกรธ ความขึ้งเคียดอยู่ในใจ แต่ก็พยายามที่จะกลั้นเอาไว้ ดังที่เรียกว่าอดกลั้น อยากที่จะโต้ตอบเขาออกไปทันที อยากที่ จะทำร้ายเขาออกไปทันที ด้วยอำนาจของโทสะ หรือความเจ็บใจ แต่ก็กลั้นเอาไว้ไม่ทำออกไป
เมื่อเป็นดั่งนี้ โทสะหรือความเจ็บใจที่มีอยู่ในใจนั้น ก็ทำให้เกิดความเครียดขึ้น แสดงออกทางหน้าทางตาเช่นตาแดงหูแดง แสดงออกทางกิริยาเช่นแสดงอาการฮึดฮัด หรือ ว่าหยิบเอาสิ่งของที่ใกล้มือเขวี้ยงปาออกไป ได้แก้วก็ขว้างแก้วออกไป ได้จานก็ขว้างจานออกไป เป็นการทดแทนที่จะวิ่งออกไปทำร้ายเขา ก็ทำร้ายพัสดุต่างๆ แทน เหล่านี้เพราะ เหตุที่ว่าจิตใจยังมีความเจ็บใจ ยังมีโทสะที่กลุ้มกลัดอยู่ เป็นขันติที่เป็นทุกข์ และเป็นขันติที่ทำให้ใจไม่สบาย ต้องกลั้นเอาไว้ ต้องเดือดร้อนต้องกระสับกระส่าย ดังเช่นที่กล่าวมา เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ต้องมีโสรัจจะเข้ามาช่วย คือทำใจให้สบาย ระบายเอาความเจ็บใจ ระบายเอาความโกรธนั้นออกไปเสีย ไม่เก็บเอาไว้ให้เกิดความขึ้งเครียด เพราะฉะนั้นโสรัจจะนี้จึงเป็นธรรมที่คู่กันกับขันติ เป็นขันติข้อหนึ่ง เป็นโสรัจจะข้อหนึ่ง ที่ท่านเรียกว่าเป็นธรรมะที่ทำให้งาม เพราะว่าผู้ที่มีขันติโสรัจจะอยู่ดังนี้ ย่อมทำให้ จิตใจก็งาม กายวาจาก็งาม เพราะสามารถที่จะรับยับยั้งเหตุแห่งทุกข์ต่างๆ ไว้ได้ ทั้งทำจิตใจให้สบาย คือสบายดี เหมือนอย่างไม่ได้ถูกกระทบกระทั่งอะไรด้วย กายวาจาก็ดีด้วย ปราศจากอาการที่เป็นวิกลวิกาลต่างๆ จึงเป็นธรรมะที่ทำให้งาม นี้เป็นขันติที่เป็นปฏิบัติทั่วไป
|