สำนวน
ภาษาที่สะท้อนรากเหง้าสังคมไทย
โดย...นางสุดารัตน์ บัวศรี
นักวิชาการศึกษา ชำนาญการ
หน่วยบรรณาธิการ ฝ่ายวิชาการ
สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อีเมล์ : upacbsud@yahoo.co.th
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)
|
ภาษาพูดของมนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด มีการพูดกันอยู่ 2 แบบ คือ แบบหนึ่ง พูดตรงไปตรงมาที่เป็นภาษาธรรมดา
เมื่อพูดออกมาก็เข้าใจทันที และแบบที่สอง พูดเป็น
ชั้นเชิงไม่ตรงไปตรงมา แต่ให้มีความหมายในคำพูดนั้นๆ ต้องคิดจึงจะเข้าใจ คำพูดที่เป็นชั้นเชิงนี้
เรียกว่า สำนวน หรือชาวบ้านมักพูดว่า พูดสำบัดสำนวน
ภาพจาก
Web Site
www.google.com /imagesCA7ZO
S1C
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 4-8-57 |
|
ที่มาของสำนวน
สำนวนมีที่มาหรือบ่อเกิดแห่งสำนวนแตกต่างกัน
สำนวนที่เกิดจากธรรมชาติ การกระทำ สิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ อุบัติเหตุ แบบแผนประเพณี
ศาสนา ความประพฤติ การ
ละเล่น จากนิทานตำนาน พงศาวดารหรือประวัติศาสตร์
คนที่ชอบพูดสำนวนบ่อยๆ
มักเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด มีการพูดเชิงเปรียบเทียบหรือกระทบกระเทียบ ประชดประชัน
หรือพูดให้สนุก เป็นอุทธาหรณ์ เตือนสติให้คิด อย่าง
ไรก็ตามสำนวนที่ใช้พูดเชื่อว่ามีมาตั้งแต่โบราณ เกิดขึ้นตามยุคสมัยต่างๆ
เมื่อเกิดเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป พัฒนาการของสำนวนจึงมีทั้งที่เปลี่ยนแปลงไป
สำนวนเก่า
ในยุคปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วบ้าง และสำนวนที่เกิดมาใหม่ก็มีเช่นกัน การพูดสำนวนนั้นมีความหมาย
แสดงความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม จะสังเกตได้ว่า สำนวนของชาติใด ๆ คน
ที่อยู่นอกบริบทของสังคมนั้นมักไม่เข้าใจความหมายเพราะไม่ได้อาศัยอยู่ในสังคมนั้น
เช่น
คนไทย นิยมพูดสำนวนว่า
จับปลาสองมือ ในขณะที่
คนอาหรับ จะพูดว่า
ขี่ม้าสองตัวในเวลาเดียวกัน หรือ
คนกรีก พูดว่า
มือเดียวถือแตงโมสองผลไม่ได้
หรือสำนวนของคนเวียดนามว่า
คานหามสามีไปหน้า คานหามภรรยาก็ตามหลัง เปรียบเทียบกันสำนวนไทย สามีเป็นช้างเท้าหน้า
ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง
คนไทยไม่มีม้าขี่เป็นพาหนะ
จึงไม่มีสำนวนเกี่ยวกับม้า แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ
พืช ป่า และอาหาร จึงใช้ปลาเป็นสัญลักษณ์
ในการเปรียบ หรือประเทศไทยมีช้างมาก นิยมเลี้ยงช้างตั้งแต่สมัยโบราณ ก็จะเปรียบการก้าวเดินของช้างว่าเท้าหน้าต้องก้าวก่อน
จะหมายถึง ชายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว ส่วน
ภรรยาถือว่าเป็นเท้าหลัง ก้าวตาม ซึ่งต่างกับชาวญวนที่เปรียบกับคานหาม ที่ให้สามีเป็นผู้เดินนำหน้า
ส่วนภรรยาเป็นผู้ตาม เป็นต้น ฉะนั้นสำนวนที่ใช้พูดกันติดปากจะแสดง
พื้นฐานความคิด ความรู้สึก ความเป็นอยู่ ความต้องการของสังคมนั้นๆ ด้วย
ภาพจาก
Web Site
www.google.com/imagesCAINIL8Y.jpg
และ www.google.com/imagesCATMGQULT.jpg
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 4-8-57 |
|
สำนวนไทยสะท้อนรากเหง้าสังคมอย่างไร
สำนวนไทยมีที่มาหรือบ่อเกิดแตกต่างกันไปตามที่เกิดดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ขอยกตัวอย่างสำนวนไทยที่สะท้อนสภาพสังคมไทยในอดีตให้เห็นชัดเจน ดังนี้
