ครูเชื้อสายไทย
: กล้าต้นใหม่ผู้สานต่อภาษาไทยในมาเลเซีย
โดย...นางสาวทัศนาวดี
แก้วสนิท
อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
อีเมล์ : rectitude16@hotmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)
|
ภาพจากมูลนิธิพระวิเชียรโมลี
ภาพครูอาสาสมัครชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 2-4-58 |
|
เพราะเราเป็นคนเชื้อสายไทย
เราจึงต้องเรียนรู้ภาษาไทยที่เป็นภาษาแม่ จึงจะเรียกว่าไม่เสียชาติเกิด
เป็นคำพูดที่หนักแน่นของสาวน้อยวัย 18 ปี นางสาวนีรามัย
จันทวิรัตน์ ครูอาสาสมัครชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยจากโรงเรียนสอนภาษาไทยวัดพิกุลบุญญาราม
รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ที่มาเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ
การสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู และมูลนิธิพระวิเชียรโมลี
ณ วัดชัยมงคล จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ถ้อยคำที่สาวน้อยบอกเล่าไม่เพียงแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทย
หากแต่ยังสะท้อนจิตสำนึกที่ดีงามของชาว
มาเลเซียเชื้อสายไทยเช่นเดียวกับครูอาสาฯ คนอื่นๆ อย่าง นางสาวอาทิตยา ชายสุวรรค์
และนางสาวสุวิสา ศรีสงคราม ครูอาสาฯ สาวน้อยอีกสองคนที่กล่าวด้วยแววตาแห่งความ
มุ่งมั่นว่า พวกเขาเป็นครูอาสาสมัครโรงเรียนสอนภาษาไทยวัดพิกุลบุญญาราม รัฐเปรัค
เพิ่งจะเริ่มสอนได้ประมาณเดือนกว่าๆ เพราะครูที่สอนอยู่เป็นประจำต้องไปผ่าตัดขา
พวก
เขาจึงถูกคาดหวังว่าจะให้เป็นครูที่จะสอนรุ่นน้องแทน ซึ่งเขาเคยเรียนรู้จากครูมายังไง
เขาก็ตั้งใจจะสอนน้องๆ ไปแบบนั้น โดยถึงแม้ว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่มาเข้าร่วมอบรม
แต่ก็
ได้ประสบการณ์และเทคนิคการสอนที่แตกต่าง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสอนมาก
ภาพจากมูลนิธิพระวิเชียรโมลี
ภาพกิจกรรมการสวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อเรียนรู้มารยาทชาวพุทธของครูอาสาฯ
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 2-4-58 |
|
ครูนา ศรีภักดี
ครูผู้ควบคุมครูอาสาฯ จากรัฐเปรัคทั้ง 3 คน กล่าวว่า เด็กๆ ทั้งสามคนที่พามาจากรัฐเปรัค
คือลูกศิษย์ที่เคยเรียนกับครูมาก่อน ตั้งแต่เรียน ก ไก่ จนถึงจบ
ธรรมศึกษา ซึ่งครูก็หวังว่าพวกเขาจะมาเป็นกำลังสำคัญที่จะสืบทอดการสอนภาษาไทยต่อไป
เพราะสุขภาพของครูตอนนี้ไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก จึงชักชวนลูกศิษย์มาช่วยสอนที่
โรงเรียน ให้เขาได้สอนและให้รุ่นน้องได้เเรียนรู้กันแบบพี่สอนน้อง ซึ่งโรงเรียนเรามีเด็กนักเรียนอยู่ประมาณ
70 คน แบ่งตามหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนของมูลนิธิพระ
วิเชียรโมลีได้ 6 ห้อง ครูก็สอนทุกห้อง แบบชั่วโมงนี้สอนห้องนี้ สอนเสร็จให้ทำการบ้านในกระดาน
แล้วก็วิ่งไปห้องถัดไป สอนแบบนี้มาตลอด 20 กว่าปีนี้ เพราะเป็นครูคนเดียว
วันไหนเด็กป่วยก็เป็นนางพยาบาล ทำทุกอย่างจนเรียกได้ว่าเป็นครูยันภารโรง
ที่โรงเรียนวัดพิกุลบุญญาราม
บ้านตาเซะ รัฐเปรัค เรามีการเรียนการสอนทุกวันยกเว้นวันพระ ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนสอนภาษาไทยในรัฐอื่นๆ
