รู้ไว้
เข้าใจโรค ตอน
ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงและอาการปวดข้อจากโรคเกาต์
โดย...คุณธนะพัฒน์ เพชรกล่อง
อาชีพปัจจุบัน แพทย์ประจำคลินิกชุมชนอบอุ่นเทศบาลนครแม่สอด
คลินิกชุมชนอบอุ่นเทศบาลนครแม่สอด ต.แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก
อีเมล์ : phetklong2011@gmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)
|
ภาพจาก
Web Site
http://www.webmd.com/arthritis/ss/slideshow-gout
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 22-12-58
|
|
หลายคนคงเคยผ่านการมีอาการปวดข้อกันมาบ้าง
และอาจจะสงสัยว่าเราจะเป็นเกาต์หรือไม่ หรือแม้แต่ไปรับการตรวจสุขภาพประจำปี
แล้วตรวจพบว่ามีภาวะกรดยูริก
ในเลือดสูงก็อาจจะตกอกตกใจว่าจะอันตรายมากไหม จะเกิดผลต่อร่างกายอย่างไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับภาวะกรดยูริกในเลือดสูงและอาการปวดข้อจากโรคเกาต์
กันให้มากขึ้นเพื่อจะได้ป้องกันและดูแลกันได้อย่างมั่นใจ
กรดยูริกเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่สร้างจากสารเพียวรีนซึ่งเป็นส่วนประกอบของสารพันธุกรรมในนิวเครียสของเซลล์
สารเพียวรีนนี้จะถูกตับเปลี่ยนให้เป็นกรดยูริก ส่งเข้า
กระแสเลือด และไตจะเป็นอวัยวะที่ขับเอากรดยูริกออกมาในรูปของสารละลายในน้ำปัสสาวะในปริมาณราวร้อยละ
70 และที่เหลือจะถูกขับออกทางอุจจาระ ดังนั้นในผู้ป่วยที่มี
ภาวะไตเสื่อมจะทำให้การขับกรดยูริกทางปัสสาวะลดลงจึงเกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้
ซึ่งเจ้ากรดยูริกที่มีปริมาณเข้มข้นมากขึ้นในเลือดก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย
เช่น ถ้ากรดยูริกไปสะสมมากที่ไต ก็จะทำให้เกิดไตเสื่อมมากขึ้น บางครั้งจับตัวกันเป็นก้อนก็จะทำให้เกิดนิ่วที่ไต
กรวยไต ท่อไต รวมถึงกระเพาะปัสสาวะ ถ้ากรดยูริกเหล่านี้
ไปสะสมตามข้อก็จะทำให้เกิดโรคเกาต์ ถ้าไปสะสมตามผิวหนังจะเกิดเป็นปุ่มแข็งซึ่งจะพบได้บริเวณ
ใบหู นิ้ว ข้อศอก ข้อเท้าเป็นต้น
ภาพจาก
Web Site
http://www.medscape.org/viewarticle/496670_3
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 22-12-58
|
|
สาเหตุของกรดยูริกในเลือดสูงมีหลายสาเหตุ
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างที่พบบ่อยดังต่อไปนี้
ภาวะไตเสื่อม
ไตเสื่อมจากพิษตะกั่ว
ภาวะขาดสารน้ำเนื่องมาจาการสูญเสียน้ำโดยตรง หรือเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว
โรคอ้วน
โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย
โรคบางชนิดที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเลือดบางชนิด
โรคมะเร็ง
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การกินยาที่ใช้รักษาโรคบางอย่างเช่น ยาขับปัสสาวะในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ยารักษาวัณโรคบางตัว
ภาวะครรภ์เป็นพิษ
การใช้ยาระบายอย่างมากเกินไป
สำหรับภาวะกรดยูริกในเลือดสูงมักไม่มีอาการ
ส่วนใหญ่มักจะตรวจพบในระหว่างการตรวจสุขภาพประจำปี หรือจากการตรวจรักษาโรคอื่นๆเช่นโรคความดันโลหิตสูง
โรคเบาหวาน โรคไต ซึ่งถ้าไม่สูงมากคุณหมอมักจะไม่ได้ยารักษา แต่จะพยายามหาสาเหตุก่อนและให้คำแนะนำเบื้องต้นก่อนที่จะเริ่มยาเช่น
การลดความอ้วน การงดเครื่องดื่ม
ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ แต่ถ้ากรดยูริกนั้นสูงมากเกินไปและผู้เองก็มีโรคร่วมที่จะเป็นสาเหตุให้ระดับกรดยูริกไม่ลดลง
คุณหมอก็อาจจะเริ่มให้ยาควบคู่ไปกับการแนะนำ
เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะการกินยานั้นอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงและแพ้ยาได้บ่อย
