๑๔๐ ปี กิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย
โดย...คุณชินาทร  กายสันเทียะ
ประธานชมรมยุวชนมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา
ต.โพธิ์กลาง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา
อีเมล์ : rachachinakawin@gmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)



มิวเซียมหลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือ หอคอยคอเดีย ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในปัจจุบัน คือ ศาลาหทัยสมาคม
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 30-9-57
 

          เมื่อเราจะหาแหล่งความรู้เพื่อค้นคว้าเรื่องราวในอดีต นอกจากห้องสมุดแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงจะต้องนึกถึง “พิพิธภัณฑ์”สถานที่ที่ทำให้เราได้ย้อนอดีตผ่านสิ่งจัดแสดง
ต่างๆ ที่ทรงคุณค่าและเป็นสมบัติของชาติของเราทุกทุกที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา เพื่อส่งต่อความประทับใจในความเป็นชาติไทยไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา และเนื่องในโอกาส
ที่กิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ครบ ๑๔๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา จึงขอมาบอกเล่าประวัติความเป็นมาของกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย
ในยุดสมัยต่างๆ ใน ๑๔๐ ปี ที่ผ่านมา
          พิพิธภัณฑ์ หรือในภาษาอังกฤษ คือ Museum เป็นอาคารหรือสถาบัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเก็บรักษาวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้น ทั้งในรูปแบบของโบราณวัตถุ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ
ประวัติศาสตร์ โดยมีจัดแสดงให้ผู้คนสามารถเข้าชมได้ถาวร หรือจัดแสดงชั่วคราว พิพิธภัณฑ์มักจะให้บริการแก่สาธารณชน เพื่อประโยชน์ในการศึกษา สันทนาการ แสดงความ
ภูมิใจของท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ เรียกว่า ภัณฑารักษ์
          ส่วนคำว่า พิพิธภัณฑ์ (พิ-พิด-ทะ-พัน) นี้ มาจากคำว่า พิพิธ สมาสกับคำว่า ภัณฑ์ หมายถึงของใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้
คำนิยามว่า "สิ่งของต่างๆ ที่ได้ถูกรวบรวมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา" ในขณะเดียวกันคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน
พ. ศ. ๒๕๔๒ ว่า สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้
เกิดความเพลิดเพลินใจ ซึ่งในปัจจุบันความหมายของพิพิธภัณฑ์เอง ได้ถูกเรียกหมายถึงพิพิธภัณฑ์สถานเช่นเดียวกัน
          ในประเทศไทยเรา ได้มีการริเริ่มดำเนินการรวบรวมวัตถุสิ่งต่าง ๆ เป็นครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ มีการจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งราชฤดี ภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นครั้งแรกของสยาม ซึ่งเป็นที่จัดตั้งแสดงสิ่งสะสมส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงรวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และต่อมาได้มีการย้ายมาจัดแสดงที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ
ภายในพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่มาของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในเวลาต่อมา เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีพระราชปรารภให้มีการ
จัดตั้ง “มิวเซียมหลวง” ขึ้น ณ หอคอยคอเดีย ภายในพระบรมมหาราชวัง หรือศาลาหทัยสมาคมในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก เพื่อจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ได้แก่
บรรดาของที่ระลึก เครื่องราชบรรณาการจากนานาประเทศ รวมทั้งศิลปวัตถุอันมีค่านานาชนิดที่เป็นของส่วนพระองค์ โดยมีเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) เป็นหัวหน้าฝ่าย
ไทย และมีนายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน(มิวเซียมหลวง) ให้เป็นแบบสากล เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาสศุภมงคล
เฉลิมพระชนมพรรษา ๒๑ พรรษา ๒๐ กันยายน ๒๔๑๗ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๗ ดังนั้น ในวันนี้ จึงกำหนดเป็นวันกำเนิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน ต่อมาในปี
พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ ๑๙ กันยายน ของทุกปี เป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๙
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 30-9-57

