พระปัญจสิงขร : ดุริยเทพเครื่องสาย
โดย...นายประจักษ์  น้อยเหนื่อย
รับราชการครู โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์
แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ
อีเมล์ : prajak.buu@gmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)



          “ดุริยเทพ” หมายถึง เทพเจ้าที่สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักดนตรีไทย ที่มีชื่อปรากฏในหนังสือโบราณ ซึ่งสรรเสริญบรมครูของดนตรี คือ พระวิศณุกรรม เทพเจ้า
ผู้ให้กำเนิดเครื่องดนตรีทั้งหลาย ปัญจสิงขร เทพเจ้าแห่งพิณพาทย์ การขับร้อง และพระปรคนธรรพ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการดีด ซึ่งสอดคล้องกับ พูลผล อรุณรักถาวร
(2550 : 1) ได้กล่าวถึงดุริยเทพดนตรีไทยไว้ว่า “ในโองการไหว้ครูดุริยางคศิลป์ ปรากฏนามเทวดา อยู่ 3 องค์คือ พระวศิวกรรม พระปัญจสิงขร พระปรคนธรรพ ว่าเป็นครู
ดุริยเทพ”

ภาพจาก Web Site
http://www.ohmsaya.com/

ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 20-9-58

          ความเชื่อที่มีต่อเทพเจ้าที่มีในประเทศไทยนั้น มีผลเนื่องมาจากแต่เดิมคนไทยมีการนับถือผีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีอิทธิพลจากอินเดียเข้ามาจึงส่งผลให้ศาสนาพราหมณ์ที่มี
การนับถือเทพเจ้าต่างๆเข้ามามีผลต่อคนไทยที่จะเลือกนับถือศาสนาและรวมถึงการดนตรีไทยที่มีการไหว้ครูตามตำราแบบศาสนาพราหมณ์ ดังที่ บุญธรรม ตราโมท (2481:47)
กล่าวไว้ว่า “การไหว้ครูดุริยางค์ดนตรีนั้นน่าจะเนื่องมาโดยชาติไทยแต่โบราณคงจะนับถือเทพเจ้าและนับถือผีอยู่บ้างแล้ว เมื่อรับเอาคติทางศาสนาพราหมณ์ของอินเดียพร้อมกับ
การเริ่มระเบียบแห่งการดนตรีขึ้นใหม่ในแดนสุวรรณภูมิจึงได้นับถือเป็นแบบอย่างสืบต่อกันมาทีเดียวไม่มีปัญหาอะไรในการที่จะกล่าวว่า พิธีไหว้ครูของเราเอาแบบอินเดียมาใช้
เพราะชื่อเทพเจ้าทุก ๆ องค์ตรงตามตำ ราแห่งศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น

          ในวงการดนตรีไทยประเภทเครื่องสาย หากจะกล่าวถึงครูเทพทางเครื่องสายที่สำคัญ นั้นก็คือ พระปัญจสิงขร หรือ พระปัญจสีขร ในภาษาบาลีเรียกว่า "ปัญจสิข" ตามคติ
ความเชื่อในไตรภูมิพระร่วงหรือเตภูมิกถา มีความเชื่อเกี่ยวกับพระปัญจสิงขรดังนี้ พระปัญจสิงขร เป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นเด็กเลี้ยงโค และได้เสียชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่ม แต่ด้วยคุณ
ความดีของท่านที่สร้างเอาไว้ตอนเมื่อยังมีชีวิต ด้วยการสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หลายต่อหลายอย่าง จึงทำให้ท่านบังเกิดเป็น เทพบุตร ใน ชั้นจาตุมหาราช นามว่า
“ปัญจสิขคนธรรพเทพบุตร”

ภาพจาก Web Site
http://www.ohmsaya.com/

ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 20-9-58

          จากการสัมภาษณ์นักดนตรีไทย ในเกี่ยวกับความเชื่อในองค์พระปัญสิงขรพบว่า ท่านเป็นครูเทพแห่งดนตรีเครื่องสายมโหรี มีหน้าที่บรรเลงดนตรี ขับร้องและฟ้อนรำ
บำเรอเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าแห่งเครื่องดนตรีทั้งปวง ดังนั้นนักดนตรีไทยที่เล่นอยู่ในวงเครื่องสาย โดยเฉพาะผู้ที่ถนัดเครื่องสาย จำพวก ซอด้วง
ซออู้ ซอสามสาย จึงนับถือและมีความศรัธาพระปัญจสิงขร มากเป็นพิเศษกว่าครูเทพองค์อื่นๆ (นิพนธ์ กล่ำกล่อมจิตร. 2558: สัมภาษณ์)

