เตรียมตัวอย่างไร ก่อนไปรับการตรวจสุขภาพ
โดย...คุณธนะพัฒน์   เพชรกล่อง
อาชีพปัจจุบัน แพทย์ประจำคลินิกชุมชนอบอุ่นเทศบาลนครแม่สอด
ต.แม่สอด  อ.แม่สอด  จ.ตาก
อีเมล์ : phetklong2011@gmail.com

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)


          การตรวจสุขภาพไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัว หรือน่าวิตกกังวล แต่บางคนก็ยังกังวนจนกินไม่ได้ มือสั่นใจก็มี เมื่อรู้ว่าจะต้องเจาะเลือด คงไม่ใช่เพราะกลัวว่าจะเจอโรค
ร้ายแรงอะไร แต่เป็นเพราะกลัวเข็มเป็นเสียส่วนใหญ่ ความกลัวมักจะทำให้นอนไม่หลับ เกิดความเครียด แล้วยังส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้ การเตรียมตัวที่ดี สามารถ
ลดระยะเวลาในการต้องอยู่ในโรงพยาบาล และยังสามารถช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งทำให้ต้องมารับการตรวจซ้ำอีกด้วยนะครับ
แล้วเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างเมื่อต้องไปรับการตรวจสุขภาพ
          1. ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก เนื่องจากการนอนดึกจนเกินไปอาจส่งผลทำให้เมื่อตื่นนอนตอนเช้าร่างกายมีความอ่อนล้าถึงแม้จะไม่มีผลต่อการตรวจ
เลือดแต่อาจมีผลทำให้วัดความดันโลหิตได้สูงกว่าความเป็นจริง

ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 17-11-58

          2. ไม่ควร ดื่มสุราหรือกาแฟในคืนก่อนการตรวจสุขภาพ เนื่องจากจะทำให้ความดันโลหิตสูงได้
          3. ควรงดการกินอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อยเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมงก่อนการตรวจเลือด เพราะการงดอาหารที่น้อยเกินไปอาจส่งผลให้มีผลการตรวจเลือดที่ผิดปกติได้
โดยเฉพาะการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเส้นเลือด เนื่องจากผู้รับการตรวจบางรายอาจเริ่มมีระบบการจัดการกับระดับน้ำตาลและไขมัน ที่ลดลง ถ้าเวลาช่วงที่งด
อาหารน้อยไปอาจทำให้ได้ค่าที่สูงกว่าปกติ ในระหว่างที่งดอาหารนั้นถ้ารู้สึกกระหายน้ำ สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ เนื่องจากการดื่มน้ำเปล่าไม่รบกวนต่อการตรวจเลือดแต่อย่างใด


ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 17-11-58

อาหารถ้ากินดึกมากเกินไปในวันก่อนตรวจสุขภาพก็มีผลต่อผลตรวจเลือดนะครับ
          4. การแต่งตัว ควรสวมเสื้อผ้าที่ไม่แน่นจนเกินไป เพราะอาจไม่สะดวกต่อการตรวจร่างกายและการเจาะเลือด
          5. เมื่อไปถึงสถานพยาบาลควรนั่งพักอย่างน้อยประมาน 5 นาทีก่อนที่จะรับการตรวจวัดความดัน เนื่องจากหลังการเดินมาใหม่ๆ ( บางท่านเดินจากลานจอดรถ เดินขึ้น
บันได เหงื่อชุ่มตัว) หัวใจทำงานมากกว่าปกติเต้นเร็ว และแรง ทำให้การวัดชีพจรและความดันโลหิตสูงกว่าความเป็นจริงได้เช่นกัน
          6. หลังเจาะเลือด ควรกดบริเวณจุดที่เจาะเลือด หรือพับบริเวณข้อพับไว้อย่างน้อย 5-10 นาที ไม่คลึงหรือนวดบริเวณที่เจาะเลือดเพราะอาจจะทำให้เส้นเลือดแตกได้ใน
กรณีที่มีรอยช้ำเขียวบริเวณที่เจาะเลือดแสดงว่าเส้นเลือดอาจจะแตก รอยช้ำดังกล่าวจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์อาจทายาแก้ฟกช้ำ เช่น ฮีรูดอยด์ช่วยได้ แต่ไม่ควรคลึงบริเวณ
ที่เส้นเลือดแตก

ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 17-11-58

         7. การเก็บปัสสาวะตรวจ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ถ้าเราเก็บถูกวิธีผลการตรวจก็จะถูกต้องมากขึ้น มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการตรวจ เช่นในผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน
หรือว่าเพิ่งหมดประจำเดือนใหม่ๆ จะทำให้ปัสสาวะมีการบนเปื้อนประจำเดือน ทำให้ตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะได้ ทางที่ดีควรแจ้งเจ้าหน้าที่ไว้ด้วยเพื่อการแปลผลได้
อย่างถูกต้อง ขั้นตอนการเก็บมีส่วนสำคัญ ควรความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอกก่อน การเก็บควรเก็บช่วงกลางของการถ่ายปัสสาวะคือ ควรปัสสาวะช่วงต้นทิ้งไปก่อนแล้ว
เก็บปัสสาวะช่วงกลาง การเก็บช่วงต้นและช่วงปลายของการปัสสาวะจะได้น้ำปัสสาวะที่ปนเปื้อนมากที่สุด (ทุกครั้งที่เก็บปัสสาวะเสร็จแล้วอย่าลืมล้างมือด้วยทุกครั้ง)
          8. การตรวจภาพถ่ายรังสีทรวงอก ควรถอดสร้อย หรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะทุกออก เสื้อควรเป็นกระดุมพลาสติก สุภาพสตรีงดใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก อย่าลืมเก็บ
เศษเหรียญสตางค์ออกจากกระเป๋าด้วยเนื่องวัตถุดังกล่าวอาจไปบดบังรอยโรคได้ กรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่องดตรวจเอกซเรย์
          9. สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเราเจ็บป่วยอยู่เดิมที่กินยาเป็นประจำควรแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ด้วย เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคไตเรื้อรัง
เป็นต้น เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการดูแลและให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง

          ข้อสำคัญควรตรวจสุขภาพในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ร่างกายอิดโรยเกินไป หลังจากได้รับการตรวจเรียบร้อยแล้วที่เหลือ ก็เป็นการรอผลการตรวจและการสรุปผลการตรวจ
แต่ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะผลอาจไม่ได้แย่กว่าที่คิดไว้ ขอให้คิดเพียงว่าการเจ็บเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อป่วยก็รักษา หน้าที่รักษาความเจ็บป่วยทางกายเป็นหน้าที่ของหมอ
และพยาบาล แต่หน้าที่รักษาใจเป็นหน้าที่ของเรา ท่องไว้ในใจเสมอว่า “กายเจ็บไข้ ใจไม่ป่วย”






เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

    สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/5104-recommendations-prior-health-check