ความเชื่อเกี่ยวกับข้อปฏิบัติและข้อห้ามในช่วงตั้งครรภ์
ของสตรีไทดำประเทศไทย
โดย...ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก
อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
อีเมล์ : kanthitalove@gmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)
|
ความความเชื่อ
เป็นวิถีแห่งปัญญาที่มนุษย์สืบสานและปฏิบัติ เป็นกุศโลบายในการรวมชุมชนให้เกิดชีวะวิถีดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน
ความเชื่อจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำ
ให้มีค่านิยมเกิดขึ้นในสังคม และเป็นฐานรากสำคัญในการหลอมรวมความคิด ความรู้สึกของทุกคนให้พร้อมในการสร้างสรรค์ความสุขสงบให้เกิดแก่กลุ่มของชน
ไทดำ เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในเขตสิบสองจุไท
(บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) แต่ในสมัยธนบุรีจนถึงสมัยรันตนโกสินทร์
ช่วงรัชกาลที่ 1
ถึงช่วงรัชกาลที่ 5 ชนไทดำส่วนหนึ่งได้ถูกกวาดต้อนให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
จากเหตุผลทางด้านการเมืองและสงคราม ปัจจุบันจึงมีลูกหลานของชนไทดำกลุ่มนั้น
กระจาย
ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย เช่น จังหวัดเพชรบุรี
ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เป็นต้น
ไทดำรุ่นใหม่ในประเทศไทย
ยังคงสืบทอดความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชนในวิถีการดำเนินชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก
วัยผู้ใหญ่ จนกระทั่งชราภาพและเสียชีวิตลง โดยเฉพาะความ
เชื่อในช่วงวัยผู้ใหญ่หลังแต่งงานแล้ว การมีบุตรเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสมบูรณ์
บุตรจะเติบโตเป็นไทดำรุ่นใหม่ สืบทอดความเชื่อให้กลุ่มชน
ดำรงอยู่ต่อไป
เหตุนี้สตรีที่แต่งงานแล้ว
เมื่อทราบว่าตนกำลังตั้งครรภ์ แม้ยังคงปฏิบัติภารกิจประจำวันและทำงานตามปกติ
ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังตนเองให้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้
ภาวะจิตใจของสตรีตั้งครรภ์บางคนมีความกังวลไปในทางที่ไม่ค่อยดี เนื่องจากความกลัวในเรื่องต่างๆ
เช่น กลัวผีไม่ดีจะมารบกวนให้ตนเสียชีวิต หรือทำให้บุตรในครรภ์แท้ง
ก่อนเกิด ไม่ก็เกิดมาแล้วตาย
ความกลัวที่ส่งผลให้สภาพจิตใจของสตรีไทดำที่กำลังตั้งครรภ์เป็นกังวล
สามารถบรรเทาลงได้ หากปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับข้อปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆ
เพื่อ
สตรีจะได้คลายความกังวล พร้อมปกป้องตนเองและลูกในท้องให้ปลอดภัย ซึ่งคนในรุ่นปู่ย่าจะมีผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ในการทำคลอดที่เป็นคนในหมู่ญาติเดียวกัน
เป็นผู้แนะนำ
การดูแลและปฏิบัติตนในขณะตั้งครรภ์ให้กับสตรี ซึ่งในที่นี้จะยกความเชื่อบางส่วนจากการสัมภาษณ์สตรีไทดำในเขตตำบลหนองปรง
จังหวัดเพชรบุรี ที่มีอายุ 80 ปี ขึ้นไป
มากล่าว ดังนี้
1. ความเชื่อเกี่ยวกับความฝัน
เชื่อว่าสตรีตั้งครรภ์อาจมีการฝันแปลกๆ ที่เป็นลางบอกเหตุได้ทั้งดีและร้าย
เช่น ถ้าฝันว่าได้แหวนหรือฝันว่าได้พระอาทิตย์ เชื่อว่าทารกที่มา
เกิดจะเป็นเพศชาย ถ้าฝันว่าได้แก้ว เชื่อว่าทารกที่มาเกิดจะเป็นเพศหญิง เป็นต้น
2. ความเชื่อเกี่ยวกับอาหารของสตรีตั้งครรภ์
เชื่อว่าอาหารบางชนิดเป็นพิษ เช่น อาหารที่มีรสเผ็ด เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้เด็กในท้องเกิดอาการร้อนและอาจทำให้
เด็กเสียชีวิตได้ จึงห้ามสตรีตั้งครรภ์รับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดมาก
3. ความเชื่อเกี่ยวกับผีเรือน
(ผีบรรพบุรุษ) เชื่อว่าเมื่อสตรีจะคลอดบุตร (ในอดีตจะนิยมคลอดบุตรที่เรือนของตนเอง)
บรรดาญาติๆ ต้องเข้าไปบอกกล่าวผีเรือนที่กะล่อห่อง
ให้ทราบก่อน (กะล่อห่อง คือ มุมห้องในจุดที่เชื่อว่าเป็นที่สถิตของผีเรือน
ลูกหลานไทดำจึงแสดงความเคารพด้วยการจัดสำรับหมากพลูไว้บูชา)
4. ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง
เชื่อว่าเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว หากเอารกเด็กใส่กระบอกไม้ไผ่ฝังไว้ลึกๆ ตรงชายคาน้ำไหล
จะทำให้เด็กโตขึ้นมาเป็นคนฉลาด (ปัจจุบัน
สตรีไทดำ นิยมไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาล จึงทำให้การปฏิบัติตามความเชื่อเกี่ยวกับการฝังรกเด็กไม่ค่อยปรากฏแล้ว)
5. ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง
เชื่อว่าของขลังบางชนิดจะช่วยป้องกันอันตรายให้กับบุตรที่คลอดออกมาแล้วได้
เช่น กระเป๋าผ้าที่เย็บเป็นถุงผ้าเล็กๆ สำหรับใส่
สะดือแห้ง เชื่อว่าจะเป็นเครื่องรางช่วยคุ้มครองตัวเจ้าของสะดือ
ภาพ
กะล่อห่อง
ที่มา ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก ผู้ถ่ายภาพ
ข้อมูลภาพ ณ วันที่
22-2-59
|
|
นอกจากนี้
ยังมีความเชื่อในเรื่องข้อห้าม ซึ่งเป็นคำสอนเกี่ยวกับสตรีมีครรภ์ จากการสัมภาษณ์สตรีไทดำ
ในเขตตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี
ขึ้นไป ดังนี้
1. ห้ามข้ามคราด
ห้ามข้ามเชือกม้า เชือกวัว เชือกควาย เพราะเชื่อว่าข้ามแล้วบุตรจะอยู่ในครรภ์เกินกำหนดหรือคลอดยาก
ซึ่งเรื่องนี้หากอธิบายในเชิงเหตุผล ก็เพื่อเป็น
การเตือนให้สตรีมีครรภ์ได้มีความระมัดระวังในการเดิน ป้องกันไม่ให้เดินสะดุดสิ่งเหล่านี้
เพราะหากสะดุดหกล้มจะเป็นอันตรายได้ทั้งแม่และบุตรในครรภ์
2. ห้ามข้ามแม่เตาไฟ
เชื่อว่าหากข้ามแล้วจะทำให้เดือดร้อน ทั้งนี้ก็เพราะเป็นการสอนโดยการห้าม
เพื่อต้องการให้คนมีความสำรวม เนื่องจากการข้ามเตาไฟสำหรับทำ
อาหาร จึงไม่เป็นการเหมาะสม อีกทั้งการข้ามเตาทำอาหาร อาจจะเตะถูกข้าวของบนเตาหรือเตาอาจร้อนอยู่
จะเกิดอันตรายได้
3. ห้ามมองดูจันทรคราส
เพราะเชื่อกันว่าลูกที่เกิดมาจะตาเหล่ ทั้งนี้มีคำอธิบายไว้ว่า ในอดีตไม่มีไฟฟ้าใช้
เวลากลางคืนมืดมองอะไรไม่ค่อยชัดเจน เมื่อหญิงมีครรภ์
ออกมาดูดวงจันทร์ อาจจะได้รับอันตรายจากสัตว์ร้ายหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้
แต่หากจะดูดวงจันทร์ให้ได้ ต้องเอาเข็มกลัดมากลัดไว้ที่ชายพกหรือหัวซิ่น
เพื่อเป็นการแก้เคล็ด
4. ห้ามนำไม้ขัดเกล้ามาเสียบมวยผม
เชื่อว่าไม้ขัดเกล้าจะไปทิ่มตัวเด็ก (ไม้ขัดเกล้า คือ เครื่องประดับผม ทำมาจากแร่เงิน
รีดให้เป็นเส้น มีปลายแหลม) ดังคำอธิบายความเชื่อนี้ว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สตรีมีครรภ์ได้ทำอะไรที่จะเป็นการเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับตัวเองได้
เพราะไม้ขัดเกล้า มีความแหลมคม เมื่อนำไปเสียบผมอาจจะทิ่มแทงศีรษะให้ได้บาดแผลเลือดออก
ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อร่างกายของสตรีมีครรภ์ อีกทั้งยังเชื่อว่าเพื่อเป็นการเอาเคล็ดคำว่า
ถอด จะได้คลอดง่าย เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่า ก่อนจะคลอดบุตรให้ถอดสายสร้อย
ถอดสลักกลอนประตูหน้าต่าง รวมทั้งสิ่งของอะไรที่มีสลักอยู่ ต้องถอดออกให้หมด
5. ห้ามอาบน้ำในเวลามืดค่ำ
เชื่อว่าจะคลอดลูกยาก ทั้งนี้เพราะในอดีตไม่มีห้องน้ำ หากจะอาบน้ำต้องเดินไปอาบในแม่น้ำหรือลำคลอง