ที่ส่วนมากจะสอนในวัน
หยุดเท่านั้น เพราะเราถือว่า ถึงแม้ว่าเด็กเขาจะมีเรียนที่โรงเรียนในระบบหรือมีเรียนพิเศษ
แล้วมาเรียนภาษาไทยได้แค่บางวัน เรียนได้วันละนิดวันละหน่อย มันก็ถือเป็นการเพิ่ม
พูนทักษะทั้งนั้น ครูก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็นึกถึงเด็กตาดำๆ ที่พ่อแม่เขามาฝากไว้ให้เรียนกับเรา
และสิ่งที่ทำให้ครูยังสอนอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะครูระลึกถึงพระครูเวชการ
โกศล อดีตเจ้าอาวาสที่ก่อตั้งโรงเรียนนี้และสอนครูมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ซึ่งครูเชื่อเหลือเกินว่า
ถ้าไม่มีพระอาจารย์ ไม่มีโรงเรียนสอนภาษาไทย ในวันนี้ก็คงไม่มีภาษาไทยเหลืออยู่
ในบ้านตาเซะ ซึ่งเราก็ต้องสอนสืบต่อไป จนกว่าจะสอนไม่ไหว เพราะเราเป็นคนเชื้อสายไทย
เราต้องสอนเด็กๆ ให้ได้รู้ภาษาไทย และเวลาสอนก็สอนภาษาไทยและสอดแทรก
วัฒนธรรมไทยควบคู่กันไปด้วย ครูนาเล่าให้ฟังด้วยใบหน้าแห่งความปิติ
ภาพจากมูลนิธิพระวิเชียรโมลี
ภาพการอบรมการออกแบบการสอนและการผลิตสื่อโดยครูจากประเทศไทย
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 2-4-58 |
|
เด็กหญิงบุษกร
ราชเจริญ สาวน้อยวัย 14 ปี ครูอาสาฯ จากวัดสุทธิประดิษฐาราม (วัดปรายละไม)
รัฐเคดาห์ กล่าวว่า มาอบรมโครงการนี้เป็นปีที่สองแล้ว และสมัครมาเป็น
ครูอาสาฯ เพราะพ่อเคยเป็นครูสอนที่วัดมาก่อน ส่วนเพื่อนๆ ที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันนี้ก็ชักชวนกันมา
เพราะหลังจากอบรมเสร็จก็จะกลับไปเริ่มสอนที่โรงเรียนแล้ว ซึ่งคิดว่าการ
ที่ตัวเองเลือกมาเป็นครูสอนภาษาไทยจะทำให้ได้ความรู้และได้พัฒนาทักษะมากขึ้น
สามารถนำไปสอนรุ่นน้องคนอื่นๆ ต่อได้ และการเรียนรู้ภาษาไทยของเยาวชนเชื้อสายไทยนี้
ยังสามารถนำใบรับรองการเรียนไปยื่นเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเพื่อสมัครงานที่ต่างๆ
ในประเทศมาเลเซียได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับเด็กชายชลิต
แม่นอุดม ครูอาสาฯ วัย 14 ปี จากรัฐเคดาห์ ที่บอกว่า พอเรียนภาษาไทยจบแล้วก็มาเป็นครูอาสาฯ
และกำลังเรียนธรรมศึกษาอยู่ด้วย โดยขณะนี้
สอบได้นักธรรมชั้นตรี และจะสอบในลำดับชั้นถัดไปต่อไป เขาคิดว่าการเรียนภาษาไทยมีความจำเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะกับชายชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยที่มีความเลื่อมใส
ศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีค่านิยมในเรื่องการบวช ซึ่งการเรียนรู้ภาษาไทยจะทำให้สามารถท่องบทสวดมนต์ได้อย่างคล่องแคล่วและเข้าใจ
นอกเหนือจากฆราวาสที่อุทิศตนเพื่อธำรงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมด้านภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชุมชนแล้ว
พระสงฆ์ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยสืบทอดภาษาไทยควบคู่ไปกับการ
ส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ในชุมชนชาวสยามเช่นกัน
อาตมาสอนภาษาไทยและธรรมศึกษาที่วัดมัชฌิมาประสิทธิ์
(วัดยาหวี) รัฐเปอร์ลิส มาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 80
