ในช่วง 4-5 ที่ผ่านมานี้ แวดวงนักอ่านไทยได้ทำความรู้จักกับนวัตกรรมใหม่ในการอ่าน ที่สามารถลดการใช้ทรัพยากรกระดาษได้เป็นอย่างดี นั่นคือสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันใน นาม ebook (อีบุ๊ค) ซึ่งปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในไทย เห็นได้จากตามหน้าเว็บไซต์สำนักพิมพ์ต่างก็มีการขายหนังสือในรูปแบบ ebook เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึง อุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านที่เรียกว่า e-reader (อีรีดเดอร์) ก็มีการนำเข้ามาขายและหาซื้อได้สะดวกกว่าแต่ก่อนมาก ยิ่งไปกว่านั้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ทั้งแท็บเล็ตและโทรศัพท์สมาร์ทโฟนต่างก็สามารถใช้เป็น e-reader ได้เพียงแค่โหลดแอปลิเคชันสำหรับอ่าน ebook ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคย ebook เป็นหนังสือที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถอ่านได้ด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ e-reader ผู้ใช้สามารถซื้อหา ebook ได้ ในรูปแบบไฟล์หรือซีดีรอมจากเว็บไซต์ที่จัดจำหน่าย เช่น Amazon, Barnes and Noble เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถหาโหลด ebook ได้ฟรีจากเว็บไซต์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งได้นำหนังสือที่หมดลิขสิทธ์มาจัดทำให้รูป ebook เพื่อเผยแพร่ ที่สำคัญ อาทิ gutenberg.org, planetebook.com หรือจะเป็นในลักษณะของการยืมอ่านฟรีอย่าง openlibrary.org เป็นต้น ในระยะแรก ebook จะจำกัดวงเฉพาะหนังสือภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ในส่วนของภาษาไทยเพิ่งจะเป็นที่แพร่หลายไม่กี่ปีมานี้ แม้ว่าจะเป็นนวัตกรรมในสังคมไทย ทว่าแท้จริงแล้ว ebook มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานกว่านั้น และมีน้อยคนนักที่จะสนใจถึงที่มาที่ไปของมัน เจ้าหนังสือ อิเล็กทรอนิกส์นี้ถูกคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นโดยไมเคิล ฮาร์ท (Michael Hart)ในปี 1971 ขณะที่ฮาร์ทกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลลินอยส์ (the University of Illinois) เขามีโอกาสเข้าถึงและใช้งานเครื่องเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเขาพยายามใช้มันให้เกิดประโยชน์อย่างถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นโลกยังไม่ก้าวเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ต ทำให้ฮาร์ทที่ได้ทำการเปลี่ยนรูปหนังสือและเอกสารโบราณที่สำคัญทรงคุณค่าให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลหรือ ebook ยังใช้ประโยชน์ได้อย่างจำกัดมาก
สิ่งที่จุดประกายแนวคิดการทำ ebook ของฮาร์ทคือ คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาที่เขาได้รับแจกจากร้านขายของชำในละแวกบ้าน ฮาร์ททำการพิมพ์ข้อความ ตามคำประกาศฯ ลงไปในคอมพิวเตอร์ จากนั้นจึงได้ทำการส่งเป็นข้อความไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐอเมริกาที่สร้างขึ้นโดยกระทรวงกลาโหม (ARPAnet หรือ อาร์ปาเน็ต) พร้อมกับข้อความว่า สำหรับดาวโหลด จากนั้นมีผู้ใช้งาน 6 คน เข้ามาโหลดไป นี่จึงกลายเป็นจุดกำเนิดของ ebook หลังจากคำประกาศฯ แล้ว ฮาร์ทก็เริ่มเปลี่ยน ข้อมูลในพระราชบัญญัติประกาศสิทธิมนุษยชน (the Bill of