ความเชื่อเรื่องหยั่นและการปูที่นอนในพิธีแต่งงาน
ของไทดำในประเทศไทย
โดย...ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก
อาชีพ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
อีเมล์ : kanthitalove@gmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)
|
ไทดำ
เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในเขตสิบสองจุไท (ตอนเหนือของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน)
แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและสงคราม ตั้งแต่สมัยธนบุรีจนถึงสมัย
รันตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงช่วงรัชกาลที่ 5 ทำให้ชนไทดำส่วนหนึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย
โดยถูกกวาดต้อนเข้ามา ปัจจุบันจึงมีลูกหลานของชนไทดำกลุ่มนั้น
กระจายตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย เช่น
จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เป็นต้น
ลูกหลานไทดำประเทศไทยในปัจจุบัน
ยังคงรับและสืบทอดวัฒนธรรมของกลุ่มชนไทดำดั้งเดิมมาอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการแสดงออกทางพิธีกรรมที่สื่อถึงความเป็น
สิริมงคล และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองด้านต่างๆ ในพิธีกรรมวัยเด็ก เรื่อยมาถึงพิธีกรรมในวัยผู้ใหญ่
โดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่
พิธีแต่งงานถือเป็นพิธีกรรมสำคัญที่เป็นเสมือนการประกาศให้สังคมรับทราบการเปลี่ยนผ่านสถานภาพของคนหนุ่มสาวผู้นั้นไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่
อย่างเต็มตัว ซึ่งในพิธีแต่งงานตามธรรมเนียมดั้งเดิมของกลุ่มชนไทดำในประเทศไทย
จะมีขั้นตอนหนึ่งที่แสดงออกถึงความเชื่อแห่งความเป็นสิริมงคล และความกตัญญูต่อ
บรรพบุรุษได้แก่ ขั้นตอนกางหยั่นและปูที่นอน
หยั่น แปลเป็นภาษาไทยภาคกลาง
หมายถึง มุ้งสีดำที่มีการปักลวดลายสีต่างๆไว้ที่ขอบด้านบน ใช้สำหรับคู่บ่าวสาว
เนื่องจากในอดีต เรือนไทดำแบบดั้งเดิม (บ้าน) จะไม่มี
ห้องนอนที่เป็นส่วนตัวของคู่บ่าวสาว ดังนั้นภายในหยั่นสีดำจึงเป็นเสมือนพื้นที่ส่วนตัวของคู่แต่งงาน
ภาพ
หยั่นและส่วนที่เย็บให้เป็นถุงรูปสามเหลี่ยมหรือรูปตัววี
ที่มา ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก ผู้ถ่ายภาพ
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 3-11-58
|
|
ความเชื่อเรื่องหยั่นของคู่บ่าวสาวมีหลายประการด้วยกัน
ดังนี้
1. ต้องเย็บหยั่นให้เสร็จในวันเดียว
โดยมารดาของเจ้าสาวเป็นผู้จัดเตรียมอุปกรณ์ ผ้าและด้ายสำหรับเย็บดอกหรือปักลวดลายที่จะทำหยั่นไว้ให้พร้อมทั้งหมดก่อน
จากนั้น
จึงจะบอกญาติผู้หญิงและเพื่อนบ้านที่สนิทกัน ให้มาช่วยเย็บหยั่นให้เสร็จภายในหนึ่งวันเท่านั้น
แขกที่มาช่วยจะถือว่าเป็นผู้มีเกียรติและแม่เจ้าสาวก็ได้หน้าได้เกียรติที่ลูกสาวได้
แต่งงานเข้าตามตรอกออกตามประตู ส่วนหยั่นที่เสร็จสมบูรณ์หนึ่งหลังจะใช้ผ้าทั้งหมด
20 วา ซึ่งจะมีความสูงมากกว่าศีรษะคนปรกติยืนเล็กน้อย
2. ผ้าด้านข้างที่ต่อจากส่วนเพดานด้านบนลงมาทั้ง
4 ด้าน จะมีเพียง 3 ด้านเท่านั้น ที่ชายผ้ายาวเสมอเท่ากัน โดยมีหนึ่งด้านที่ชายผ้ายาวไม่เท่าด้านอื่น
เนื่องจากความ
เชื่อที่มีว่า ถ้าชายผ้าหยั่นมีความยาวเสมอกันทั้ง 4 ด้าน จะดูคล้ายกับที่ครอบศพ
(ไทดำ เรียกว่า เรือนแส) ซึ่งไม่เป็นมงคลกับผู้ที่นำหยั่นไปใช้
3. สิ่งสำคัญของหยั่นที่สมบูรณ์
