วิเคราะห์คำสอนใน “อิศรญาณภาษิต”
โดย...นายชัยณรงค์  อกอุ่น
ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
โรงเรียนโพธิ์ไทรพิทยาคาร
อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี
อีเมล์ : makkaaot@gmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)


          อิศรญาณภาษิตเรียกอีกอย่างว่า “เพลงยาวอิศรญาณ” เป็นพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณ ซึ่งเล่ากันว่าเป็นผู้มีพระจริตไม่ปกติ ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทำสิ่งวิปริตไปแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสบริภาษว่าเป็นบ้า ทำให้ใคร ๆ ก็พากันเห็นด้วยกับพระราชดำรัสนั้น ด้วยความน้อยพระทัยของหม่อมเจ้าอิศรญาณจึงทรงนิพนธ์เพลง
ยาวฉบับนี้ขึ้น มีผู้สันนิษฐานว่าอิศรญาณภาษิตนี้ ไม่ใช่พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณแต่เพียงผู้เดียว หากแต่ทรงนิพนธ์ไว้เพียงตอนแรกเท่านั้น กล่าวคือ สันนิษฐานว่าทรง
นิพนธ์ถึงวรรคว่า “ปุถุชนรักกับชังไม่ยั่งยืน” ซึ่งมีลีลาการแต่งไว้ด้วยน้ำเสียงเหน็บแนมประชดประชันอย่างรุนแรง ชัดเจนส่วนที่เหลือเป็นของผู้อื่นแต่งต่อ โดยเป็นการสอนเรื่อง
ทั่วๆ ไป มีลีลาหรือท่วงทำนองแบบเรียบๆ มุ่งสั่งสอนตามปกติของผู้มีประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้นำมาเรียบเรียงไว้ทั้งหมด

ภาพจาก Web Site
http://i156.photobucket.com/albums/t12/naphason/Thai_Picture026.gif
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 19-6-58

          อิศรญาณเป็นวรรณคดีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสอน โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติตนที่จะทำให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นปกติสุข ดังนั้น การอ่านวรรณคดีประเภทนี้จึงเป็นประโยชน์
อย่างยิ่งกับสังคมไทยในปัจจุบันซึ่งผู้อ่านจะได้ข้อคิดต่าง ๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยขึ้นอยู่กับวัยและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ดังต่อไปนี้

          ๑. การมีน้ำใจ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ดังนั้น ถ้าจะอยู่ในสังคมให้ได้จึงต้องมีการถ้อยทีถ้อยอาศัยให้อภัยซึ่งกันและกัน
ดังบทประพันธ์

          ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ...ฯ

          จากบทประพันธ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การพึ่งพาอาศัยกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มนุษย์อยู่รอด แม้กระทั่งธรรมชาติยังพึ่งพาอาศัยกันมนุษย์ก็ควรที่จะรู้จักการพึ่งพา รู้จักการ
ให้อภัย ให้มีความรักและสามัคคีไว้ดีกว่าการเกลียดชังที่จะไม่สร้างผลดีให้แก่ฝ่ายใด

          ๒. การเข้าสังคมและการปฏิบัติตนต่อผู้อื่น ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ย่อมมีการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ในบางครั้งความขัดแย้ง
อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น อิศรญาณภาษิตจึงได้สั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นในที่สาธารณชน ดังบทประพันธ์



คนสามขามีปัญญาหาไว้ทัก
เดินตามรอยผู้ใหญ่หมาไม่กัด
จะเรียนคมเรียนเถิดอย่าเปิดฝัก
ที่ไหนหลักแหลมคำจงจำเอา
ไปพูดขัดเขาทำไมขัดใจเขา...ฯ

          จากบทประพันธ์กวีได้แสดงทัศนะเพื่อสั่งสอนให้แนวคิดและข้อคิดเกี่ยวกับการวางตนในสังคม โดยเริ่มจากการหาความรู้ให้แก่ตน การเข้าสังคมให้รู้จักเลือกคบคนที่มี
ปัญญาความรู้เพราะเขาจะนำพาไปสู่หนทางที่ดีงาม และอีกประการคือการพูดจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น ไม่ควรไปพูดขัดคอหรือขัดใจ หรือถ้าหากระหว่างการสนทนา
เกิดเหตุการณ์ไม่พอใจในคำพูดของกันและกัน ควรที่จะทำให้สถานการคลี่คลายลง ไม่ควรบาดหมางกัน

