หญ้าเขียวขจีสวยที่สุดของทุ่งแสลงหลวง
โดย...คุณอุษณีย์ โฉมฉายแสง วิทยากร และ
คุณธัชชัย โพธิ์นาค วิทยากร
นักวิชาการโสตทัศน์ศึกษาชำนาญการ
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

(เรียบเรียงเนื้อหาจากบทวิทยุกระจายเสียง ปี 2559)


ภาพจาก Web Site
http://www.ikhaokho.com/wp-content/uploads/2016/09/12.jpg
https://f.tpkcdn.com/review-source/d651a958-5e06-0ed1-3270-588af5a2b384.jpg
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 11-11-60

          ถ้าพูดถึงหญ้าสีเขียวเราจะนึกถึงอะไร นึกถึงสนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล จะมีสักกี่คน ที่จะนึกถึงทุ่งหญ้ากว้าง ๆ มองไปทางไหนก็จะมีแต่สีเขียวขจีสดสวยงามจริง ๆแต่ฟังดูแล้วห่างไกลมาก
สำหรับชีวิตจริงของคนในเมืองหลวง และถ้าพูดถึงอุทยานแห่งชาติก็จะทำให้นึกถึง น้ำตก ภูเขา ธรรมชาติแบบป่าร้อนชื้น ของแหล่งท่องเที่ยวที่มีทุ่งหญ้าที่มีสีเขียวขจีสวยที่สุด ก็ขอแนะนำให้รู้จัก
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
          อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอเขาค้อ อำเภอวังโปร่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสภาพ
ธรรมชาติ ทิวทัศน์และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม มีสถานที่เที่ยว เช่น ถ้ำ น้ำตก ทุ่งหญ้าโล่งใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ หรือ
1,262 .40 ตารางกิโลเมตร ชื่อของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง สันนิษฐานว่ามาจากชื่อของต้นไม้ที่ชื่อต้นแสลงใจ ของทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ของอุทยาน เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่
และผลเมื่อสุกจะมีสีแสด เมล็ดให้สารสตริกนิน เป็นสารเบื่อเมา ซึ่งคาดว่าในสมัยก่อนคงจะมีต้นแสลงใจขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ มีป่า
หลายชนิด และมีสัตว์ป่าชุกชุม จึงตั้งชื่อว่าทุ่งแสลงหลวง
          เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่น ๆ ในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติใน
ปี พ.ศ. 2503 กรมป่าไม้จึงให้เจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจและทำเครื่องหมายแนวเขตของป่าทุ่งแสลงหลวง เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติ
เห็นชอบให้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 801,000 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าทุ่งแสลงหลวงในท้องที่ตำบลวังนกนางแอ่น ตำบลวังชมพู
ตำบลบ้านมุง อำเภอวังทอง ตำบลหนองกระท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าพล อำเภอเมือง ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก ตำบลวังโปร่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ให้เป็น
อุทยานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 11 ลงวันที่ 29 มกราคม 2506 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3 ของประเทศ
          ต่อมากองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ได้มีหนังสือที่ กห 0334/137 ลงวันที่ 7 มกราคม 2514 ขอใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ที่หมู่บ้านเข็กน้อย อำเภอนครไทย จังหวัด
พิษณุโลก เพื่อจัดตั้งกองร้อยชาวเขาอาสาสมัคร กรมป่าไม้ได้นำเสนออนุกรรมการอุทยานแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2514 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2514 มีมติเห็นควรให้ทำการเพิกถอน
พื้นที่ดังกล่าวให้ทางราชการทหาร โดยออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เป็นพื้นที่หวงห้ามทางราชการทหาร เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่
357 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงบางส่วน และกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติขึ้นใหม่ รวมเนื้อที่ประมาณ 781,000 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 190 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ต่อมาอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงได้มีหนังสือที่ 49/2517 ลงวันที่ 17 เมษายน 2517 ว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ 357 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 กำหนดให้บริเวณที่ดินป่าทุ่งแสลงหลวงเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการตรวจสอบของอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่าตามประกาศมิได้ระบุบางตำบลที่เป็นเขต
อุทยานแห่งชาติไว้ด้วย กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 5/2517 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2517 มีมติให้ขยายบริเวณที่ดินส่วนที่มิได้ระบุในประกาศ
คณะปฏิวัติให้ถูกต้อง โดยมีพระราชกฤษฎีกาให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติและกำหนดบริเวณที่ดินทุ่งแสลงหลวงในท้องที่ตำบลวังนกนางแอ่น ตำบลชมพู อำเภอหล่มสัก ตำบลท่าพล
อำเภอเมือง ตำบลวังโปร่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 101 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2518 รวมพื้นที่ 789,000 ไร่


