ความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการคลอดบุตรของไทดำ
ในเขตตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี

โดย...ดร.กานต์ทิตา   สีหมากสุก
อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
อีเมล์ : kanthitalove@gmail.com

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)


          ในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตจังหวัดเพชรบุรีมีกลุ่มชนไทดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เกือบทั้งหมดเป็นลูกหลานของไทดำในเขตสิบสองจุไท ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา
ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5) ชนกลุ่มนี้มีความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชนเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต
          ความเชื่อดั้งเดิมที่บรรพบุรุษถือปฏิบัติ ถูกนำมาสั่งสอนลูกหลานในแต่ละรุ่นสืบทอดกันมา คนในรุ่นลูกหลานจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อ
แสดงออกถึงความกตัญญูในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมกลุ่มชนไทดำ ให้ยังคงดำรงอยู่มาถึงปัจจุบัน โดยในที่นี้จะกล่าวเฉพาะความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการ
คลอดบุตรของไทดำในเขตตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี ดังนี้
          ไทดำ เรียกการตั้งครรภ์ว่า มานลุ คำว่า มาน หมายถึง ท้องโต คำว่า ลุ หมายถึง ลูก ในช่วงที่กำลังจะคลอดลูก เรียกว่า เอาะลุ คำว่า เอาะ หมายถึง ออก คำว่า ลุ หมายถึง ลูก
          การคลอดบุตรหรือการเกิด เป็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตครอบครัวของหนุ่มสาวที่จะเป็นพ่อแม่รุ่นต่อไป หน้าที่ความรับผิดชอบจึงต้องมีสูงขึ้น เพื่อดูแลอีกหนึ่ง
ชีวิตใหม่ที่จะเกิดมา เด็กเกิดใหม่ถือเป็นโชคลาภของครอบครัว ความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากอยู่ช่วงระยะอ่อนแอ ทั้งแม่และบุตรในครรภ์อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไป ป้องกันมิให้สตรีมีครรภ์ได้รับอันตรายและให้คลอดบุตรง่าย จึงมีคติความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการคลอดบุตรของไทดำ ซึ่งมีอยู่หลายความ
เชื่อด้วยกัน บางความเชื่อก็มีพิธีกรรมปฏิบัติควบคู่ไปด้วย
          เริ่มตั้งแต่เมื่อถึงเดือนใกล้คลอด สามีต้องเตรียมน้ำและหลัว (ฟืน) สำหรับให้ภรรยาใช้อยู่ไฟหลังคลอด นิยมใช้ไม้สะแกเป็นหลัว (ฟืน) อยู่ไฟ เนื่องจากควันของไม้สะแก
เป็นยาช่วยให้ร่างกายสดชื่น หรือจะใช้ไม้ชนิดอื่นที่จุดไฟแล้วไม่แตก เช่น ไม้มะขาม โดยวางหลัวอยู่ไฟแยกไว้ต่างหาก ไม่นำไปรวมกับไม้ที่จะใช้หุงต้มอาหาร

ภาพ การวางหลัวอยู่ไฟ
ที่มา ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก ผู้ถ่ายภาพ