          ๓. หลักการฟัง ในชีวิตประจำวันของมนุษย์จะต้องใช้ทักษะทั้ง ๔ ประการในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งใน
อิศรญาณภาษิตกวีได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการฟังไว้ ดังบทประพันธ์

          อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก
จงฟังหูไว้หูคอยดูไป
ไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว
เชื่อน้ำใจดีกว่าอย่าเชื่อยุ...ฯ

          จากบทประพันธ์กวีได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับการฟังคือ ให้รู้จักฟังหูไว้หู ไม่เชื่อคำพูดของผู้ใดง่าย และที่สำคัญต้องไม่หลงไปกับคำพูดยุยงซึ่งเป็นการฟังที่ไม่เกิดประโยชน์
ต่อผู้ฟังแม้แต่น้อย

          ๔. การรับราชการ โดยมุ่งเน้นเฉพาะผู้ที่ทำงานใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ ดังบทประพันธ์

          เป็นข้าเฝ้าเหล่าเสวกามาตย์
อย่าชิดอย่าให้ห่างเป็นกลางไว้
มิควรทูลก็อย่าทูลประมูลข้อ
ยิ่งกว่าทาสทาสาข้าสินไถ่
ฝ่ายข้างในอย่านำออกนอกอย่าแจง
จะเกิดก่อลุกลามความแสลง...ฯ

          จากบทประพันธ์กวีได้สะท้อนข้อคิดประการสำคัญสำหรับผู้รับราชการที่จะต้องรู้จักการคิดควรไตร่ตรอง ความในไม่นำออก ความนอกไม่นำเข้า เพราะจะทำให้เรื่อง
ลุกลามไปจากเดิม

           ๕. การออมทรัพย์ สังคมมนุษย์ได้เปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานที่เคยเป็นระบบแลกเปลี่ยนสินค้ามาเป็นระบบเงินตราที่เป็นบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ อิศรญาณภาษิตได้
ให้ข้อคิดประการหนึ่งที่ให้มนุษย์รู้จักการออม ดังบทประพันธ์

          หาเงินติดไถ้ไว้อย่าให้ขาด
ตำลึงบาทหาไม่คล่องเพียงสองสลึง...ฯ

          จากบทประพันธ์กวีได้สะท้อนให้เห็นว่าเงินตราเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อมนุษย์ แม้มีไม่มาก แต่ก็ควรเก็บหอมรอมริบไว้ใช้ในเมื่อคราจำเป็น

           ๖. การคบมิตร ในปัจจุบันสังคมปะปนไปทั้งคนดีและคนไม่ดี ดังนั้นการมีหลักยึดในการคบมิตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอิศรญาณภาษิตได้ให้ข้อคิดประการนี้ไว้
ดังบทประพันธ์

          อย่าคบมิตรจิตพาลสันดานชั่ว
คบนักปราชญ์นั่นแหละดีมีกำไร
จะพาตัวให้เสื่อมที่เสื่อมใส
ท่านย่อมให้ความสบายหลายประตู...ฯ

          จากบทประพันธ์กวีได้แสดงทัศนะประการสำคัญคือ การคบมิตรจะต้องเลือกคบบุคคลที่มีความรู้ ฉลาด และเป็นคนดีเพราะจะนำพาไปสู่หนทางที่เจริญ ผิดกับคนพาล
จะพาเราไปสู่หนทางแห่งอบาย

ภาพจาก Web Site
http://i156.photobucket.com/albums/t12/naphason/Thai_Picture026.gif
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 19-6-58

          ๗. การดูคน ในปัจจุบันเต็มไปด้วยผู้คนที่ต่างได้รับการอบรมมาไม่เหมือนกัน อิศรญาณภาษิตให้ข้อคิดประการสำคัญในการศึกษาคน ดังบทประพันธ์

          ดูตระกูลดูกิริยาดูอากัป
ดูฉลาดเล่าก็เห็นที่เจรจา
ดูทิศจับเอาที่ผลต้นพฤกษา
ดูคงคาก็พึงหมายสายอุบล...ฯ