ภาพจาก Web Site
http://www.paiduaykan.com/76_province/north/phetchabun/pic/salangluang35.jpg
https://images.thaiza.com/37/37_20120718140118..jpg
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 11-11-60

          พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือถึงใต้ และเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดพิษณุโลกกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ความสูง
โดยเฉลี่ยประมาณ 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดสูงสุดคือบริเวณเขาแค สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,028 เมตร เนื่องจากภูเขาบริเวณนี้เป็นภูเขาหินทรายลักษณะ
ของภูเขาจะเป็นภูเขายอดต่ำ หรือมีที่ราบบริเวณยอดเขา แต่บริเวณรอบเขาจะลึก และก็มีความลาดชันสูง เนื่องจากหินทรายเป็นหินที่ง่ายต่อการถูกกัดเซาะ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำสำคัญ
หลายสาย เช่น ห้วยเข็กใหญ่ ห้วยเข็กน้อย ลำน้ำทุม คลองชมพู คลองน้ำปอย คลองวังทอง และห้วยเกาะ ลักษณะภูมิอากาศประมาณ 29 องศาเซลเซียส ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือน
ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,300 ถึง 1,700 มิลลิเมตรต่อปี ปริมาณมากที่สุดในเดือนกันยายน และในฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปอากาศจะหนาว
เย็นมาก เหมาะแก่การท่องเที่ยว