คน โดยทำการสอนที่ศาลา
ประชาคมของหมู่บ้าน (Dewan) ซึ่งที่สอนนี้ก็มีความคิดว่า มันเหมือนกับเราหว่านเมล็ดข้าวลงไปในแปลงนาที่ดีแล้ว
เราคาดหวังว่าเด็กๆ จะเติบโตขึ้นอย่างสง่างาม แล้วเราก็จะ
ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้เราก็เห็นอยู่เป็นประจำว่าชาวสยามที่นี่เขามีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก
เช่นในวันพระ ผู้คนก็จะมาร่วมทำบุญกันเยอะมาก
แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ก็มีจิตสำนึกที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง พระนิวัติ
นิติสาโร แสดงทัศนะเกี่ยวกับชาวสยามในประเทศมาเลเซีย
ภาพจากมูลนิธิพระวิเชียรโมลี
ภาพการฝึกปฏิบัติการสอนของครูอาสาฯ
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 2-4-58 |
|
ทั้งนี้ การฝึกอบรมพัฒนาทักษะการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยโดยสถานกงสุลใหญ่
ณ เมืองโกตาบารู และมูลนิธิพระวิเชียรโมลี ณ วัดชัยมงคล จังหวัดสงขลา ในครั้งนี้
จัดขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถแก่ครูอาสาสมัครชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยให้มีทักษะและประสบการณ์การสอนภาษาไทยในระดับพื้นฐาน
รวมถึงให้ได้เรียนรู้เอกลักษณ์
ทางด้านศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทยในแผ่นดินมาตุภูมิ ที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์มรดกทางภาษา
ศาสนาและวัฒนธรรมไทย รวมถึงสร้างความเป็นปึกแผ่นสามัคคีและความเข้ม
แข็งให้กับชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในประเทศมาเลเซีย
สถานกงสุลใหญ่
ณ เมืองโกตาบารูมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการก่อตั้งสถานกงสุลในยุคสมัยที่
ประเทศมาเลเซียได้รับเอกราช คือการดูแลและให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไทยที่กลายเป็นพลเมืองของประเทศมาเลเซียจากการแบ่งเส้นปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอังกฤษ
เมื่อราวร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่ทางเราสนับสนุนส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่องคือ
การอนุรักษ์ภาษาไทย โดยดำเนินการใน 2 ลักษณะด้วยกัน รูปแบบแรกคือการนำครูจาก
ประเทศไทยเข้าไปสอนในรัฐกลันตัน โดยสอนในช่วงปิดเทอมใหญ่เป็นเวลาประมาณ 3
เดือน เฉพาะวันหยุดศุกร์และเสาร์ และอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ การนำคนสยามจากกลันตัน
เข้ามาเรียนภาษาไทยในประเทศไทยที่มูลนิธิพระวิเชียรโมลี เนื่องจากตำราที่เราใช้ในการสอนเป็นตำราของมูลนิธิพระวิเชียรโมลี
ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีเพื่อสร้างการเรียนรู้ของ
ครูอาสาสมัครชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย นายจักรกฤษณ์ กาญจนศูนย์ กงสุลใหญ่
ณ เมืองโกตาบารู กล่าว
นายจักรกฤษณ์
กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ที่เราพามาก็คือต้องการให้เขาได้มาเหยียบแผ่นดินเกิด
ต้องการให้เขามาสัมผัสถิ่นวัฒนธรรมเดิมของเขา ซึ่งเยาวชนเหล่านี้
ร้อยละ 90 ไม่เคยมาเมืองไทยเลย พอได้เข้ามาเมืองไทยก็จะตื่นตาตื่นใจมาก แล้วก็ได้มาสัมผัสกับประชาชนคนไทยจริงๆ