รวมถึงการกินยาอย่างเดียวโดยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจทำให้กรดยูริก
ไม่ค่อยลดลงได้
สำหรับโรคเกาต์ส่วนใหญ่จะพบมากขึ้นตามอายุ
ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายวัยกลางคนอายุเฉลี่ยราว 40-60 ปี ส่วนเพศหญิงมักเกิดเมื่ออายุเกิน
60 ปีขึ้นไปอย่างไรก็ตาม
ก็ยังสามารถพบข้ออักเสบจากโรคเกาต์ได้ในคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปีเช่นกัน สำหรับอาการของโรคเกาต์ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดข้อเฉียบพลัน
มักเป็นการอักเสบของข้อ
เพียงข้อเดียว พบได้ราวร้อยละ 85-90 ส่วนใหญ่จะเป็นการอักเสบของข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า
แต่ก็สามารถพบการอักเสบที่ข้ออื่นๆได้เช่น ข้อเท้า ส้นเท้า ข้อเข่า ข้อมือ
ข้อนิ้วมือ
เป็นต้น ส่วนการอักเสบของข้อไหล่ ข้อสะโพกพบได้น้อยมาก อาการปวดข้อมักจะเริ่มด้วยปวดน้อยๆ
นำมาก่อนบางรายอาจไม่ทันได้สังเกตด้วยซ้ำ แต่หลังจากนั้นจะมีอาการปวด
มากขึ้นทันที หรือปวดจนต้องสะดุ้งตื่นจากการนอน บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย บริเวณข้อที่มีการอักเสบจะมีลักษณะบวมแดง
ร้อนจับหรือขยับจะกระตุ้นทำให้มีอาการปวดมากขึ้น
บางรายที่เป็นไม่มากอาจหายได้เองภายใน 2-3 วันจนถึง 2-3สัปดาห์ในรายที่เป็นมาก
ข้ออักเสบเกาต์เมื่อหายจะหายสนิทไม่มีการอักเสบหลงเหลือ และจะเข้าสู่ระยะปลอด
อาการ ทำให้บางรายไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
ภาพจาก
Web Site
http://www.webmd.com/arthritis/ss/slideshow-gout
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 22-12-58
|
|
การป้องกันและการดูแลรักษา
ควรหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หยุดสูบบุหรี่
ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อควบคุมน้ำหนัก
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารเพียวรีนสูง เช่นเครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเลบางชนิด
เมื่อมีอาการอักเสบของข้อไม่ควรบีบนวด เพราะจะทำให้การอักเสบเป็นมากขึ้น
ควรพักการใช้ข้อ เช่น เดิน หรือขยับข้อนั้นๆให้น้อยลง
เมื่อได้รับการรักษาแล้วผู้ป่วยก็ควรกินยาและติดตามการักษาอย่างสม่ำเสมอ
เพราะเมื่ออาการหาย แต่ถ้าไม่กินยาเพื่อลดระดับกรดยูริก หรือกินยาป้องกัน
ก็จะทำให้
โรคกำเริบได้บ่อยขึ้น รวมถึงจะเป็นการติดตามอาการข้างเคียงของการใช้ยาร่วมด้วย
ภาพจาก
Web Site
http://www.slideshare.net/planet--ayurveda/reduce-uric-acid-level-naturally-gout-natural-treatment
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 22-12-58
|
|
นอกจากนี้อย่าลืมดูแลรักษาโรคร่วมอื่นด้วยเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
เพราะโรคร่วมเหล่านี้จะมีผลต่อระดับกรดยูริก และอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการ
อักเสบของข้อได้จากข้อมูลเท่านี้น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เราสามารถดูแลตนเองได้
และห่างไกลจากโรคเกาต์และภาวะกรดยูริกในเลือดสูง และผมเองก็หวังว่าท่านจะได้รับ
ความรู้และประโยชน์จากการติดตามอ่านสาระดี ๆ จากทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราชครับ
เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................
http://www.medscape.org/viewarticle/496670_3
http://www.webmd.com/arthritis/ss/slideshow-gout
http://www.slideshare.net/planet--ayurveda/reduce-uric-acid-level-naturally-gout-natural-treatment
encore rheumatology บรรณาธิการ นันทนา กสิตานนท์,ไพจิตต์ อัศวธนบดีและปวีณา
เชี่ยวชาญวิศวกิจ
|