          พืชพรรณและสัตว์ป่าของอทุยานแห่งชาติทุ่งแสลงสลวง จะเห็นได้ว่าสภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาตินี้ประกอบด้วย
          1. ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้สำคัญที่พบเป็นไม้ที่สำคัญ ได้แก่ หว้าหิน ก่อหิน ก่อเดือย ก่อตาหมู หว้าดง ทับโล้ ตำแยต้น กระดูกไก่ สน 2 ใบ
พืชพื้นเมืองล่างเป็นพวกมอส เฟิน เถาวัลย์ หวาย และหว่านชนิดต่าง ๆ
          2. ป่าดิบชื้น พบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไปและตามร่องน้ำ หรือที่ลาดเขาที่มีความชุ่มชื้นสูง ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อตลับ ตาเสือ มะไฟ ดำดง ชะมวง มะกอก
ยมหอม ยางโทน กระเบา กลัก จำปาป่า ตะเคียนหิน อบเชย พญาไม้ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัย ได้แก่ ข้าหลวงหลังลาย ชายผ้าสีดา มะพร้าวนกคุ้ม ม้ากระทืบโรง หวาย เฟิน และพืชในตระกูล
ขิง ข่า
          3. ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่บริเวณความสูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตร ขึ้นไป ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ ยอป่า เต็งตานี มะอาด ยางโทน ยางนา แคทราย กระบาด มะกล่ำต้น
ขี้อาย ก่อข้าว กฤษณา
          4. ป่าสนเขา ขึ้นอยู่ในที่สูง 700 ถึง 900 เมตร จากระดับน้ำทะเล ลักษณะเป็นป่าโปร่งสลับทุ่งหญ้า มีสน 2 ใบ เฮียง เหมือดแฮ เหมือดคน สานใย ชะมวง ตับเต่าต้น พืชพื้นล่าง ได้แก่
หญ้าขน หญ้าพรมบาง หญ้าคา พง ปรก กระเจียว และเฟิน
          5. ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่ในระดับความสูง 400 ถึง 700 เมตร จากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่แดง ตะแบกเปลือกบาง กระบาก ซอ ปอสำโรง เก็จดำ ตีนนก แต้ว
พลับพลา ชิงชัน พยูง โมกมัน พืชพื้นล่างเป็นไผ่ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ กลอย กระทือ ว่านมะหูกาฬ โด่ไม่รู้ลม
          6. ป่าเต็งรัง พบขึ้นอยู่ในระดับความสูงประมาณ 400 เมตร ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ รัง เฮียง กลาด พลวง เต็ง มะม่วงป่า ตับเต่าต้น ส่านใหญ่ มะเกิม งิ้วป่า มะขามป้อม พืชพื้นล่าง
ได้แก่ หญ้าเผก หญ้าคา หญ้าขน ปุก กราวเครือ กระเจียว ไพล
          7. ทุ่งหญ้า เป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่ ประกอบด้วยหญ้าชนิดต่าง ๆ มีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ในสภาพแคระแกลน ประกอบด้วย เหมือดคน ส่านใหญ่ เฮียง มะขามป้อม พืชพื้นล่างเป็นหญ้าขน
หญ้าคมบาง หญ้าคา พง กระเจียว กลอย ปุก ก้ามปู ก้ามกุ้ง ว่านมหากาฬ ข่าป่า อบเชยเถา คราม กระเปง
           สัตว์ป่าที่พบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงจะแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ ประกอบด้วยสัตว์นานาชนิด เช่น ช้างป่า กระทิง ลิงกัง ข่างแว่นถิ่นเหนือ กวางป่า หมูป่า กระต่ายป่า
กระแตธรรมชาติ กระรอกหลากสี กระเรน หนูท้องขาว ค้างคาวขอบหูขาว นกเขาเต้าธรรมดา นกแอ่นตา นกตะขาบทุ่ง นกนางแอ่นบ้าน นกปรอทเหลืองหัวจุก นกจับแมลงหัวเทา เต่าหับ ตะพาบน้ำ ตะกวด ตุ๊กแกบ้าน กิ่งก่าป่า จิ้งเหลนหลากหลาย งูลายสอธรรมดา งูทางมะพร้าวธรรมดา งูเขียวหัวจิ้งจก อึ่งกลายลายเลอะ เขียดอ่อง กบหนอง ปาดแคระธรรมดา ในบริเวณแหล่งน้ำ พบปลาที่
อาศัยอยู่มีหลายชนิด เช่น ปลาซิว ปลาพุง ปลาขาว ปลาเขียว ปลามุด ปลาติดดิน ปลารากกล้วย ปลากั่ง