Rights) รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา และพระคัมภีร์ไบเบิลให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล จากนั้นจึงฝากไฟล์ไว้กับ (public domain) นั่นทำให้เขาเข้าสู่ภาระกิจการทำ ebook เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างเต็มตัว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ebook รู้จักแพร่หลายคงหนีไม่พ้นเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตนับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการเผยแพร่สิ่งที่ฮาร์ททำ เพราะไม่เพียงแต่จะกระจาย ebook ไปอย่างทั่วถึงแล้ว ยังทำให้ง่ายต่อการทำซ้ำ (copy) อีกด้วย ฮาร์ทถึงกับกล่าวว่า นอกเหนือจากอากาศแล้ว ebook จะเป็นสิ่งแรกๆ ที่ พวกเราสามารถจะมีไว้ในครอบครอง ฮาร์ทได้ทำการเปลี่ยนหนังสือและเอกสารให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เมื่อจำนวนเพิ่มมากขึ้นเขาจึงได้จัดทำโครงการที่รู้จักกันในชื่อ โครงการกูเทนแบร์ก (Project Gutenberg) [แน่นอนว่า เขาเปรียบการสร้าง ebook ของเขาว่าเป็นการปฏิวัติการพิมพ์ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกที่กูเทนแบร์ก (Johannes Gutenberg) ได้คิดค้น ตัวเรียงพิมพ์และทำให้สามารถตีพิมพ์หนังสือได้คราวละเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้องค์ความรู้ต่างๆ แพร่กระจายไปในวงกว้าง] กระทั่งในปี 1997 โครงการกูเทนแบร์กมี ebook ให้ดาวโหลดกว่า 10,000 เล่ม ซึ่งเป็นหนังสือ นวนิยายคลาสสิกที่หมดลิขสิทธิ์แล้ว อาทิ งานของวิลเลียม เชกสเปียร์ นวนิยามชื่อก้องของดันเตอย่างไตรภูมิดันเต (divine comedy) ในภาษาอิตาลี นอกจากภาษาอังกฤษแล้วฮาร์ทยังได้เปลี่ยนหนังสือในภาษาอื่นๆ กว่า 60 ภาษา ให้เป็น ebook อยู่ในฐานข้อมูลโครงการกูเทนแบร์ก ในส่วน การทำงานของโครงการนี้จะมีอาสาสมัครทั่วโลกที่คอยพิมพ์หรือสแกนหนังสือเพื่อจัดทำเป็น ebook ฮาร์ทกล่าวถึงโครงการนี้ว่า พวกเรามีความสุขอย่างยิ่งที่ได้นำ ebook สู่ผู้อ่านในหลากหลายนามสกุลไฟล์มากที่สุดเท่าที่พวกเราทำได้ ปัจจุบัน ebook มีไฟล์หลากหลายนามสกุล ซึ่งแต่ละไฟล์ก็จะมีลักษะเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่ pdf, mobi, epub เป็นต้น สำหรับบริษัทผู้ผลิตเครื่องอ่านอีบุ๊คที่เราเรียกกันว่า e-reader บางเจ้าก็สร้างไฟล์ ebook ที่มีนามสกุลเฉพาะของตนเอง เพื่อให้ใช้งานบนเครื่องของบริษัท เช่น kindle ของบริษัท Amazon เป็นต้น กระนั้นก็ตาม เพื่อให้มีความ สะดวกสำหรับผู้ใช้ ผู้ผลิต e-reader จึงได้ผลิตเครื่องอ่านที่สามารถอ่านไฟล์ได้หลากหลายชนิด (ทว่ายังคงกีดกันไฟล์ของบริษัทคู่แข่ง เช่น กรณี kindle ของ Amazon จะ สามารถอ่านไฟล์ mobi และ pdf ได้ แต่จะไม่สามารถอ่านไฟล์ epub ได้ ตรงข้ามกับทางเครื่อง nook ของบริษัท Barnes and Noble ที่อ่านไฟล์ pdf และ epub ได้แต่ไม่ สามารถอ่านไฟล์ mobi ได้) นอกจากนี้ ในบางประเทศก็กำหนดให้มีไฟล์ ebook เฉพาะเป็นของตนเอง เช่น กรณีของจีนที่ใช้ไฟล์นามสกุล CHM ซึ่งต้องใช้โปรแกรมอ่าน เฉพาะและ e-reader ของหลายบริษัทในปัจจุบันยังไม่รองรับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ก็ถูกขจัดให้หมดไปโดยโปรแกรมแปลงไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้หรือจะเป็นการ แปลงไฟล์ออนไลน์ก็มีให้บริการฟรี เช่น http://ebook.online-convert.com/ แม้ ebook