จะต้องมีถุงที่เย็บเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปตัววี ไว้ที่ส่วนมุมบริเวณใกล้กับหูเกี่ยวทั้งสี่มุม
สำหรับใส่สิ่งของที่เชื่อว่าเป็นเครื่องรางป้องกันสิ่ง
เลวร้ายหรือผีร้าย ไม่ให้เข้ามาทำอันตรายกับคนที่นอนอยู่ในมุ้ง และเครื่องรางนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้สามีนอกใจด้วย
ซึ่งเครื่องรางที่อยู่ในถุงรูปสามเหลี่ยมนี้ ได้แก่ ดินจอมปลวก
หนามไผ่ เงิน 1 บาท และเปลือกต้นเพกาหรือต้นลิ้นฟ้า (บางพื้นที่ เรียกว่า
ต้นอึ่งกา)
4. เมื่อถึงขั้นตอนกางหยั่นของคู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน
มีธรรมเนียมความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ต้องให้ลุงตา (พี่ชายของแม่เจ้าสาว) เป็นผู้เลือกตะขอที่จะนำมาเป็นตัวเกี่ยวกับ
หูหยั่น ทำมาจากไม้ไผ่ตัดให้เป็นรูปตะขอเกี่ยว ซึ่งต้องเตรียมไว้ทั้งหมด
5 อัน โดยมีชื่อเรียกสมมุติในตะขอเกี่ยวแต่ละอันว่า ตะขอเงิน ตะขอทอง ตะขอนาค
ตะขอถม และตะขอ
ไม้ โดยลุงตาจะต้องเลือกตะขอไม้ทิ้งไป ให้เหลือไว้เพียงตะขอที่มีชื่อเป็นมงคลเท่านั้น
เพื่อความเป็นสิริมงคลกับคู่บ่าวสาวที่จะใช้หยั่นนี้ กางนอนสืบไป
5. เชื่อกันว่า
คนที่พ่อแม่บ้านแม่เรือนจะไม่เก็บหยั่น คงกางไว้ทั้งวันทั้งคืนอย่างนั้น
แต่หากเป็นกรณีที่บ่าวสาวยังอยู่ร่วมบ้านกับบิดามารดาต้องเก็บหยั่นให้เรียบร้อย
ดังนั้นในส่วนหูหยั่นด้านหัวนอนและด้านปลายเท้า เมื่อใช้ไม้ไผ่รวกลำยาว สอดไว้ทั้งด้านหัวนอนและด้านปลายเท้า
โดยนำตะขอมงคลทั้ง 4 อัน ไปเกี่ยวไว้กับส่วนปลายของ
ลำไม้รวกทั้ง
4 มุม เมื่อใดต้องการเก็บมุ้ง ก็ให้ปลดตะขอตรงด้านปลายเท้าออก 2 ตะขอ แล้วพับทบไว้กับตะขอด้านหัวนอน
6. หากต้องการจะซักหยั่น
2 3 ปีค่อยซักครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานของหยั่นให้ใช้งานได้จนตลอดชีวิตคู่ผัวเมีย
โดยห้ามนำหยั่นไปซักในคลอง เนื่องจาก
เชื่อกันว่า จระเข้จะมากินคนซัก ดังนั้นจึงให้ซักในกาละมังหรือซักข้างบ่อน้ำเท่านั้น
ทั้งนี้เพราะหากนำหยั่นไปซักในคลอง เมื่อจระเข้ได้กลิ่นมนุษย์ที่ปนมากับสายน้ำก็อาจจะเข้า
มาทำอันตรายกับคนซักได้ และอีกกรณีหนึ่ง แม้ไม่มีจระเข้เข้ามาทำร้าย แต่ถ้าคนซักไม่ระมัดระวัง
หยั่นอาจหลุดมือจมน้ำหายไปเป็นที่น่าเสียดายได้
ภาพ
ตะขอสำหรับเกี่ยวกับส่วนหูหยั่น
ที่มา ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก ผู้ถ่ายภาพ
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 3-11-58
|
|
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนกางหยั่นในพิธีแต่งงานเรียบร้อยแล้ว
ต่อไปเป็นขั้นตอนการปูที่นอน ซึ่งมีความเชื่อว่า ต้องให้คู่สามีภรรยาที่ครองรักกันอย่างสมบูรณ์
เป็นผู้ปูที่นอนให้
กับบ่าวสาว เพื่อสื่อถึงความเป็นมงคลที่เชื่อว่า บ่าวสาวจะเป็นคู่ที่สมบูรณ์เหมือนกับคนที่มาปูที่นอนให้
เมื่อปูที่นอนเรียบร้อยแล้ว หมอพิธีจะทำการสาดเงินสาดทอง ด้วยการ
กำเงินเหรียญหรือธนบัตรใบละ 20 1,000 บาท โปรยลงไปบนที่นอน จากนั้นเรียกบ่าวสาวให้มารับฟังคำสั่งสอนการครองเรือนจากหมอพิธี
โดยมีคำสอน เช่น
1. สอนผู้หญิงว่า
เป็นสะใภ้อย่าชวนผัวแยกบ้าน หมายถึง ให้อดทนอย่าได้ชวนสามีแยกเรือน เมื่อสมควรให้แยกเรือนได้เมื่อไหร่บิดามารดาจะเป็นผู้จัดเตรียมการให้เอง
2. สอนผู้หญิงว่า
เมื่อถึงเวลาเย็นอย่าอุ้มลูกไปเที่ยวนอกบ้าน หมายถึง เวลาเย็นให้จัดเตรียมทำอาหาร