          สถานที่ที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติมี ดังนี้
          1. ทุ่งแสลงหลวง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาแห่งชาติหนองแม่นา ประมาณ 25 กิโล เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา มีพื้นที่ใหญ่กว้างโล่งอยู่ประมาณ 16 ตารางกิโลเมตร เส้นทางจะตัดผ่านป่า
เบญจพรรณ และจะพบสัตว์ป่าที่ออกมาหากินอยู่ข้างทาง
          2. ทุ่งนางพญา เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา มีเนื้อที่ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นป่าสนสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ถ้ามาก่อน 10 โมงเช้าจะพบความงาม จะมีแดด
พาดผ่าน บริเวณป่าสนจะสวยและงดงามมาก เหมาะแก่การนั่งชมวิว หรือตั้งค่ายและพักแรม การเดินทางถ้าห่างจากทุ่งแสลงหลวงไปประมาณ 16 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวบางกลุ่มนิยมขับรถ
ไปกันเอง แล้วก็ไปกางเต้นท์กันที่นี่
          3. ทุ่งโนนสง เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนาสลับป่าสน ตั้งอยู่ตรงใจกลางอุทยาน มีลักษณะคล้าย ๆ ทุ่งแสลงหลวงผสมกับทุ่งนางพญา ช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีดอกไม้อยู่หลายอย่างสวยงาม
มาก เช่น เอื้องม้าวิ่ง กระดุมเงิน ยี่ฮับ ปีนัง หม้อข้าวหม้อแกงลิง ทุ่งหญ้านี้จะเหมาะสำหรับการเดินป่า ช่วงเวลาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประมาณเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน จะมีการกาง
เต้นท์นอนที่นี่ได้ จะมีสะพานแขวน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 3 กิโลเมตร ทั้ง 2 ข้างจะตัดผ่านป่า สามารถเดินเที่ยวพักผ่อนได้อย่างร่มรื่น
          4. แกว่งวังน้ำเย็น จะอยู่ห่างจากอุทยานหนองแม่นาประมาณ 7 กิโลเมตร เดินเข้าไปสภาพป่าจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จุดสุดท้ายการขี่จักรยานชมทุ่งหญ้าสะวันนา เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและ
สามารถกางเต้นท์ได้


ภาพจาก Web Site
http://d2ouvy59p0dg6k.cloudfront.net/img/original/group_of_elephants_by_hand_suchin_wongsuwan_wwf_thailand_20120517.jpg
https://www.matichon.co.th/online/2014/09/14116287371411628747l.jpg
http://www.seeitlivethailand.com/assets/image/editor/nnMC8R6irD1KIdfOQX6M.jpg
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 11-11-60

          จุดกางเต้นท์ที่อุทยานแห่งชาติแสลงหลวงจะแบ่งเป็น 2 โซน 2 บรรยากาศให้เลือก แล้วแต่ว่าจะต้องการสัมผัสแบบไหน ได้แก่
          โซนที่ 1 อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงโซนหนองแม่นาเขาค้อ จะเป็นบรรยากาศของทุ่งหญ้าสะวันนา ท่ามกลางกุล่มสนเขา และทะเลหมอกยามเช้า จุดกางเต้นท์ที่แห่งนี้อยู่ห่างจากจุด
ชมวิวทะเลหมอกเขาค้อประมาณ 10 ถึง 20 กิโลเมตร
          โซนที่ 2 อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงโซนอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก บรรยากาศริมแม่น้ำเข็ก ร่มรื่นเย็นสบาย จุดกางเต้นท์ที่แห่งนี้อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 80 บนถนนพิษณุโลก
หล่มสัก
          การเดินทางไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ถ้าไปทางรถยนต์ส่วนตัวจะมี 2 เส้นทาง โดยเส้นทางแรกจากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ไปทางอำเภอหล่มสัก
ส่วนเส้นทางที่ 2 จากจังหวัดพิษณุโลกใช้เส้นทางหมายเลขที่ 12 เส้นพิษณุโลกหล่มสัก และถ้าไปรถ บขส. ก็ต้องไปรถ บขส. พิษณุโลก โดยนั่งรถพิษณุโลกหล่มสัก เพชรบูรณ์ ถึงหลักกิโลเมตร
ที่ 80 จะถึงที่ทำการอุทยาน แต่ถ้าจะเดินทางไปทุ่งแสลงหลวงก็ต้องนั่งรถไปลงที่ 3 แยกตำบลแคมสน โดยต่อรถหรือจะเหมารถ 2 แถวต่อไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล. 8 หนองแม่นา.



นางสาวเยาวลักษณ์  ศิริสุวรรณ เรียบเรียง
(เรียบเรียงเนื้อหาจากบทวิทยุกระจายเสียง ปี 2559)
กลุ่มที่ 4 ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม / การท่องเที่ยว
กลุ่มรายการที่ 4/23-59
CD-A4(3/5)-59