1. สำนวนที่มาจากธรรมชาติ เช่น สำนวน ตื่นแต่ไก่โห่หรือมาตั้งแต่ไก่โห่
เป็นสำนวนที่พูดกันเล่นๆ
มาจากธรรมชาติของไก่ย่อมขันในเวลาเช้าตรู่เสมอ ตื่นแต่ไก่ขัน จึงหมายถึง
ตื่นแต่เช้าตรู่ หรือมาก่อนเวลามาก มนุษย์เมื่อเห็นธรรมชาติของไก่
ที่ขันแต่เช้า จึงนำมาพูดเป็นสำนวนเชิงเปรียบเทียบ
อีกสำนวนหนึ่ง
ไก่เขี่ย
เป็นสำนวนเชิงเปรียบเทียบโดยมีที่มาจากธรรมชาติ
ขณะที่ไก่คุ้ยเขี่ยอาหารกิน ไก่จะใช้ตีนคุ้ยเขี่ยพื้นดิน หาอาหารกิน ทำให้ดินบริเวณที่ไก่คุ้ยเขี่ยมีลักษณะเป็นลายเส้น
ที่พาดทับกันไปมา ดูไม่ออกว่าเป็นรูปร่างอย่างไร คล้ายกับลายมือที่เขียนอย่างหวัดจนอ่านไม่ออก
2. สำนวนที่มาจากการกระทำ เช่น สำนวน ไกลปืนเที่ยง
เป็นสำนวนที่เกิดจากการกระทำ
โดยมีที่มาจากเหตุการณ์ในอดีต เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการยิงปืนขึ้นฟ้า
เวลา 12 นาฬิกา ที่พระนคร เพื่อให้รู้ว่าเป็นเวลาเที่ยงวัน
คนในพระนครได้ยิน แต่คนที่อยู่ไกลออกไปหรือนอกเมืองมากก็จะไม่ได้ยินเสียงปืน
หมายถึง ข่าวคราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพระนคร เปรียบเทียบว่าคนที่อยู่ไกลออกไปก็จะไม่รู้เรื่อง
ราวอะไรเลย
3. สำนวนที่มาจากสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่
เช่น สำนวน ก้นหม้อไม่ทันดำ
เป็นสำนวนที่เกิดจากความเป็นอยู่
เปรียบวิธีหุงข้าวว่า เมื่อก่อนเวลาที่ก่อไฟจะใช้ฟืนในการหุงข้าว หม้อข้าวที่ใช้ไปนานวัน
เขม่าควันฟืนก็จะจับก้นหม้อกลายเป็นสีดำ จึงนำ
ไปเปรียบกับสามีภรรยาที่แต่งงานอยู่กินด้วยกัน แล้วเลิกกันเร็ว อยู่ด้วยกันไม่ทันก้นหม้อดำก็เลิกกันแล้ว
4. สำนวนที่มาจากอุบัติเหตุ เช่น สำนวน ตกกระไดพลอยโจน
เป็นสำนวนที่เกิดจากอุบัติเหตุ
ขณะที่เมื่อคนหนึ่งตกกระได คนที่อยู่ที่นั่นด้วย มักจะกระโจนเข้าไปช่วย หรือกระโจนเข้าไปช่วยแบบตั้งสติให้มีท่าทาง
มีความหมายไป
2 ทาง หมายถึง พลอยประสมไปด้วย เมื่อเห็นจะต้องทำตามไป ส่วนอีกความหมายหนึ่ง
หมายถึง ผู้อื่นไปทางหนึ่งก่อนแล้วตนเองก็พลอยตามไปด้วย ถึง
เวลาที่ตนเองจะต้องทำ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ก็เลยประสมทำไปด้วยเสียเลย
5. สำนวนที่มาจากประเพณี เช่น สำนวน ฝังรกฝังราก
เป็นสำนวนที่มาจากการทำพิธีทำขวัญทารกที่เกิดได้
3 วัน บิดามารดานำรกและมะพร้าวที่แทงหน่อไปฝังดินพร้อมกัน บริเวณดินที่ฝังนั้น
ตั้งใจจะให้เป็นเรือนหอแต่งงาน
หรือเรือนอยู่อาศัยของบุตรสืบไป สำนวนนี้จึงเกิดจากประเพณี หมายถึง การตั้งหลักแหล่งที่ใดที่หนึ่งเป็นการถาวร
6. สำนวนที่มาจากศาสนา เช่น สำนวน ขนทรายเข้าวัด
เป็นสำนวนที่มาจากการทำบุญก่อพระทรายที่วัด
โดยวัดที่จัดงานก่อพระทรายจะมีประชาชนที่จะทำบุญพระทรายจะนำเงินทำบุญให้กับผู้จัดการวัด
แล้วไปรับกรวยมาขน
ทรายที่วัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นเอาทรายใส่กรวย แล้วครอบลงไปกับพื้นดินเป็นรูปองค์เจดีย์
แล้วนำธงเล็กๆ มาปักที่ยอดแต่งให้สวยงาม บางวัดประชาชนมีการนำทรายมาจาก
หาดทรายกันเอง ช่วยกันนำมาถมลานวัด ถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง จึงเป็นสำนวนที่มีความหมายว่า
หาประโยชน์ให้ส่วนรวม
7. สำนวนที่มาจากความประพฤติ เช่น สำนวน กินข้าวร้อนนอนสาย
