SubMenu :: Back :: Next

 

 

 

2. กระบวนการเขียนบทความวิชาการ



          2.1.4 ตรวจแก้ไขขั้นสุดท้าย 

             ในการเขียนเนื้อหา การตรวจแก้ขั้นสุดท้ายมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อาจแบ่งเป็นการตรวจแก้ไขระดับผิวและการตรวจแก้ไขระดับลึก

 

             การตรวจแก้ไขระดับผิว หมายถึงการพิสูจน์อักษร รูปแบบการตีพิมพ์ ถ้อยคำสำนวน 

 

             การตรวจแก้ไขระดับลึก หมายถึงการตรวจเนื้อหา ศัพท์เฉพาะ การตรวจแก้ในขั้นนี้นักศึกษาหรือผู้วิจัยต้องถามตนเองด้วยคำถามสำคัญที่ว่า (1) บทความนี้สามารถโน้มน้าวใจผู้อ่านว่าเป็นบทความที่มีคุณค่าทางวิชาการหรือไม่   มีเนื้อหาส่วนที่ไม่ครอบคลุมเกี่ยวข้องประเด็นที่ต้องการนำเสนอหรือไม่  ประเด็นที่ต้องการนำเสนอชัดเจนหรือไม่ มีข้อสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ต้องการปูพื้นฐานเพิ่มเติมหรือไม่  โครงเรื่องของบทความสมเหตุสมผลหรือไม่ มีการเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ คำนำและสรุปกระทบใจผู้อ่านหรือไม่  บทความที่เขียนนี้สามารถทำให้ผู้อ่านสนใจที่จะอ่าน หรือนำไปครุ่นคิดต่อไปหรือไม่  การแก้ไขขั้นนี้อาจทำโดย ตัดข้อความที่ซ้ำและไม่เกี่ยวข้องออก ดูรายการข้อมูลสนับสนุนและตัวอย่างที่อาจเขียนในภาพรวมแทนได้  ดูคำอธิบาย ความเป็นมาหรือข้อสันนิษฐานที่อาจนำไปไว้ในส่วนอ้างอิงหรือภาคผนวก (2) ไสตล์หรือลีลาการนำเสนอ ซึ่งควรศึกษากับสาขาวิชา หรือภาษาที่นิยมใช้ในวงวิชาการนั้น ๆ เช่นในบทความวิชาการทางมนุษยศาสตร์อาจมีลักษณะการพรรณนาความ ไม่เขียนสั้นตรงประเด็นอย่างในบทความวิชาการทางวิทยาศาสตร์
 

             ในปัจจุบันนักศึกษาหรือผู้วิจัยส่วนใหญ่เขียนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะสามารถปรับแก้ เคลื่อนย้ายย่อหน้า แก้ไขคำศัพท์ได้สะดวกขึ้น และเห็นรูปแบบการนำเสนออย่างชัดเจน เป็นการช่วยในการแก้ไขวิธีหนึ่ง เห็นความเชื่อมโยงของข้อความได้ง่ายขึ้น ทดลองปรับแก้ได้สะดวกขึ้น
             การตรวจแก้นี้นักศึกษาหรือผู้วิจัยอาจอ่านเพื่อแก้ไขเองโดยทำตัวเป็นผู้อื่นที่มาอ่านงานของตนเอง หรือ เมื่อเขียนเสร็จทิ้งไว้สองสามวันแล้วจึงมาอ่านใหม่หรือให้เพื่อนหรือผู้อื่นอ่าน  การตรวจแก้เช่นนี้จะมีประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขผลงานให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
             นักศึกษาหรือผู้วิจัยควรระลึกว่า การเขียนก็คือการคิด หากคิดไม่ชัดเจน งานเขียนก็จะไม่ชัดเจน และ  นอกจากนี้ การเขียนก็คือการแก้ไขแล้วแก้ไขอีก ไม่มีงานเขียนใดที่ไม่มีการแก้ไข แม้กระทั่งผู้ที่เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิก็แก้ไขงานเขียนของตนเองเช่นกัน      

 

 

TOP