ซึ่งในระหว่างทางเดินมืดๆ อาจถูกสัตว์มีพิษกัด หรือในขณะอาบน้ำอาจพลัดตกน้ำจมน้ำหายไปโดยที่ไม่มีใครรู้
6. ห้ามสระผมหลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว
หรือการห้ามสระผมในเวลากลางคืน เชื่อว่าขวัญจะตกใจและหนีออกจากร่างกายได้
ดังคำอธิบายด้วยเหตุผลว่า เมื่อพระอาทิตย์ตกดินไปแล้วอากาศเย็นมาก สตรีมีครรภ์อาจจะเป็นไข้ไม่สบายและส่งผลถึงบุตรในครรภ์ได้
7. ห้ามหญิงครรภ์ไปงานศพ
ถือว่าไม่ดี เนื่องจากในงานศพจะมีบรรยากาศที่เศร้าสลด จึงไม่ต้องการให้คนมีครรภ์ได้เจอกับบรรยากาศอันน่าสลดนี้
8. ห้ามนั่งคาบันไดและห้ามนอนขวางประตูหรือบันไดบ้าน
เชื่อว่าจะทำให้คลอดลูกยาก เนื่องจากไทดำเชื่อว่า บันไดและประตู มีผีบันไดและผีประตู
คอยดูแลรักษาอยู่ จึงไม่ควรนั่งขวางไว้ เป็นการไม่สมควร ดังคำอธิบายด้วยเหตุผลที่ว่า
บันไดไม่ใช่สถานที่สำหรับนั่ง เป็นที่สำหรับคนขึ้นลง จึงเป็นการนั่งที่ไม่สุภาพและไม่เหมาะสม
ทั้งยังอาจทำให้พลัดตกบันไดลงมาบาดเจ็บได้
9. ห้ามเหยียบธรณีประตู
เนื่องจากไทดำเชื่อว่า ที่ประตูมีผีประตูดูแลรักษาอยู่ การเหยียบธรณีประตูจึงเท่ากับเป็นการลบหลู่ผีประตู
ดังคำอธิบายในเชิงเหตุผลที่ว่า ขอบประตูนั้นสูงกว่าพื้น หากเดินไม่ระวัง
เท้าอาจสะดุด ทำให้หกล้มได้รับบาดเจ็บ ความเชื่อนี้จึงเป็นการเตือนให้คนมีความสำรวมระมัดระวังในการเดิน
จะได้ไม่สะดุดธรณีประตูหกล้ม หรือหากเหยียบธรณีประตูก็อาจลื่นล้มได้ง่าย
จึงให้เดินข้ามไป
นอกจากความเชื่อที่ได้กล่าวมาแล้ว
ยังมีข้อปฏิบัติและข้อห้ามอื่นๆ ที่สะท้อนความเชื่อดั้งเดิมของไทดำในเขตตำบลหนองปรง
จังหวัดเพชรบุรี ที่บรรพบุรุษได้หาวิธีป้องกันอันตรายต่างๆ ให้ผ่านพ้นไป
เพื่อความปลอดภัยในช่วงระยะเสี่ยงอันตราย กระทั่งจนถึงช่วงครบกำหนดคลอด ของสตรีมีครรภ์และบุตรที่อยู่ในครรภ์
สรุป
ความเชื่อเกี่ยวกับข้อปฏิบัติและข้อห้ามในช่วงตั้งครรภ์ของสตรีไทดำประเทศไทย
โดยเฉพาะในเขตตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี จึงไม่ใช่เป็นเพียงการปฏิบัติที่สืบทอดทำตามๆ
กันต่อมาอย่างงมงายหรือไร้สาระ หากแต่การปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิม ล้วนมีนัยยะเป็นกุศโลบายอันมีเหตุผล
เป็นองค์ความรู้ที่แฝงอยู่ในความเชื่อ ซึ่งหากปฏิบัติตามแล้วจะสามารถช่วยเหลือด้านจิตใจและความปลอดภัยทางร่างกายของสตรีตั้งครรภ์และบุตรในครรภ์
ให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ บุตรจะได้คลอดออกมาอย่างง่ายดายและปลอดภัย
เป็นทารกที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมสืบไป
ภาพ
ไม้ขัดเกล้า
ที่มา ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก ผู้ถ่ายภาพ
ข้อมูลภาพ
ณ วันที่
22-2-59
|
|
เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................
ขวัญเมือง ชื่นฤทัย (สัมภาษณ์, 2 มิถุนายน
2555)
ปิ่น พันเชื้อ (สัมภาษณ์, 3 มีนาคม 2555)
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
ฉบับหมอบรัดเล.
พิมพ์ครั้งที่ 3. (2551). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โฆสิต.
สุมิตร ปิติพัฒน์. (2545). ศาสนาและความเชื่อไทดำในสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยม
เวียดนาม.
กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สำรวย จันทร์ผ่อง (สัมภาษณ์, 8 มิถุนายน 2557)
อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน. (2552). สารัตถะคติความเชื่อและพิธีกรรมลาวโซ่ง. มหาสารคาม
: หจก.
อภิชาติการพิมพ์.
อ้น เผ่าพงศ์ (สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม 2557)
|