การสร้างสมดุลชีวิตด้วยดนตรีบำบัด (Musical Therapy)
โดย...นางสาวเพ็ญประภา  ต้นวงศ์
อาชีพปัจจุบัน รับราชการ(พนักงานส่วนตำบล)
องค์การบริหารส่วนตำบลพิงพวย
อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ
อีเมล์ : penpratoog@gmail.com

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)



ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 27-10-58

          “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” จากบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งทางด้านดนตรี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้กล่าวถึงความน่า
อัศจรรย์ของเสียงเพลง อย่างที่ว่า แม้จะมีเพียงเสียงเพลงลอยมาให้ได้ยิน แต่ก็ทำให้เรามีอารมณ์ร่วมได้ไม่น้อย เสียงเพลงสามารถชวนให้เกิดอารมณ์เศร้า หรือทำให้ปลาบปลื้ม
ยินดี อีกทั้งทำให้หวาดกลัวจนขนลุกตั้งชันเสียวสันหลังขึ้นมาก็ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะดนตรีส่งผลต่อร่างกายและจิตใจรวมถึงการทำงานของสมองของเรานั่นเอง มีข้อพิสูจน์จากผล
การวิจัยหลายเรื่องที่แสดงว่า ดนตรีส่งผลต่อร่างกายโดยสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันโลหิต การตอบสนองของม่านตา
ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการไหลเวียนโลหิต ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อจิตใจและสมอง คือ สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ สติสัมปชัญญะ จินตนาการ การรับ
รู้สภาพความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้นอกจากเราจะใช้ประโยชน์จากดนตรีเพื่อความสุนทรีแล้ว ปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้ประโยชน์เพื่อการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยและคนทั่วไป
มากขึ้น ในศาสตร์ของ ดนตรีบำบัด เพราะพบว่าดนตรีใช้ได้ผลดียิ่งกับโรคทางกายและทางจิตเวช
          ดนตรีบำบัด (Music Therapy) เป็นกระบวนการนำดนตรีหรือองค์ประกอบอื่นๆ ทางดนตรี มาประยุกต์ใช้เพื่อการปรับเปลี่ยน พัฒนา บำบัดฟื้นฟูเยียวยาทางด้านร่างกาย
จิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่มีความเครียด ดนตรีจะทำให้อารมณ์ด้านลบที่ถูกเก็บไว้ในร่างกายและจิตใจถูกเปิดออก และนำมาแปรเปลี่ยนไปในเชิง
สร้างสรรค์ เมื่อได้รับการดูแลจากกระบวนการที่เหมาะสม ก่อให้เกิดกำลังใจ และค้นพบสภาวะสมดุลทางอารมณ์ อันจะนำไปสู่การเผชิญกับปัญหาและต่อสู้กับโรคภัยได้ โดย
นักดนตรีบำบัดเป็นผู้ดำเนินการโดยอาจจะอยู่ในรูปการฟังดนตรีหรือเล่นก็ได้ เป้าหมายของดนตรีบำบัดไม่ได้เน้นที่ทักษะทางด้านดนตรี แต่จะมุ่งเน้นด้านพัฒนาการทางร่างกาย
จิตใจ อารมณ์ สังคม ขึ้นอยู่กับสภาพและความจำเป็นของแต่ละบุคคลที่มารับการบำบัด ในปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้บำบัดโรคต่างๆ ได้อย่างมีผลดียิ่งทั้งโรคทางกายและทาง
จิตเวช (กรีกเป็นชาติแรกใช้พิณดีดรักษาโรคซึมเศร้า) มีการค้นพบว่าดนตรีสามารถนำมาใช้ลดอาการเจ็บปวดจากการคลอด จากการถอนฟัน รักษาคนที่มีความเครียดกังวล
แยกตัวจากสังคม หรือคนพิการซ้ำซ้อนได้ดีตลอดจนผู้ป่วยจิตเวช ผู้มีพฤติกรรมถดถอย เหงาเศร้าได้ อีกทั้งยังได้นำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วยจิตเวชพบว่าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรัง
พฤติกรรมถดถอย แยกตัว จะกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างรวดเร็ว ผู้เหงาเศร้าจะยิ้มแย้มได้ หลังจากไม่เคยยิ้มมานานแล้ว น่าแปลกใจที่เสียงเพลงสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ของคนได้ ดนตรีบำบัดสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางในคนทุกเพศทุกวัย
          1) ดนตรีกับพัฒนาการเด็ก ดนตรีช่วยกระตุ้นพัฒนาการในเด็กปกติได้ โดยการผ่อนคลายความตึงเครียด เพิ่มความสุขและความมั่นใจเตรียมเด็กให้พร้อมที่จะเรียน
รู้สิ่งใหม่ๆ โดยการฝึกประสาทหูให้รับฟังเสียงที่สูงต่ำ เรียนรู้การสร้างจินตนาการตามเสียงและจังหวะเพลง เรียนรู้การฟัง และการฝึกการทำความเข้าใจจากการสื่อสารกับครู ฝึก
การเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะเพลง การแสดงออกทางสีหน้าร่วมไปกับการเรียนรู้การเข้าสังคม และการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมชั้น เรียนรู้การฝึกความอดทนและรอคอย
คิวของตนเอง รู้จักการควบคุมอารมณ์ที่เหมาะสม และรู้จักการปลดปล่อยและระบายอารมณ์ เพื่อช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ช่วยในการพัฒนาเด็กที่มีความบกพร่อง หรือ
เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กพิการ เด็กที่มีสติปัญญาบกพร่อง เด็กออทิสติก

ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 27-10-58

คุณพ่อคุณแม่สามารถหากิจกรรมดนตรีบำบัดให้กับลูกได้นะคะ โดยหาเพลงให้ลูกฟังไม่ว่าจะเป็นเพลงคลาสสิค เพลงป๊อป หรือ เพลงอะไรก็ได้ที่ลูกชอบ โดยไม่ต้องบังคับลูก
เด็กควรจะรู้สึกชอบด้วยตัวเองและเขาก็จะฟังอย่างมีความสุข ซึ่งสามารถเริ่มให้ลูกฟังดนตรีได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง โดยการเปิดเพลงแล้วใช้หูฟังแนบที่ท้อง เมื่อลูกโตขึ้นก็ให้เรียน
ดนตรี ร้องเพลง หรือเต้นรำก็ได้ ซึ่งการเรียนดนตรีนั้นนอกจากความเพลิดเพลินแล้ว เด็กก็ยังได้ฝึกทักษะอย่างอื่น เช่น การประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับสมอง เพราะฉะนั้น
นอกจากจะช่วยบำบัดอารมณ์แล้ว ยังสามารถส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีด้านอื่นๆ ได้อีก ดนตรีจะช่วยในการพัฒนา IQ และ EQ โดยเฉพาะในช่วงวัยแรกของชีวิต ประมาณ 0-3 ปี
เป็นช่วงที่เหมาะสมมากที่จะพัฒนารากสมองให้เจริญเติบโตขึ้น นอกจากนั้นการให้ลูกน้อยฟังเพลงตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ ก็เป็นประโยชน์มากนะคะ เพราะมีรายงานการวิจัยว่า
ทารกสามารถได้ยินเสียงทางหน้าท้องแม่ สามารถแยกความแตกต่างของระดับเสียงได้ ในการจะใช้ดนตรีบำบัดสำหรับลูกน้อยนั้นเราต้องเลือกให้เหมาะสมตามสภาวะทาง
อารมณ์ของลูกในแต่ละคน ซึ่งจะแสดงออกมาทางพฤติกรรที่แตกต่างกันออกไป การเลือกดนตรีให้เหมาะสมกับภาวะทางอารมณ์ของลูก มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการ
ช่วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการแสดงอารมณ์ของลูกน้อย มีคำกล่าวว่า คนเรียนดนตรีคลาสสิค บอกถึงความเป็นคนละเอียดใจเย็น แต่คนที่คล่องแคล่วเคลื่อนไหวรวดเร็ว
ก็น่าจะชอบแบบร็อค เพราะฉะนั้น การเลือกดนตรีให้กับลูกน้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องคำนึงถึงความชอบของลูกน้อยด้วย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกอารมณ์ร้อน ถ้าลูกหงุด
หงิดฉุนเฉียวง่าย ก็อาจจะเลือกเพลงที่เย็นๆ นุ่มๆ ฟังสบายๆ เปิดไว้ทั้งวัน จะช่วยทำให้อารมณ์เย็นขึ้นได้ ซึ่งโดยมากน่าจะเป็นเพลงบรรเลงที่มีความช้าของจังหวะ มีความ
เรียบของทำนอง หรือ เพลงคลาสสิค สำหรับพ่อแม่ที่ลูกมีภาวะซึมเศร้า โดยเด็กที่อยู่ในภาวะนี้จะมีอาการซึมๆ ไม่ร่าเริง ไม่เบิกบาน ร้องไห้บ่อย ไม่สนุกกับสิ่งแวดล้อม นอนไม่
หลับหรือหลับมากผิดปกติ ความคิดช้า เคลื่อนไหวช้า หรือหงุดหงิดกระวนกระวาย รู้สึกอ่อนเพลียลองเปิดเพลงที่ดูครื้นเครง เช่น เพลงที่มีจังหวะสั้น หรือเร็ว เช่น เพลงยุค
คลาสสิคของโมสาร์ท เพลงสมัยใหม่ก็เป็นเพลงที่เต้นแล้วสนุก เช่น เพลงแร็พ ซึ่งจะช่วยทำให้อารมณ์ซึมเศร้าคลายลง และรู้สึกสนุกสนานขึ้น ผลของการบำบัดด้วยดนตรีในเด็ก
พบว่าดนตรีบำบัดจะช่วยให้โลกของเด็กจะเปิดกว้างขึ้น โดยมีดนตรีเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เสียงดนตรีจะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ลดความหวาดระแวง
และวางใจในสัมพันธภาพกับผู้อื่น อีกทั้งยังทำให้เด็กรู้จักตัวเองมากขึ้น โดยผ่านการใช้เสียงดนตรี ที่กระตุ้นให้เขาแสดงความรู้สึกต่างๆออกมา
          สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกมีสมาธิสั้น หรือ เป็นเด็กที่มีความสนใจสั้น ความหมายของเด็กสมาธิสั้น ก็คือ เด็กที่ซนหรือว่าดื้อมาก ไม่ชอบอยู่นิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่นั้น จะมีการ
ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในเรื่องของระบบประสาท และสารเคมีในสมอง หรือเกิดจากสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เราสามารถฝึกความสนใจและสมาธิให้ยาวขึ้นด้วย
