ย้อนอดีตเมืองสุพรรณบุรี ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ
โดย...คุณชินาทร  กายสันเทียะ
ประธานชมรมยุวชนมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา
ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
อีเมล์ : rachachinakawin@gmail.com

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)

 

          สุพรรณบุรี ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่ราบภาคกลางสืบสานความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตกาล พบหลักฐานทางโบราณคดีว่า เมืองสุพรรณบุรี มีอายุ
ไม่ต่ำกว่า ๓,๕๐๐ – ๓,๘๐๐ ปี จากโบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสำริด ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาถึงยุคสมัยที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในแถบดินแดน
สุวรรณภูมิและสุพรรณบุรี คือ ทวารวดี
          ทวารวดี อาณาจักรและยุคสมัยหนึ่งในเรื่องราวความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่พบหลักฐาน ที่บันทึกระบุไว้ว่า อาณาจักรทวารวดีนี้ มีความเจริญรุ่งเรือง
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ -๑๘ และหลังจากนั้นจึงก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ ยุคสมัยที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นมีพื้นที่ตั้งอยู่ในดินแดน
ประเทศไทย (สยาม) ปัจจุบัน
          คำว่า ทวารวดี มีปรากฏในบันทึกการเดินทางของพระภิกษุจีน เหี้ยนจัง (เสวียนจั้ง) หรือที่รู้จักในนวนิยายจีน เรื่องไซอิ๋ว ว่า พระถังซัมจั๋ง ที่ได้บันทึกเรียก ทวารวดี ว่า
โตโลโปตี และในเหรียญเงินโบราณ มีข้อความจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” (แปลว่า บุญของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวารวดี) ที่พบในบริเวณแถบจังหวัด
นครปฐม สุพรรณบุรี และลพบุรี เป็นการยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรทวารวดี ที่อยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย โดยมีเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองหลวงและ
เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา โดยมีนิกายเถรวาทเป็นหลัก และใช้ภาษามอญ ซึ่งพบศิลาจารึกภาษามอญโบราณหลายหลัก อีกทั้งยึดคติทางศาสนารูปแบบ ศิลปะคุปตะจาก
อินเดีย ที่แผ่ขยายวัฒนธรรมไปทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ โบราณสถานโบราณวัตถุที่พบ ในเมืองอู่ทองนั้น เป็นศิลปกรรมในสมัยทวารวดี เช่น เศียรพระพุทธรูปทองคำ เจดีย์
พระพุทธรูปปางประทานธรรมจักร ในขณะเดียวกันศิลปะศรีวิชัยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานก็ได้เผยแพร่เข้ามา โดยได้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิ-
สัตว์ปัทมปาณิ


เหรียญเงินโบราณ มีข้อความจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ”
(แปลว่า บุญของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวารวดี) ที่พบในบริเวณแถบจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี และลพบุรี

          เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่รุ่งเรื่องในแถบจังหวัดสุพรรณบุรี คือ เมืองอู่ทอง มีลักษณะตัวเมืองล้อมรอบด้วยคูน้ำและคันดิน มีศาสนสถานทางพุทธศาสนาตั้งอยู่
ภายในและภายนอกเมือง ถือได้ว่าเป็นเมืองโบราณแห่งหนึ่งในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ เจริญขึ้นจากการติดต่อค้าขายกับชุมชนภายนอก โดยเฉพาะ
อินเดีย และมีพัฒนาการทางสังคมที่ก้าวหน้า เช่น การใช้ตัวอักษรและภาษา การใช้ระบบเงินตราแลกเปลี่ยนสินค้า ระบบการปกครอง คติความเชื่อทางศาสนา รวมไปถึงความ
เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ฯลฯ
          เมืองโบราณอู่ทองแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุราว ๒๕๐๐-๒๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้พบ เครื่องมือหินขัด ภาชนะดิน
เผา แวปั่นด้ายดินเผา เป็นต้น ต่อมาได้พัฒนาตนเองสู่สังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์ ทำการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๙ เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย
ตะวันออกกลาง และยุโรป มีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการค้า และเมืองท่าร่วมสมัยกับเมืองออกแก้ว ของประเทศเวียดนาม ได้พบลูกปัดแก้ว และเหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมัน
สมัยจักรพรรดิวิคโตรินุส เป็นต้น ได้รับรูปแบบทางศาสนา ศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย ได้พบประติมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ ๓ องค์อุ้มบาตร และพระพุทธรูปปูนปั้นนาค
ปรกศิลปะแบบอมราวดี เป็นต้น
          ศาสตราจารย์ ฌอง บัวเซอลีเยร์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส เชื่อว่าเมืองอู่ทองน่าจะเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิ ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งพระสมณฑูตเข้า
มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๗๐-พ.ศ. ๓๑๑
          นายพอล วิทลีย์ เชื่อว่าเมืองจินหลิน ตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง เป็นรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมัน แห่งอาณาจักรฟูนันปราบได้ ในพุทธศตวรรษที่ ๙ เมื่ออาณาจักรฟูนันล่มสลายลง
ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ รัฐทวารวดีได้เจริญขึ้นมาแทนที่ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และรุ่งเรืองสูงสุดในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ จากบันทึกของพระภิกษุจีน เหี้ยนจัง
ยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรทวารวดี มีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวง และศูนย์กลางทางศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และวัฒนธรรมทวารวดี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธลัทธิ
เถรวาทเป็นหลัก ใช้ภาษามอญ ยึดถือคติทางศาสนา รูปแบบศิลปะคุปตะจากอินเดีย โบราณสถาน โบราณวัตถุที่พบในเมืองอู่ทอง เป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดี เช่น เจดีย์เศียร
พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปางประทานธรรม ธรรมจักร ในขณะเดียวกันศิลปะศรีวิชัยซึ่งนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานได้เผยแพร่เข้ามา ได้พบพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร
และพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ เป็นต้น เมืองอู่ทองได้หมดความสำคัญ และร้างไปในราว พุทธศตวรรษที่ ๑๖ จึงรอดพ้นจากอิทธิพลเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ (สมัยพระเจ้าชัย
วรมันที่ ๗) โดยปรากฎเมืองโบราณสุพรรณบุรีเจริญขึ้นมาแทนที่เมืองอู่ทองนั้น ยังปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทองทรงอพยพ
ผู้คนหนีโรคระบาด อหิวาตกโรค จากเมืองอู่ทองเมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๐ ไปสร้างเมืองหลวงใหม่คือ กรุงศรีอยุธยา แต่ต่อมาเมื่อได้มีการขุดค้นหาหลักฐานในบริเวณเมืองอู่ทองแล้ว
มีมติลงความเห็นว่า เมืองนี้เป็นเมืองเก่าก่อนกรุงศรีอยุธยาและร้างไปนานนับร้อยปี ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยา จึงเชื่อกันว่าพระเจ้าอู่ทองน่าจะไม่ได้หนีโรคระบาด
ดังที่กล่าวไว้
          ตามหลักฐานทางโบราณคดีได้ปรากฏการกล่าวถึง สุพรรณภูมิ ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ระบุว่าเป็นนครรัฐที่มีความสำคัญมาก่อนกรุงศรีอยุธยา เมื่อ
มีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมืองสุพรรณบุรีจึงจัดอยู่ในฐานะเมืองลูกหลวงซึ่งเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญอีกด้วย
          ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองสุพรรณบุรีในฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ต้องผ่านศึกสงครามหลายต่อหลายครั้งสภาพเมืองตลอดจน
โบราณสถานถูกทำลายเหลือเพียงซากปรักหักพัง จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองสุพรรณบุรีได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ และตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน (ลำน้ำสุพรรณ)
มาจนตราบทุกวันนี้


พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ที่เชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะแห่งพระมหาวีรกรรมสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. ๒๑๓๕

          ความสำคัญของสุพรรณบุรีในด้านประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นประวัติสาสตร์การสงครามที่สำคัญของไทย คือ ชัยชนะแห่งสงคราม
ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงมีชัยชนะเหนือสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี (พม่า) ณ สมรภูมิยุทธดอนเจดีย์ เป็นพระมหาวีรกรรมการกระทำคชยุทธ คือ
การรบบนหลังช้างอันยิ่งใหญ่ที่ได้ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย และในปัจจุบันได้มีการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ สำหรับใน
ด้านวรรณคดี สุพรรณบุรีเป็นเมืองต้นกำเนิดแห่งตำนาน "ขุนช้างขุนแผน" วรรณคดีไทยเรื่องราวและสถานที่ที่ปรากฏตามท้องเรื่องยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน อาทิ บ้านรั้วใหญ่
วัดเขาใหญ่ ท่าสิบเบี้ย ไร่ฝ้าย วัดป่าเลไลยก์ วัดแค อำเภออู่ทอง และอำเภอศรีประจันต์
          ปัจจุบันจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๑๐๗ กิโลเมตร จังหวัดที่อยู่ติดกัน (จากทิศเหนือ วนตามเข็มนาฬิกา)
ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และกาญจนบุรี มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า "เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรือง
เกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง"


หลวงพ่อโต พระพุทธรูปสำคัญของสุพรรณบุรี เป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

          ในส่วนแหล่งท่องเที่ยวของสุพรรณบุรีนั้น ถ้าไปเที่ยวสุพรรณบุรีเห็นทีจะขาดไม่ได้กับการไหว้พระที่วัดป่าเลไลย์วรวิหาร หรือไปสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ที่ประดิษฐาน
เทวรูปพระนารายณ์ แล้วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ที่เล่าเรื่องราวของชนชาติจีนที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นย่านชุมชนหรือเมืองที่ชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวน
มาก และหากอยากจะเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของสุพรรณบุรีผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ต้องไม่พลาดไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อู่ทอง สำหรับการท่องเที่ยวแบบย้อนยุคชมวิถีชีวิตดั่งเดิมก็มีอีกแบบ ที่ตลาดสามชุก หรือตลาดเก้าห้อง รับรองว่าเต็มอิ่มกับความอร่อยและความสนุกในการเที่ยวแบบย้อนอดีต
แน่นอน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ หากท่านมีเวลาว่างวันหยุดพักผ่อน แล้วกำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก หรือท่านอยู่ในจังหวัด
ต่างๆ ก็น่าจะหาโอกาสสักครั้ง ไปเยี่ยมเยือนจังหวัดสุพรรณบุรี




เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

๑. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ๒๕๕๗. จังหวัดสุพรรณบุรี. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา
http://www.tat.or.th/province.asp?prov_id=72. (๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗)
๒. เซเดส์, ยอร์ช. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้. พิมพ์ครั้งที่ ๒
(แก้ไขใหม่). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, ๒๕๐๔.
๓. สุจิตต์ วงษ์เทศ. อู่ทอง ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๖.