ความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับข้อปฏิบัติสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร
ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ ตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี

โดย...ดร.กานต์ทิตา   สีหมากสุก
อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ต.หมากแข้ง  อ. เมือง  จ.อุดรธานี
อีเมล์ : kanthita_kan@hotmail.com

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)



          หากกล่าวถึงการคลอดบุตรในอดีต หลายท่านอาจเคยได้ยินเรื่องราวของผีตายพราย หรือสตรีที่เสียชีวิตหลังจากคลอดลูกออกมาแล้ว ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตของสตรีหลังคลอดบุตร
มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การตกเลือดหลังคลอด เป็นต้น เหล่านี้เป็นสาเหตุให้สตรีครรภ์แก่ส่วนมากกังวลใจ เพื่อคลายความกังวลใจและเพื่อปลอดภัยของสตรีที่เพิ่งคลอดบุตร รวมทั้ง
จะต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมดูแลบุตร จึงมีข้อปฏิบัติสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรตามความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ ตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี แบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน
ได้แก่ 1) ความเชื่อในช่วง 3 วันแรกหลังคลอด และ 2) ความเชื่อในช่วงหนึ่งเดือนแรกหลังคลอด โดยยกความเชื่อบางประการมากล่าว ดังนี้

ภาพ การก่อแม่เตาไฟแบบดั้งเดิม สำหรับให้สตรีแม่ลูกอ่อนได้ใช้อยู่ไฟหลังคลอดบุตร
ที่มา ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก ผู้ถ่ายภาพ

