พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ บุคคลสำคัญของโลก ปีพุทธศักราช
๒๕๕๖
โดย...คุณชินาทร กายสันเทียะ
ประธานชมรมยุวชนมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา
ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
อีเมล์ : rachachinakawin@gmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)
|
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเครื่องบรมขัตติย ราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระมาลาเส้าสูง
ตามขัตติยโบราณราชประเพณี |
|
เนื่องในโอกาสที่องค์การการศึกษา
วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มีมติให้ประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณยกย่องให้พระบาท
สมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก
ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์
และสื่อสารมวลชน ปี พุทธศักราช ๒๕๕๖ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบ
๑๐๐ ปี ในการประกอบพระราชกรณียกิจในประเทศไทย หลังจากเสด็จ ฯ กลับจาก
การศึกษาณ ประเทศอังกฤษ ๒๐ เมษายน ๒๔๕๗ และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบ
๑๐ รอบ ปีนักษัตร พระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ๘
พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นวาระที่ปวงชนชาวไทยจะได้น้อมรำลึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญต่อชาติต่อประชาชนเป็นอเนกประการ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๗ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕
กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม
๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ พระที่นั่งสุทธาศรีภิรมย์
หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระบรมราชชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
พระราชทานพระนามเมื่อการพระราชพิธีสมโภช
เดือนและขึ้นพระอู่ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์
ฯ และมีสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระเชษฐภคินีร่วมพระครรโภธรสมเด็จพระศรีพัชรินทรา
บรมราชินีนาถ ๗ พระองค์ ได้แก่
๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๖
๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง
๔. สมเด็จพระอนุชาธิราช
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๕. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
๖. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
๗. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
เมื่อเจริญพระชนม์ครบกำหนดที่จะตั้งการพระราชพิธีโสกันต์และเฉลิมพระนามในพระสุพรรณบัฏตามขัตติยราชประเพณีแล้ว
ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด
พร้อมกันนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ที่มีพระชันษาครบกำหนดโสกันต์เช่นกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์และเฉลิมพระนามของทั้งสองพระองค์ขึ้นพร้อมกันบริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ โดย
ทรงรับการสถาปนาลิมพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยธรรมราชา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเจ้า
ลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส
อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธ์ มหามงกุฎราชพงษ์บริพัตร
บรม
ขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร
กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา
เมื่อเจริญพระชนมพรรษาได้พอสมควร
ทรงเข้ารับการศึกษาตามประเพณีขัตติยราชกุมาร และจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ ต่อมา ครั้น
ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์แล้ว ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ สหราชอาณาจักร ในกรกฎาคม
พ.ศ. ๒๔๔๙ ในขณะนั้นมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ทรงเริ่มรับการศึกษาในวิชาสามัญ
ในวิทยาลัยอีตัน กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมชั้นหนึ่งของสหราชอาณาจักร
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอีตันแล้ว ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในการศึกษาวิชาทหาร
ณ
Royal Military Academy Council เมืองวูลิช ทรงเลือกศึกษาวิชาทหารแผนกทหารปืนใหญ่ม้า
แต่ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ในปี
พ.ศ. ๒๔๕๓ จึงได้เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
และได้ฉลองพระเดชพระคุณถวายงานสมเด็จพระบรมชนกนาถในวาระสุดท้าย
ด้วยการประคองพระบรมโกศคู่กับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ขณะอัญเชิญพระบรมศพเวียนพระเมรุมาศ หลังจากนั้นจึงเสด็จกลับไปศึกษาต่อ
เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ภายหลังทรงเข้าประจำการ ณ กรมทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษ
ณ เมืองอัลเดอร์ช้อต ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ ถึงเดือนกันยายน
พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งเป็นช่วงเวลาการซ้อมรบ โดยรัฐบาลอังกฤษตามความเห็นชอบของที่ประชุมกองทหาร
(Army Council) และได้รับอนุญาตให้ทรงเครื่องแบบนายทหารอังกฤษ
สังกัดใน L Battery Royal Horse Artillery ทรงได้รับสัญญาบัตรเป็นนายทหารยศร้อยตรีกิตติศักดิ์แห่งกองทัพอังกฤษ
และในกาลที่พระองค์สำเร็จการศึกษาจากสถานที่นี้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระยศนายร้อยตรีนอกกอง สังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
ต่อมาได้
เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยโทและนายทหารนอกกอง สังกัดกรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์
ในปี พ.ศ.