          จากคำประพันธ์ข้างต้น จะเห็นการศึกษาลักษณะนิสัยของคนว่าเป็นอย่างไร การดูคนจะพิจารณาจากที่มาของคนผู้นั้น ผู้ที่มีกิริยามารยาทดีก็จะรู้ว่ามาจากตระกูลดี
ครอบครัวอบรมสั่งสอนดี จะดูทิศทางก็ให้สังเกตต้นไม้ เพราะคนโบราณจะปลูกต้นไม้ตามทิศเพื่อความเป็นสิริมงคล ดูว่าเป็นคนดีมีปัญญาเฉลียวฉลจะดูจากการพูดจาปราศรัย
แม้เราเห็นแม่น้ำจะรู้ถึงความลึกตื้นก็ต้องดูที่สายบัวก่อน เมื่อรู้ดังนี้แล้วจะได้ปฏิบัติตามเพื่อให้เป็นที่นิยมชมชอบและรักใคร่ของผู้อื่น

          ๘. ความสามัคคี ความสามัคคีเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติยังธำรงอยู่ได้ อิศรญาณภาษิตได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับคุณค่าของความสามัคคี โดยยกนิทานเกี่ยว
กับนกกระจาบมาเป็นตัวอย่าง ดังบทประพันธ์

          นกกระจาบเดิมหนักหนามากกว่าแสน
ครั้นภายหลังอวดกำลังต่างถือตน
ไม่เดือดแค้นสามัคคีย่อมมีผล
พรายก็ขนกระหน่ำมาพากันตาย...ฯ

          จากบทประพันธ์ได้ให้ข้อคิดประการสำคัญคือ ไม่ว่าที่ใดก็ตามถ้ามีความสามัคคี ที่นั้นย่อมดำรงอยู่ได้ แต่ถ้าเมื่อใดขาดความสามัคคีก็จะทำให้ทุกอย่างเสื่อมสูญเหมือน
ดั่งฝูงนกกระจาบที่ต้องตายเนื่องจากการแตกความสามัคคี

           ๙. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สังคมไทยเป็นสังคมที่ผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา ซึ่งมีส่วนในการกล่อมเกล่าจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่บนครรลองของความดี
อิศรญาณภาษิตได้สะท้อนข้อคิดประการสำคัญที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ดังบทประพันธ์

          ถ้าทำดีก็จะดีเป็นศรีศักดิ์
ถ้าทำชั่วชั่วจักตามสนอง...ฯ

          จากบทประพันธ์ได้สะท้อนข้อคิดที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

           ๑๐. ให้รู้จักเตือนตนเอง การที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข นอกจากการรู้จักบุคคลอื่นแล้ว ที่สำคัญต้องรู้จักจิตใจของตนเอง ดังบทประพันธ์

          เกิดเป็นคนเชิงดูให้รู้เท่า
ใจของเราไม่สอนใจใครจะสอน...ฯ

          จากบทประพันธ์กวีได้แสดงทัศนะที่เป็นข้อคิดเตือนใจกับผู้อ่านให้มาสำรวจตนเอง ความรู้บางประการอาจมีครูอาจารย์สอนได้ แต่ในบางเรื่องตนเองจะเป็นผู้สอนตนเอง
ได้ดีที่สุด

          การอ่านวรรณคดีประเภทคำสอน ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าตนกำลังได้รับการสั่งสอนโดยตรง เพราะความเพลิดเพลินในสำนวนโวหาร ประโยชน์สูงสุดของอิศรญาณภาษิตคือ การ
ได้คติเตือนใจ ได้แนวทางสำหรับการประพฤติตนเพื่อให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สัจธรรมคำสอนในเรื่องเป็นความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ แม้ว่าจะเป็น
เรื่องสั้นๆ แต่ก็ให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านอย่างมหาศาล ถ้าผู้อ่านน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน



 
เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

https://plus.google.com/+nopajornfuengfusakul/posts
https://non9279.wordpress.com/2012/12/18/th23102-m3-literature-isorayanphasit/
http://i156.photobucket.com/albums/t12/naphason/Thai_Picture026.gif