การเปิดเพลง ให้ฟังวีดีโอ ร้องเพลงหรือเรียนดนตรีก็ได้ วันละประมาณ 10-20 นาที เช่น ถ้าเขาชอบเพลงของศิลปินคนไหน ก็อาจให้เขาได้ร้องเพลงนั้นก็ได้ ตามที่เขาชอบ
คุณแม่ก็จะเห็นพัฒนาการของคุณลูกที่มีความสนใจนานขึ้น มีสมาธิมากขึ้นแต่ต้องทำบ่อยๆ นอกจากนี้ผลจากการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ในเรื่อง เพลงเด็ก พบว่า การให้เด็ก
ที่มีสมาธิสั้น หัดเล่นดนตรีจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจในดนตรี และได้มีการระบายอารมณ์ออกมา ทำให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย เด็กจึงมีสภาพของอารมณ์ที่ดีขึ้น
สามารถจดจำเนื้อร้องต่างๆ ได้ และสามารถที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเด็กทั่วไปได้ดีอีกด้วย
          2) ดนตรีกับการรักษาโรค นอกจากเด็กแล้วดนตรีบำบัดยังสามารถใช้รักษาภาวะเจ็บป่วยทางกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความจำเสื่อม ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด
ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่มีปัญหาทางจิต ผู้มีความเครียด คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้เจ็บป่วยในระยะสุดท้าย ดนตรีบำบัดได้ถูกนำมาศึกษาวิจัยเพื่อใช้ในสถานการณ์ต่างๆ
ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ แม้แต่การคลอดบุตรก็มีการใช้เป็นที่ได้ผลเป็นอย่างดี ทำให้ทารกดูดนมและนอนหลับได้มากขึ้น การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยดนตรีบำบัด ด้วยวิธีการ
เบี่ยงเบนความสนใจ จะช่วยลดการกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด ส่งเสริมการผ่อนคลายทางร่างกาย และทำให้เกิดความสุข ความงดงามทางจิตใจด้วย จุดประสงค์ของการ
นำดนตรีมาใช้ ก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บปวด ไปสู่ความสุขสบายเพลิดเพลิน และดนตรียังเพิ่มแรงจูงใจทำให้อยากเคลื่อนไหว ในการบำบัดต้องมีการจัดท่าผู้ป่วย
ให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด เจ็บปวดน้อยที่สุด โดยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่อึดอัด ใช้หมอน ผ้าห่ม ในการช่วยพยุงปรับให้อยู่ในท่าที่พอดี และควรอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท
สะดวก อุณหภูมิเย็นสบาย ไม่มีเสียงรบกวน ปรับแสงสีในห้องให้เย็นตา สะอาด เรียบร้อย สวยงาม ควรเลือกใช้เครื่องเสียงที่มีคุณภาพ ที่จะสามารถใช้ได้เองด้วยตนเองตาม
สะดวกและปลอดภัย ที่สำคัญและขาดไม่ได้เลย คือควรมีการประเมินความเจ็บปวด ความวิตกกังวลของผู้ป่วยทั้งก่อน-หลังทำ ในการจัดให้ผู้ป่วยฟังดนตรีควรจัดให้ฟังในเวลาที่
ยาลดความเจ็บปวดกำลังออกฤทธิ์และใช้เทคนิคการผ่อนคลายร่วมด้วย เวลาที่ใช้ในการฟัง หรือจำนวนครั้งที่ฟังในแต่ละวัน ก็มีผลในการลดความเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม ดนตรี
สามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้ถึงจุดหนึ่งและเป็นเวลาชั่วคราว จึงจำเป็นต้องฟังตามอาการเป็นประจำ ดนตรีที่ใช้ในการบำบัดความเจ็บปวด ควรเป็นเพลงบรรเลงไม่มีเนื้อร้อง
มีเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนก น้ำตกร่วมด้วย ควรมีจังหวะที่ช้า มั่นคง สม่ำเสมอ ดนตรีที่ใช้ควรมีทำนองราบเรียบ นุ่มนวล ผ่อนคลายสดชื่นระดับเสียงควรจะปานกลาง - ต่ำ ไม่
ควรเปิดดังมากเพราะความดังของเสียง อาจไปกระตุ้นความเจ็บปวดให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ดนตรีที่นิยมใช้ เช่น พิณ เปียโน กีต้าร์ วงออร์เคสตร้า แจ๊สแบบช้า นุ่มนวล ป๊อปและ
เพลงคลาสสิก เป็นต้น

ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 27-10-58

          นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ดนตรีบำบัด ได้นำเทคนิคเกี่ยวกับการบำบัดด้วยดนตรีมาทดลองใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตที่โรงพยาบาลศรีธัญญา พบว่าได้ผลดี
ทางโรงพยาบาลจึงใช้เป็นแนวทางการบำบัดด้วยดนตรีและได้จดลิขสิทธิ์ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว สำหรับเทคนิควันทูไฟว์ สามารถใช้ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีปัญหา
ทางจิตหลายประเภทด้วยกัน เช่น ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า เด็กออทิสติก เด็กดาวซินโดรม เป็นต้น
          จะเห็นได้ว่า ดนตรีนั้นสามารถทำอะไรได้มากกว่าการที่เราจะฟังเพื่อการแก้เหงา แต่ดนตรีได้ให้ประโยชน์กับเราอย่างมากมายถ้าเรารู้จักเลือกที่จะฟัง เนื่องจากการฟัง
ดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวกับประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการฟังดนตรีนั้นสามารถช่วยให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลินใจได้ แต่ประโยชน์ของการฟังดนตรีไม่ได้มีเท่านั้น ยังมีคน
ส่วนมาก ที่ยังไม่ทราบว่าการฟังดนตรีนั้น สามารถบำบัดโรคที่เป็นปัญหาทางสุขภาพได้ เช่น การฟังดนตรีเพื่อการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดและทรมานของร่างกาย การใช้
ดนตรีบำบัดสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งการใช้ดนตรีบำบัดในการแก้ไขปัญหาของลูกน้อย ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยเด็ก เพื่อช่วยในการสร้างเสริมพัฒนาการที่ดีให้
แก่เด็กได้อีกด้วย ผู้เขียนจึงได้เห็นถึงความสำคัญของการฟังดนตรีเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการบำบัดโรค จึงเขียนบทความที่มีสาระสำคัญในเรื่องนี้มานำเสนอเพื่อให้เกิด
ประโยชน์แก่ประชาชนและผู้ที่สนใจ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตนได้ และมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนจะมีหลักการที่ถูกต้องในการเลือก
ฟังดนตรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด




เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

จากเว็บไซต์
http://counsel.spu.ac.th/story/therapy_story/newstory.php?status=1&story=045, Center, C. "ดนตรีบำบัด Music Therapy."
http://www.healthcorners.com/2007/news/Read.php?id=2829โบราณมูล, (2007). "ดนตรีบำบัด"โรคมะเร็ง" ความสุขจากมูลนิธิโลกสีฟ้า. http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=894,
กระทรวงสาธารณสุข, ก. (2004). "ดนตรีบำบัด-คณิตศาสตร์ทางอารมณ์ (Music therapy-Mathematics of Feelings).
• http://board.dserver.org/g/gotfanclub/00000519.html. บุศรา, อ. (2545). "ประโยชน์จากดนตรีบำบัด." ขวัญเรือน, 743. http://www.dtam.moph.go.th/alternative/viewstory.php?id=454,
สังฆโสภณ, เ. (2007). "การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยดนตรีบำบัด "
จากวารสาร
• นิตยสารบันทึกคุณแม่. (2547, 2 ธ.ค. 2007). "ดนตรีบำบัดสำหรับลูกน้อย." 10.