๒๔๕๗ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นในยุโรป ครั้นสงครามได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ เสด็จกลับประเทศไทย และเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ต่อมาในปี พ. ศ. ๒๔๖๐
ได้ทรงผนวชและจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยและรับใช้
บวรพุทธศาสนา จากนั้นทรงลาผนวช
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี |
|
เมื่อทรงลาผนวชและทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกอบพระราชพิธีอภิเษก
สมรสพระราชทาน แก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี (หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์) ขึ้น ณ พระที่นั่งวโรภาษ
พิมาน พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ และเนื่องจากไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา
ภายหลังจึงทรงรับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต
พระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นพระราชโอรสบุญธรรม ทั้งยังพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ พระราช
ทานสร้อยพระปรมาภิไธย ให้ใช้เป็นราชสกุล ศักดิเดชน์ อีกด้วย
เมื่อครั้นยังดำรงพระอิสริยศที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงปฏิบัติราชการโดยพระวิริยะอุตสาหะ ปรากฏพระเกียรติคุณและสติปัญญา
จนสามารถรับราชการสำคัญสนองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณพระบรมเชษฐาธิราชได้มิได้ขาดตกบกพร่องทั้งยังทรงปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณได้เป็นอย่างดี
ภาย
หลังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เจ้านายพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ และคณะเสนาบดี ได้ประชุมมีมติเห็นชอบเป็น
เอกฉันท์ ให้อัญเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อพระบรมเชษฐาธิราช
และทรงรับพระบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๔๖๙ โดยเฉลิมพระปรมาภิโธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาหม่อมเจ้า
รำไพพรรณี พระวรชายา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีใน
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชกรณียกิจที่สำคัญนานัปการที่ทรงพระราชบำเพ็ญเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง
ในด้านต่างๆ ด้านการปกครอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งสภาต่างๆเพื่อปฏิบัติ
หน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินขึ้น ๓ คณะ ประกอบด้วย อภิรัฐมนตรีสภา
เสนาบดีสภา และ สภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็น
สาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ในด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แยกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครออก
เป็น ๒ หอ คือ หอพระสมุดวชิราวุธ ตั้งอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุเช่นเดิมให้เป็นที่เก็บหนังสือฉบับพิมพ์และ
หอพระสมุดวชิรญาณ ให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวเขียนและตู้พระธรรม ทรง
ปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งราชบัณฑิตยสภา อีกทั้งให้มีจัดพิมพ์
พระไตรปิฎกสยามรัฐ ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์
ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม
พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ด้วยพระราชดำริที่มี
พระราชประสงค์ที่จะทรงให้สยามในขณะนั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว
กอปรกับไม่ทรงต้องการให้สถานการณ์ขัดแย้งบานปลายและไม่เกิดการ
สูญเสียขึ้นในชาติ จึงทรงยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการประชาธิปไตยของไทยพระองค์แรก
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับแรกของไทย เมื่อวันที่
๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรป |
|
หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม
พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศ
ในแถบยุโรป พร้อมทั้งเสด็จ ฯ ประทับ ณ สหราชอาณาจักร เพื่อทรงเข้ารับการถวายการผ่าตัดและรักษาพระเนตร
และต่อมาทรงตัดสินพระราชหฤทัยประกาศสละราชสมบัติ
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ หลังจากทรงครองสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลาเวลา
๙ ปี ๓ เดือน ๔ วัน และตัดสินพระราชหฤทัยประทับ ณ สหราชอาณาจักร จนกระทั่งเสด็จ
สวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ด้วยพระอาการพระหทัยวายฉับพลัน
ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ (Compton House) ขณะมีพระชนมพรรษาได้ ๔๘ พรรษา
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย
ณ สุสานโกลเดอร์ส กรีน (Golders Green) สหราช
อาณาจักร ซึ่งต้องทรงนิราศจากแผ่นดินพระบรมราชสมภพไปเสด็จสวรรคตถึงยังต่างแดน
ด้วยหิตานุหิตประโยชน์ที่ทรงบำเพ็ญต่อชาติต่อประชาชนเป็นอเนกประการ
ประกอบกับพระราชกุศลที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญ จงอำนวยให้ทรง
ประสบอิทธิคุณมนูญผล เสวยสุขด้วยทิพยสมบัติในสัมปรายภพ จงทุกประการเทอญ
เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................
๑. จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า.
เกิดวังปารุสก์ ฉบับสมบูรณ์ : สมัยบูรณาญาสิทธิ
ราชย์และสมัยประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์,
๒๕๔๗.
๒. ประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), พระยา. จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๖๘. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท. , ๒๔๙๒ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในการเชิญพระบรมอัฐิเสด็จคืนเข้าสู่
พระนคร พุทธศักราช ๒๔๙๒
๓. มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. ชีวิตเหมือนฝัน. กรุงเทพฯ : แพรว , ๒๕๔๔.
|