          มิวเซียมหลวง ดังกล่าวได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมเฉพาะในการเฉลิมพระชนมพรรษาต่อเนื่องเป็นประจำ ทุกปี จนถึง พ.ศ.๒๔๓๐ เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เสด็จ
ทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ ย้ายมิวเซียมหลวงจากที่ในพระบรมมหาราชวัง มาจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล เฉพาะ
พระที่นั่งด้านหน้า ๓ องค์ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป และจัดแสดงวัตถุต่างๆ รวมทุก
สาขาวิชา ได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ และวัตถุทางธรรมชาติวิทยา ฯลฯ เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นการถาวร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ จึงทรงพระ
กรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ ยกฐานะที่พิพิธภัณฑสถานขึ้นเป็นกรมพิพิธภัณฑ์ ขึ้นกับกระทรวงธรรมการ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป เป็น
อธิบดีคนแรก ภายหลังได้ปรับปรุงการรับผิดชอบเป็นของราชบัณฑิตยสภา เป็นของแผนกโบราณคดีและพระราชทานหมู่พระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมด จัดตั้งเป็น
พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา ทำการปรับปรุงการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานใหม่ ให้เป็น
พิพิธภัณฑสถานด้านโบราณคดีและศิลปะ เก็บรวบรวมและสงวนรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้
เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดในโอกาสศุภมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๙
          ต่อมาประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ พิพิธภัณ
ฑสถานสำหรับพระนคร จึงได้เข้าสังกัดกับกรมศิลปากร และได้ประกาศตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นแหล่งเรียนรู้
สำคัญด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ที่สร้างความภาคภูมิใจมาจนทุกวันนี้


พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
เป็นที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ชิ้นเด่นในประเทศไทย

ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 30-9-57

          “...การไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จะช่วยให้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาค ในพื้นที่ที่เราไม่มีเวลาไปดู มีทั้งโบราณวัตถุ และศิลปะพื้นบ้าน...” พระราชปรารภเรื่อง
การเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานลงในคำนำ หนังสือล้านนา ของกองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่ทรงนำคณะอาจารย์และนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทัศนศึกษาภาคเหนือตอนบน, ๒๕ – ๒๘
พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๒ จึงพระราชปรารภนี้ ทำให้เราเห็นความสำคัญของการเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
          ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุง อนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติให้พัฒนาถาวรตลอดมา จึง
ได้มีการจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับการอนุรักษ์มรดกไทย” ในหัวข้อ
“พิพิธภัณฑสถาน โบราณคดี และประวัติศาสตร์ ตามรอยพระบาทสยามบรมราชกุมารี” โดย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในระหว่างวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๗ - ๑๘ มกราคม
๒๕๕๘ (เปิดวันพุธ-อาทิตย์) เวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวได้ เพื่อ
ร่วมกันน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านได้ทรงอุปถัมภ์บำรุง เอาพระราชหฤทัยใส่ในกิจการด้านพิพิธภัณฑสถานเสมอมา จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยหันมาเรียนรู้
เรื่องราวในอดีตผ่านสิ่งต่างๆที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่จะบอกเล่าความเป็นมาของชาติไทยหรือท้องถิ่นนั้น ทำให้เรารู้สึกมีความภาคภูมิใจในชาติของเรา ผ่านการเข้าชมพิพิธภัณ
ฑสถานแห่งชาติ




เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

๑. จิรา จงกล. กิจการพิพิธภัณฑสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร จัดพิมพ์ ในงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ๒๕๑๗.
๒. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เกิดวังปารุสก์ ฉบับสมบูรณ์ : สมัยบูรณาญาสิทธิราชย์
และสมัยประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์, ๒๕๔๗.
๓. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี. "คำนำ" ใน ล้านนา. กองวิชาประวัติศาสตร์
ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่ทรงนำคณะอาจารย์และนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทัศนศึกษาภาคเหนือตอนบน, ๒๕ – ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๒.