          ตามคติความเชื่อในเรื่องลักษณะโดยทั่วไปของศีรษะครู (พระปัญสิงขร) ความเชื่อที่หนึ่ง เชื่อว่า บนศีรษะของท่านจะเป็นมงกุฎยอดน้ำเต้ามี ๕ ยอด ร่างกายเป็นสีทอง
มีกุณฑล ทรงอาภรณ์ประดับด้วยนิลรัตน์ ทรงภูษาสีแดง มีความสามารถในเชิง ดีดพิณ และขับลำนำ และความเชื่อที่สองเชื่อว่า บนศีรษะของท่านจะเป็นมงกุฎยอดน้ำเต้ามี
๕ ยอด กายสีขาว มี ๔ กร ทรงถือพิณและบัณเฑาะว์ ( ความเชื่อที่สองนี้ เชื่อว่าเป็นศีรษะครูในตอนที่ท่านเป็นมนุษย์ จึงมีกายเป็นสีขาว) และสาเหตุสร้างศีรษะครู (พระปัญสิงขร)
บนยอดมี ๕ แฉกนั้นเนื่องจากตอนที่เป็นมนุษย์ในวัยเด็กจะไว้ ผม 5 แหยม หรือ 5 ปอย นั้นเอง

          ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า เครื่องดนตรีประจำองค์ของพระปัญจสิงขร คือ พิณและบัณเฑาะว์ ซึ่งมีลักษณะดังนี้ พิณของพระปัญจสิงขร จะมีพรรณเลื่อมเหลืองดุจ
ผลมะตูมสุกสะอาด คันของพิณก็จะเป็น แก้วอินทนิลมณี มีทั้งหมด 50 สาย (ทำด้วยเงิน) ส่วน ลูกบิด (เวทกะ) ที่สำหรับสอดสายพิณก็จะทำด้วย แก้วประพาฬ ส่วนบัณเฑาะว์ของ
พระปัญจสิงขรไม่ได้มีการกล่าวถึงไว้แต่อย่างใด

          พระปัญจสิงขรเป็นสารถีของพระอิศวรเจ้า มักจะเห็นอยู่ด้านหน้าและเดินนำหน้าพระอิศวร คราวเสด็จออกจากวิมานทุกครั้ง และเมื่อว่างจากการเป็นสารถี ก็จะบรรเลง
เพลงเครื่องสาย ถวายองค์มหาเทพ "ปัญจสิขคนธรรพเทพบุตร” เป็นพระพุทธอุปัฏฐากคุ้นเคยสนิทในพระพุทธบาทยุคล กล่าวโดยว่าเมื่อ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จ
จากสวรรค์ลงมายังโลกมนุษย์ จะต้องมี ปัญจดุริยางค์ หรือ ดนตรีของสรวงสวรรค์ บรรเลงนำลงมา และพระปัญจสิงขรก็จะเป็นผู้ดีดพิณ รวมถึง ไกวบัณเฑาะว์ นำอยู่ใน วงเครื่อง
สูง ในการนำเสด็จของพระพุทธเจ้าในทุกๆ ครั้ง

          การศิลปะของไทยทุกแขนง ย่อมจะต้องมีพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อครูและเพื่อความเป็นศิริมงคล ในวงการดนตรีไทยก็มีพิธีไหว้ครูเช่นเดียวกัน และ
ในการไหว้ครูดนตรีไทยนั้นจะต้องมีการตั้งศีรษะครู เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีและเพื่อให้ศิษย์ได้กราบเคารพบูชาศีรษะครู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่จำลองแทนตัวครู สำหรับการตั้ง
ศีรษะของพระปัญจสิงขรซึ่งแทนสัญลักษณ์องค์พระปัญจสีขร ซึ่งถือว่าท่านเป็นครูพิณและขับร้องต่างๆ เวลาตั้งหัวโขนหรือศีรษะท่าน จะตั้งทางด้านขวาของเวทีรวมกับศีรษะ
พระครูฤษีต่างๆ

          จากสิ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอข้อมูลในเบื้องต้นเกี่ยวพระปัญจสิงขรนี้ ย่อมทำให้ผู้อ่านทุกท่านทราบเป็นอย่างดีแล้วว่า พระปัญจสิงขรเป็น 1 ใน 3 ดุริยเทพด้านดนตรีไทยที่
สำคัญ และอยู่คู่กับวงการดนตรีไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน พระปัญจสิงขรจึงเป็นครูเทพที่สำคัญทางดนตรีไทย(เครื่องสาย) ดังคำกล่าวที่ว่า พระปัญจสิงขร : ดุริยเทพ
เครื่องสาย










เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

นิพนธ์ กล่ำกล่อมจิตร. นักดนตรีไทย. (1 กันยายน 2558). สัมภาษณ์.
บุญธรรม ตราโมท . 2548 . คำบรรยายวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย . สำนักการสังคีตกรมศิลปากร
พูลผล อรุณรักถาวร . 2550 . บูชาครูดุริยเทพ . กรุงเทพฯ : บริษัท ทรงสิทธิวรรณ.