อย่าเที่ยวอุ้มลูกออกไปนอกบ้าน เพราะจะทำให้เด็กฟุ้งซ่านใจแตก
3. สอนผู้ชายว่า
บอกเมียอย่าถือพร้า บอกหล้าอย่าถือขวาน บอกกันอย่ากำค้อน หมายถึง ให้หนักแน่นอย่าลงมือลงไม้
อย่าเฆี่ยนตีกัน อีกนัยหนึ่งคืออย่าได้ไปท้าทายผู้หญิง
เพราะผู้หญิงอาจจะขาดความยั้งคิดทำร้ายตนเองได้เมื่อเกิดการท้าทาย
เมื่อหมอพิธีสั่งสอนเสร็จแล้ว
บ่าวสาวจะแย่งกันเก็บเงินบนที่นอนอย่างสนุกสนาน โดยมีความเชื่อว่า ใครเก็บเงินได้มากกว่า
แสดงว่าผู้นั้นจะมีอำนาจเหนือกว่าอีกคนหนึ่ง
เมื่อเก็บเงินบนที่นอนหมดแล้ว จะมีญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงหนึ่งคน มานอนลงบนที่นอน
แล้วแสดงบทบาทตัวอย่างสมมุติว่ากำลังเจ็บท้องจะคลอดบุตร โดยมีหมอตำแย ซึ่งเป็น
ญาติผู้หญิงอีกคนหนึ่ง มาแสดงบทบาทสมมุติการทำคลอดให้ เพื่อเป็นเคล็ดตามความเชื่อที่ว่า
คู่บ่าวสาวจะได้มีลูกไว้สืบสกุลต่อไป เมื่อเด็กคลอดแล้ว (ใช้ตุ๊กตา) จะมีผู้แสดง
เป็นผู้ช่วยทำคลอด ถือฝาหม้อดินไว้ผสมยาล้วงคอเด็ก (กวาดยา) เพื่อแสดงภาพสมมุติในเชิงสัญลักษณ์ว่า
เด็กคลอดออกมาอย่างปลอดภัยและเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งการแสดง
สมมุตินี้ จะสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างสมบูรณ์ของชีวิตคู่ในอนาคตด้วย
เมือกระทำตามนี้แล้ว ถือเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนกางหยั่นและปูที่นอนในพิธีแต่งงานของไทดำใน
ประเทศไทย และจากนั้นจะเป็นขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป
สรุป
พิธีกรรมกางหยั่นและปูที่นอน ซึ่งเป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งในพิธีแต่งงานของไทดำประเทศไทย
ซึ่งไม่ใช่เป็นการปฏิบัติตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างงมงายหรือ
ไร้สาระแต่อย่างใด หากแต่การปฏิบัติพิธีกรรมในทุกขั้นตอนของไทดำนั้น ล้วนมีนัยยะหรือเหตุผลแฝงอยู่ในการปฏิบัติพิธีกรรมนั้น
เหตุผลที่มีคุณค่าซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้ความเชื่อ
และแสดงออกมาในรูปของพิธีกรรมเหล่านี้ เรียกว่า สารัตถะในพิธีกรรม
เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................
จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีและพระราชวิจารณ์รัชกาลที่
5. (2516). กรุงเทพฯ: คุรุสภา.
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
ฉบับหมดบรัดเล. พิมพ์ครั้งที่ 3. (2551). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โฆสิต.
ธิดา ชมพูนิช. (2539). การศึกษาศิลปหัตถกรรมไทยโซ่งในจังหวัดนครปฐม. นครปฐม
: สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครปฐม.
นุกูล ชมภูนิช. (2530). วัฒนธรรมไทยโซ่งหมู่บ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน
จังหวัดนครปฐม. นครปฐม: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูนครปฐม.
บุญมี ปาริชาติธนกุล. (2546). ความเชื่อเรื่องผีในพิธีกรรมของชาวไทยโซ่งบ้านไผ่หูช้าง
อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาไทยศึกษา,
บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สุมิตร ปิติพัฒน์. (2545). ศาสนาและความเชื่อไทดำในสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยม
เวียดนาม. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน. (2552). สารัตถะคติความเชื่อและพิธีกรรมลาวโซ่ง. มหาสารคาม:
หจก.
อภิชาติการพิมพ์.
|