จะมีข้อดีในเรื่องของความสะดวกรวดเร็วในการเลือกซื้อและดาวโหลดลงสู่เครื่องอ่าน รวมไปถึงการประหยัดทรัพยากร และที่สำคัญคือ ความสะดวกสบาย ในการพกพา คุณสามารถพกเพียง e-reader เครื่องเดียวที่มีน้ำหนักและขนาดไม่มากนัก แต่กลับบรรจุไปด้วยหนังสือนับร้อยนับพันเล่ม (แล้วแต่ว่า e-reader รุ่นนั้นจะมีหน่วย ความจำมากน้อยเพียงใด และไฟล์ ebook มีขนาดใหญ่หรือเล็ก) นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ต่อบรรดานักศึกษาและนักวิชาการที่ปัจจุบันห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้บอก รับหนังสือและวารสารจากฐานข้อมูลที่ให้บริการแทนที่การสั่งซื้อตัวเล่มจริง ดังนั้น ebook จึงเข้ามามีบทบาทต่อการศึกษาสูงขึ้น
กระนั้นก็ตาม ebook ก็ต้องเผชิญกับข้อถกเถียงสำคัญเรื่อง การละเมิดลิขสิทธิ์ ที่เมื่อหนังสือถูกทำให้อยู่ในรูปดิจิตอลแล้วจะง่ายต่อการทำซ้ำและเผยแพร่ อีกทั้งเมื่ออยู่ บนเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตทำให้เป็นการยากต่อการควบคุม วงการหนังสือและสิ่งพิมพ์เริ่มตื่นตัวต่อประเด็นดังกล่าว เมื่อปี 1993 ปีเตอร์ เจมส์ (Peter James) ได้เผยแพร่ งานเขียนของเขาในรูปแบบไฟล์ลงในแผ่นดิสก์เก็ต (floppy disk) โดยงานของเจมส์ขายได้กว่า 12,000 ฉบับ (แผ่น) อย่างไรก็ตาม เขาถูกโจมตีอย่างมากว่าเป็นผู้ทำลายโลก นิยาย และเมื่อนิยายที่มีลิขสิทธิ์เริ่มถูกทำให้เป็นไฟล์ นั่นจึงได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการละเมิดลิขสิทธิ์ ebook ที่แม้ว่าปัจจุบันบรรดาผู้ผลิตต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องกัน การละเมิด แต่กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดไปได้ จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ebook มีกำเนิดและพัฒนาการมา 30 กว่าปีแล้ว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่สำหรับสังคมไทยที่เพิ่ง จะทำความรู้จักกับเทคโนโลยีดังกล่าวได้ไม่นาน ทั้งยังรู้จักในวงแคบ ผู้เขียนจึงเห็นเป็นโอกาสดีในการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของเจ้า ebook มากขึ้น ซึ่งอาจ กล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรลงได้มาก อย่างไรก็ตาม สำหรับนักอ่านหลายท่าน การได้อ่านหนังสือ ได้สัมผัส และได้กลิ่นหนังสือ ก็ยังคงสร้าง อรรถรสให้เกิดแก่การอ่านหนังสือมากกว่าการอ่านผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ดี ดังนั้น ebook ในเวลานี้จึงอยู่ในฐานะนวัตกรรมทางเลือกสำหรับผู้อ่าน เอกสารอ้างอิง ........................................................................................................................... Flood, A. (2014, March 12). Where did the story of ebooks begin? Retrieved November 22, 2015, from theguardian.com: http://www.theguardian.com/books/2014/mar/12/ebooks-begin-medium-reading-peter-james Losowsky, A. (2011, September 9). Michael Hart, Inventor Of The eBook And Pioneer Of Electronic Literacy, Has Died. Retrieved November 21, 2015, from huffingtonpost.com: http://www.huffingtonpost.com/2011/09/08/ebook-inventor_n_954684.html Rouse, M. (2005, September). eBook definition. Retrieved November 21, 2015, from TechTarget.com: http://searchmobilecomputing.techtarget.com/definition/eBook |