และสิ่งสำคัญก็คือ การสร้างเครือข่ายกับครูชาวไทย
ที่มาสอนเขาในโครงการนี้ เขาจะเกิดความผูกพันและเขาจะได้เรียนรู้จากครูมืออาชีพ
เพื่อเขาจะได้เป็นครูที่ดีเช่นกัน นอกจากนี้ เพื่อให้ชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยใน
ประเทศมาเลเซียมีความเข้มแข็ง เมื่อเขาเรียนรู้ภาษาไทย ติดต่อสื่อสารผ่านภาษาไทย
เข้าวัดฟังพระและสวดมนต์ได้ วัดพุทธของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยก็จะสามารถดำรง
อยู่ได้ ชุมชนก็จะเข้มแข็งและจะเกื้อหนุนให้ภาษาและวัฒนธรรมไทยธำรงอยู่เช่นเดียวกัน
การรวมตัวกันของเหล่าครูอาสาสมัครชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยราว
50 คนจากโรงเรียนสอนภาษาไทยในประเทศมาเลเซียในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการแสดงพลังแห่งความ
มุ่งมั่นตั้งใจของเหล่าเยาวชน คนหนุ่มสาว จากรัฐต่างๆ เช่น เคดาห์ กลันตัน
ตรังกานู เปอร์ลิส เปรัค และกรุงกัวลาลัมเปอร์ เท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามใน
การธำรงรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยเหล่านี้ด้วย
ทั้งนี้เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจในการสืบทอดวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่และความร่วมมือร่วมใจเป็น
ปึกแผ่นของชุมชนนั่นเอง ที่จะเป็นปัจจัยค้ำประกันความยั่งยืนของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และความเข้มแข็งของชุมชนในอนาคต
ภาพจากมูลนิธิพระวิเชียรโมลี
ภาพหมู่ผู้เข้าร่วมการอบรมและคณะทำงาน
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 2-4-58 |
|
หากเปรียบการริเริ่มเรียนรู้ของครูอาสาสมัครเหล่านี้เป็นการปลูกต้นไม้สักต้น
ที่ทางเล็กๆ คงกำลังถูกแผ้วถางให้โล่งเตียนพร้อมลงเมล็ดพันธุ์ที่ถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดี
รอวันเติบใหญ่เป็นต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งแม้ไม่ใช่บนผืนแผ่นดินแห่งมาตุภูมิ
แต่สายใยแห่งความสัมพันธ์และสำนึกร่วมในความเป็นไทยของชุมชนจะยังคงถูกเชื่อมร้อย
ไว้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง ตราบเท่าที่ภาษาไทยยังไม่สูญสิ้นไปจากจิตวิญญาณของครูเชื้อสายไทยในประเทศมาเลเซีย...
ครูเชื้อสายไทย...ต้นกล้าที่กำลังงอกงาม
Cikgu keturunan Siam...Benih yang semakin menyubur |
เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................
เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบจากมูลนิธิพระวิเชียรโมลี
(แฉล้ม เขมปญโญ) วัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา
ภาพประกอบบทความ **ภาพทั้งหมดจาก มูลนิธิพระวิเชียรโมลี
ภาพที่ 1 (Pict 01) ภาพครูอาสาสมัครชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย
ภาพที่ 2 (Pict 02) ภาพกิจกรรมการสวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อเรียนรู้มารยาทชาวพุทธของครูอาสาฯ
ภาพที่ 3 (Pict 03) ภาพการอบรมการออกแบบการสอนและการผลิตสื่อโดยครูจากประเทศไทย
ภาพที่ 4 (Pict 04) ภาพการฝึกปฏิบัติการสอนของครูอาสาฯ
ภาพที่ 5 (Pict 05) ภาพหมู่ผู้เข้าร่วมการอบรมและคณะทำงาน
|