เป็นสำนวนความประพฤติของเจ้าขุนมูลนายที่เวลาจะกินอาหารที่ปรุงเสร็จ
กำลังร้อนก็ทำได้ทันที แต่เมื่อใดที่จะนอนตื่นสาย หรือตื่นนอนเมื่อใดก็ได้เช่นกัน
2 คำนี้จึงนำมา
รวมกันที่นำพฤติกรรมของเข้าขุนมูลนายที่ทำอะไรก็ได้ตามใจ เป็นอิสระ ต่างจากคนชั้นทาสที่ต้องอยู่ในบังคับ
นอนสายไม่ได้ กินก็ไม่สะดวกสบาย กว่าจะได้กินอาหารก็เย็นชืด
สำนวนนี้หมายความว่า คนที่มีชีวิตสุขสบาย
8. สำนวนที่มาจากการละเล่น เช่น สำนวน สู้จนเย็บตา
เป็นสำนวนที่มาจากการเล่นพนันไก่ชน
ไก่คู่ต่อสู้ถูกตีจนตาแตก เจ้าของไก่ไม่ยอมแพ้ เย็บตาไก่เพื่อให้ต่อสู้ต่อไปได้อีก
จึงหมายถึง สู้อย่างทรหดไม่ยอมถอย สู้จนถึงที่สุด
หรืออีกสำนวนว่า
“สายป่านสั้น”
เป็นสำนวนที่มาจากการเล่นว่าวจุฬาคว้าปักเป้า
ซึ่งว่าวจุฬาต้องมีสายป่านยาวจึงจะคว้าสะดวก และเมื่อติดปักเป้าแล้วจะผ่อนสายเล่นคลุกปักเป้าให้เสียท่าอย่างไรก็ได้
ถ้า
สายป่านสั้นก็จะทำอะไรเช่นนี้ไม่ได้ เปรียบเทียบถึงการมีเงินน้อยทุนน้อย
9. สำนวนที่มาจากนิทาน นิยาย เช่น สำนวน มาก่อนไก่
เป็นสำนวนที่มาจากนิทาน
นิยายเรื่อง ศรีธนญไชย ที่พระเจ้าแผ่นดินสั่งว่า พรุ่งนี้ข้ามีธุระนักนะเจ้า
มาหาเรารีบจรมาก่อนไก่ ศรีธนญไชยนอนตื่นสาย จึงจับไก่ผูก
เอวมาเข้าเฝ้า พระเจ้าแผ่นดินกริ้วมาก ศรีธนญไชยจึงกราบทูลว่า ให้ข้าเจ้ารีบจรมาก่อนไก่
ข้าได้ผายผันดังบรรหาร ไก่ก็มาอยู่นี้มีพยาน เห็นแจ้งการแม่นมั่นดัง
บัญชา ข้ามาหน้าก่อนดูไก่อยู่หลัง ความจริงจังแม่นมั่นฉะนั้นหนา
จึงเป็นสำนวน หมายถึง มาตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน หรือไก่ยังไม่ตื่น
10. สำนวนที่มาจากพงศาวดาร เช่น สำนวน ปล่อยม้าอุปการ
เป็นสำนวนที่มาจากพงศาวดาร
มูลของสำนวนมาจากเรื่อง รามเกียรติ์ ในตอนที่ พระรามทำพิธีปล่อยม้าอุปการ
แล้วให้หนุมานตามไปดูว่า มีใครมาจับม้าตัวนี้ ก็จะทำการ
ปราบ มีความหมายว่า ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ให้คนออกเที่ยวพาลหาเรื่องหรือให้เกิดเรื่องขึ้น
เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของตน
การศึกษาที่มาและสำนวนของไทย
ทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของชาติ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา การกินอยู่ ความรู้สึกนึกคิด
เช่น ความอ่อนโยน ความเคารพผู้ใหญ่
การให้อภัย การอยู่ร่วมกันอย่างมีไมตรี ฯลฯ นอกจากนี้สำนวนยังทำให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของสังคมในยุคสมัยนั้นๆ
ความหมายของสำนวนยังทำให้เกิดความคิดสุขุม
ลุ่มลึก มีสติปัญญา ทั้งหมดนี้ยังสะท้อนให้เห็นสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความคิด
ความเชื่อของคนไทยในอดีต สำนวนจึงเป็นถ้อยคำที่มีคุณค่าทางภาษาอย่างยิ่ง
สำนวนคือภาษา
และภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย จึงควรอนุรักษ์ไว้สืบไป
เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................
ขุนวิจิตรมาตรา
(สง่า กาญจนาคพันธุ์) (2539) สำนวนไทย (พิมพ์ครั้งที่ 3) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี
(ไทย-ญี่ปุ่น) กรุงเทพมหานคร: ดวงกมลสมัย
กระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการ (2545) สำนวนไทย กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
|