ข้อมูลภาพ ณ วันที่
6-3-59

          ความเชื่อเรื่องการวางหลัวอยู่ไฟ สามารถทำนายเพศของทารกในครรภ์ได้ หากวางกองหลัวไว้ แล้วด้านบนเรียบเสมอกัน เชื่อว่าทารกเพศหญิงจะมาเกิด หากวางกองหลัว
แล้ว ตรงกลางสูงกว่ารอบนอก เชื่อว่าทารกที่มาเกิดจะเป็นเพศชาย (การวางต้องไม่ใช่การจงใจจับวางให้เป็นเช่นนั้น)
          ความเชื่อเรื่องการตัดไม้ที่มีหนาม เช่น กิ่งพุทราที่มีหนาม มาวางไว้รอบเรือน (บ้าน) และใต้ถุนเรือน โดยเฉพาะให้ตรงกับจุดที่จะให้สตรีอยู่ไฟหลังคลอด เชื่อว่าเป็นการ
ป้องกันไม่ให้ผีร้ายเข้ามารบกวนสตรีในระหว่างอยู่ไฟ
          ความเชื่อเรื่องการใช้แห (แหดักปลา) กั้นรอบเรือน เนื่องจากตาข่ายแหที่มีเป็นร้อยตา เชื่อว่า จะเป็นตาที่สามารถช่วยดูแลและป้องกันสิ่งชั่วร้าย ไม่ให้เข้ามารบกวนผู้ที่
อาศัยอยู่บนเรือนได้
          ความเชื่อเรื่องการคลอดง่าย เมื่อถึงเวลาที่หญิงเจ็บท้องจะคลอด (บางรายอาจไปคลอดที่เรือนของหมอตำแย แต่ส่วนมากจะคลอดที่เรือนของตนเอง) สามีจะไปตามหมอ
ตำแยที่ได้ฝากครรภ์ไว้ ซึ่งก่อนที่สามีจะออกจากเรือนของตนเอง ต้องใช้เท้าถีบกองหลัวให้ล้ม เชื่อว่าจะทำให้เด็กคลอดง่าย เมื่อหมอตำแยมาถึงและเข้าไปทำคลอด ห้ามสามี
ของสตรีมีครรภ์ตามขึ้นไป เพราะสามีจะต้องจัดเตรียมต้มน้ำไว้สำหรับอาบให้บุตรเกิดใหม่ และเตรียมกองไฟสำหรับให้ภรรยาอยู่ไฟหลังคลอด แต่มีกรณียกเว้นที่สามารถให้สามี
เข้าไปในห้องคลอดได้ หากสตรีที่กำลังจะคลอดไม่มีทีท่าว่าบุตรจะคลอดออกมาอย่างง่ายดาย มีวิธีแก้ไขตามความเชื่อว่า ต้องให้สามีเข้ามาเอาเท้ายันหลังภรรยา 3 ครั้ง เรียกว่า
การข่มให้ออก บุตรจึงจะสามารถคลอดออกมาได้ แต่ถ้าสามีไม่ได้อยู่ที่เรือนด้วยในขณะคลอด ก็จะต้องให้คนไปตามกลับมา เพื่อมาเอาเท้ายันหลังภรรยา จึงจะคลอดบุตรออกมา
อย่างง่าย ทั้งนี้หากจะอธิบายด้วยเหตุผล คือให้สามีกลับมาเป็นกำลังใจให้ภรรยานั่นเอง
          ความเชื่อเรื่องผีดี (ผีให้คุณ) บรรดาญาติของสตรีที่กำลังจะคลอดบุตร จะช่วยกันจัดขันหมากสำหรับไหว้ผีเรือน (ไทดำ เรียกว่า ขันมะ) ประกอบด้วย หมาก พลู เหล้าขาว
1 ขวด รวมทั้งต้องเตรียมเครื่องขันหมากอีกหนึ่งชุด ประกอบด้วย ธูป เทียน หมาก พลู เหล้าขาว 1 ขวด โดยใส่ค่าคายบูชาหมอตำแยลงไปในขันหมากด้วย เรียกว่า ค่าครู เพราะ
หมอตำแยต้องเรียนรู้การทำคลอดจากครู หมอตำแยจึงต้องไหว้บอกกล่าวครูบาอาจารย์ก่อนจะลงมือทำคลอด เมื่อหมอตำแยมาถึงเรือนของสตรีที่กำลังจะคลอดบุตร เจ้าของเรือน
หรือญาติ ต้องนำขันหมากไปเซ่นผีเรือนในกะล่อห่อง เป็นการบอกกล่าวผีเรือนให้ทราบว่า ลูกหลานกำลังจะเกิด ขอให้คุ้มครองให้ปลอดภัยทั้งแม่และบุตร

ภาพ ขันหมากหรือขันมะ สำหรับไหว้ผีเรือน
ที่มา ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก ผู้ถ่ายภาพ

ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 6-3-59

          ความเชื่อเรื่องผีไม่ดี (ผีให้โทษ) ก่อนที่สตรีจะคลอดบุตรออกมา เชื่อกันว่า ผีญาติพี่น้อง ที่เสียชีวิตในแบบที่เรียกว่า ผีตายทั้งกลม (ตายในขณะคลอดบุตร) และผีตายพราย
(ตายหลังจากคลอดบุตรออกมาแล้ว) อาจจะมารังควาญ ต้องทำพิธีเซ่นผี เรียกว่า พิธีวานขวัญผีเรือน ซึ่งเชื่อว่าหากปฏิบัติตามแล้ว ผีที่เป็นญาติพี่น้องที่ตายทั้งกลมหรือตายพราย
จะไม่มารังควานสตรีกำลังจะคลอดบุตร รวมทั้งเป็นการปลอบบำรุงขวัญให้สตรีที่กำลังจะคลอดบุตร ได้คลายความกลัวลงด้วย โดยหมอขวัญจะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ด้วยการฆ่า
ไก่ 1 ตัว เซ่นให้ผีกินก่อน เพื่อไม่ให้มารบกวนสตรีในขณะที่กำลังจะคลอด
          ขณะคลอด บรรดาญาติจะใช้เชือกผูกกับขื่อบ้านห้อยลงมา เพื่อให้สตรีท้องแก่จับเชือกหรือใช้ผ้าขาวม้าผูกข้อมือของสตรีท้องแก่ไว้กับเชือกที่พาดกับขื่อบ้าน โดยให้สตรี
ท้องแก่ชันเข่าและกางขาออก หมอตำแยจะช่วยทำหน้าที่ข่มท้องด้วยการคลำประคองเหนือท้องให้เด็กเอาหัวลง และเป็นการช่วยให้เด็กเลื่อนตัวลงต่ำด้วย เด็กจะได้คลอดหลุด
จากครรภ์มารดาง่ายขึ้น
          เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว สามีต้องเตรียมกระบอกไม้ไผ่เพื่อใช้ทำบั่งแห่ (กระบอกไม้ไผ่สำหรับใส่รกเด็ก) และเตรียมแผ่นไม้กระดานที่มีความกว้างพอดีกับตัวแม่ลูกอ่อน
เพื่อให้แม่ลูกอ่อนใช้นอนในขณะอยู่ไฟ ซึ่งเรื่องราวหลังจากที่ทารกได้คลอดหลุดพ้นจากครรภ์มารดาออกมาแล้ว จะเป็นช่วงที่เรียกว่า หลังเกิด ซึ่งก็จะมีความเชื่อในรูปแบบอื่นๆ
ต่อไป
          ปัจจุบัน คติความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการคลอดบุตรส่วนใหญ่ได้สูญหายไป ไม่มีการปฏิบัติแล้วในปัจจุบัน นั่นไม่ใช่เพราะลูกหลานคลายความเชื่อฟังคำสั่งสอนของบรรพบุรุษ
แต่ เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติตามความเชื่อได้ ส่วนความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับการคลอดบุตรที่ยังคงมีปฏิบัติอยู่ นอกเหนือจากคำ
อธิบายที่มีเหตุผลและเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติแล้ว แต่ความเชื่อนั้นยังสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปนั่นเอง

 




เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

ขวัญเมือง ชื่นฤทัย (สัมภาษณ์, 2 มิถุนายน 2555)
ปิ่น พันเชื้อ (สัมภาษณ์, 3 มีนาคม 2555)
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ฉบับหมอบรัดเล. พิมพ์ครั้งที่ 3. (2551). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โฆสิต.
สำรวย จันทร์ผ่อง (สัมภาษณ์, 8 มิถุนายน 2557)
บุญมี ปาริชาติธนกุล. (2546). ความเชื่อเรื่องผีในพิธีกรรมของชาวไทยโซ่งบ้านไผ่หูช้าง
อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชา
ไทยศึกษา, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อนุมานราชธน, พระยา. (2516). วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ของไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน. (2552). สารัตถะคติความเชื่อและพิธีกรรมลาวโซ่ง. มหาสารคาม
: หจก. อภิชาติการพิมพ์.
อ้น เผ่าพงศ์ (สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม 2557)