ข้อมูลภาพ ณ วันที่
5-7-59


1. ความเชื่อในช่วง 3 วันแรกหลังคลอด
          1.1 ความเชื่อในช่วง 3 วันแรกหลังจากที่สตรีได้คลอดบุตรออกมาล้ว สตรีต้องอยู่ไฟหรืออยู่กำไฟ (ไทดำ ออกเสียงว่า อยู่ก๊ำไฟ) คำว่า กำหรือก๊ำ แปลว่า ข้อห้าม ดังนั้นการอยู่กำไฟ
จึงหมายถึง ข้อห้ามที่ต้องยึดถือปฏิบัติในระหว่างการอยู่ไฟ ดังที่ เสฐียรโกเศศ (2552, หน้า 55-56) เรียกช่วงเวลานี้ว่า อยู่กรรม โดยอธิบายว่า น่าจะเป็นเรื่องการล้างมลทินอันเกิดจากการ
คลอดลูก มากกว่าจะเป็นไปเพื่อการบำบัดพยาบาล เพราะการคลอดลูกเป็นไปตามธรรมดา ไม่ได้เป็นการรักษาโรค การคลอดลูกจะมีเลือดฝาดและสิ่งโสโครกออกมา เชื่อกันว่าเป็นมลทิน
จึงต้องมีการชำระล้างมลทินให้หมดไป ซึ่งมลทินทั้งหลายสามารถชำระล้างได้ 2 วิธีการ ดังนี้
          วิธีการแรก ชำระล้างด้วยน้ำ แต่ถ้าหากว่าเมื่อใช้น้ำล้างธรรมดาได้ไม่หมดจด จึงต้องใช้ความร้อนล้าง
          วิธีการที่สอง คือ ชำระล้างด้วยไฟ เพื่อให้สิ่งที่เป็นมลทินเหือดแห้งไป
          1.2 เมื่อเด็กคลอดหลุดพ้นจากครรภ์ออกมาแล้ว สตรีหลังคลอดต้องบำรุงร่างกายด้วยการดื่มน้ำส้มมะขามเปียกคั้นผสมกับเกลือ เพื่อช่วยขับของเสียและเลือดเสียที่คั่งค้างอยู่ใน
ร่างกายให้ออกมา
          1.3 หลังจากที่สตรีได้คลอดบุตรออกมาแล้ว ต้องล้างทำความสะอาดร่างกายเล็กน้อยด้วยน้ำอุ่นที่ต้มผสมใบไม้สมุนไพรพื้นบ้าน เช่น ใบหนาด ใบมะขามและข่า แต่บางตำราก็อ้างอิง
มาจากตำนานเรื่องกวางทองของไทดำ เกี่ยวกับการปฏิบัติตนของสตรีหลังคลอดบุตร ว่าต้องให้กินเถาอุ้มลูกไปดูหนัง และกินน้ำร้อนในขณะอยู่ไฟ
          1.4 หลังจากที่สตรีอาบน้ำแล้ว ต้องนั่งอยู่ไฟทันที ซึ่งบรรดาญาติจะเป็นผู้ก่อกองไฟไว้ให้ โดยในช่วง 3 วันแรกของการอยู่ไฟ สตรีลูกอ่อนต้องนั่งหันหน้าเข้าหาเตาไฟตลอดเวลา คอย
เอามือควักเขม่าควันไฟในเตามากินและดื่มน้ำอุ่นอยู่สม่ำเสมอ หากจะอาบน้ำ ต้องอาบน้ำอุ่นผสมใบสมุนไพรทุกครั้ง เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น สตรีที่กำลังอยู่ไฟในช่วงนี้ เรียกว่า “แม่กำไฟ”
          1.5 ในช่วงตลอดการอยู่ไฟ ห้ามแม่กำไฟสระผม เพราะจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย
          1.6 ในช่วงที่สตรีกำลังอยู่ไฟ ไทดำตำบลหนองปรงมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีไม่ดี จะเข้ามาทำร้ายแม่และทารก จึงต้องนำไม้มีหนาม เช่น กิ่งต้นพุทรา มาวางไว้ที่มุมห้องหรือใต้ถุน
เรือน (บ้าน) โดยก่อกองไฟไว้ใต้ถุนเรือนตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะเชื่อว่า ผีไม่ดีจะกลัวและไม่เข้ามาใกล้บริเวณบ้าน
          1.7 ในช่วงระยะที่กำลังอยู่ไฟ แม่ลูกอ่อนไม่ต้องเข้าไปทำพิธีปาดตงผีเรือน (เซ่นอาหารให้ผีบรรพบุรุษในกะล่อห่อง) เพราะเชื่อว่าผีเรือนไม่ชอบกลิ่นคาวเลือดของสตรีหลังคลอด
          1.8 ห้ามไม่ให้สตรีลูกอ่อนกับเด็กทารกออกไปนอกบ้าน เพราะเชื่อว่ากลิ่นคาวเลือดของสตรีที่เพิ่งคลอดบุตรจะทำให้ผีไม่ดีมารบกวน แต่ถ้าหากจำเป็นจะต้องพาเด็กออกไปนอกบ้าน
ให้เอาขี้ดินหม้อทาหน้าเด็กให้ดำ เพราะเชื่อว่าผีไม่ดีจะไม่มารบกวนหรือมาเอาเด็กไปอยู่ด้วย อีกทั้งการที่สตรีแม่ลูกอ่อนออกไปนอกบ้าน จะต้องโดนทั้งแดดและฝุ่น อาจทำให้ไม่สบายได้
          1.9 ห้ามสตรีลูกอ่อนทำงานหนัก เนื่องจากช่วงนี้ร่างกายของสตรีลูกอ่อนยังไม่แข็งแรงดี หากทำงานหนักอาจทำให้ไม่สบายหรือเป็นไข้ได้ เมื่อไม่สบายจะส่งผลให้ทารกที่ต้องดื่มนม
แม่ติดไข้ไม่สบายไปด้วยนั่นเอง
          1.10 ความเชื่อเรื่องอาหารของสตรีหลังคลอด ในช่วงนี้ สตรีรับประทานได้เฉพาะข้าวเหนียวนึ่งกับเกลือคั่วหรือเกลือเผาเท่านั้น (เกลือใส่ใบตองปิ้ง) เพื่อช่วยล้างลำไส้และเพื่อป้องกัน
ไม่ให้เกิดอาการแสลงของ
          1.11 ในช่วง 3 วันแรก จะมีญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดมาเยี่ยมและอยู่เป็นเพื่อนแม่กำไฟ จนเมื่อออกกำไฟช่วงนี้แล้ว สตรีลูกอ่อนต้องไปสระผมที่ท่าน้ำ แต่ห้ามอาบน้ำ โดยทำเพียงใช้
ผ้ารัดเอวไว้หนึ่งผืนและคาดชุดติดไฟ (ไทดำ เรียกว่า ผ้าฮ้ายฝั้นใต้ไฟ) ทับไว้อยู่ข้างนอก เพื่อให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย เมื่อกลับมาถึงเรือนให้ทำพิธีเซ่นผีย่าไฟ โดยใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง
นำไปวางไว้ตรงที่ทารกคลอด จากนั้นทำพิธีสู่ขวัญให้แก่เด็กน้อยเกิดใหม่ ส่วนแม่ของเด็กให้ใช้ไก่ต้ม ข้าวต้ม ขนม จัดใส่สำรับเพื่อทำพิธีสู่ขวัญให้สตรีลูกอ่อน เมื่อถึงเวลากลางคืนสามารถ
ให้สตรีและลูกอ่อนย้ายไปนอนบนที่นอนปกติได้ แต่ยังคงต้องให้อยู่ไฟเดือนต่อไปอีกเป็นเวลา 1 เดือน
          เมื่อพ้นระยะ 3 วันแรกหลังคลอดไปแล้ว ยังมีความเชื่อที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของสตรีหลังคลอดตามความเชื่อดั้งเดิมของไทดำ ตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี ตามความเชื่อใน
ช่วง 1 เดือนแรกหลังคลอด ดังนี้

ภาพ ไก่ต้ม ข้าวต้ม ขนม ที่นำมาจัดใส่สำรับ เพื่อทำพิธีสู่ขวัญให้กับสตรีแม่ลูกอ่อน
ที่มา ดร.กานต์ทิตา สีหมากสุก ผู้ถ่ายภาพ

ข้อมูลภาพ ณ วันที่
5-7-59


2. ความเชื่อในช่วง 1 เดือนแรกหลังคลอด
          หลังจากผ่านช่วงเวลา 3 วันแรกหลังคลอดไปแล้ว ต่อไป เป็นช่วงที่สตรีลูกอ่อนต้องอยู่ไฟต่ออีกเป็นเวลา 1 เดือน เรียกการอยู่ไฟช่วงนี้ว่า “อยู่กำเดือน”(ไทดำ ออกเสียงว่า อยู่ก๊ำเบือน)
สตรีที่กำลังอยู่ไฟช่วงนี้ เรียกว่า “แม่กำเดือน” การอยู่กำเดือนหรืออยู่ก๊ำเบือน หมายถึง การอยู่ในสถานที่ ที่ต้องปฏิบัติตามข้อห้ามตามความเชื่อในช่วงอยู่กำไฟเป็นเวลา 1 เดือน ดังนี้
          2.1 ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนนี้ สตรีลูกอ่อนยังคงถือข้อห้ามที่ว่า ห้ามสระผม ห้ามสตรีลูกอ่อนนำเด็กทารกออกไปนอกบ้าน และห้ามสตรีลูกอ่อนทำงานหนัก
          2.2 ความเชื่อเรื่องอาหารของสตรีหลังคลอดในช่วงนี้ ยังคงเป็นอาหารที่มีรสจืด เน้นผักที่ช่วยบำรุงร่างกายและบำรุงน้ำนม เช่น หัวปลี ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ทั่วไป เพราะย่อยยาก
ส่งผลถึงสุขภาพของแม่ลูกอ่อนได้
          2.3 เมื่อสตรีคลอดบุตรครบ 20 วัน ให้ฆ่าไก่ 1 ตัว เพื่อทำพิธีเซ่นผี จากนั้นจึงให้สตรีลูกอ่อนเริ่มรับประทานเนื้อสัตว์ได้ โดยเริ่มจากไก่และปลาย่าง ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่
เช่น เนื้อวัวและเนื้อควาย จนกว่าจะออกจากกำเดือนไปแล้ว โดยเฉพาะเนื้อควายเผือก (ควายด่อน) ห้ามรับประทานเด็ดขาด เนื่องจากเชื่อว่า จะทำให้มีอาการแสลงจนถึงตายได้
          ทั้งหมดนี้ เป็นความเชื่อที่ยกมากล่าวนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีความเชื่ออีกมากที่ยังยกมากล่าวไม่หมด เนื่องจากองค์ความรู้ดั้งเดิมบางส่วนได้สูญหายไปแล้วตามกาลเวลา
อีกทั้งความเชื่อดั้งเดิมบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างในปัจจุบัน เช่น การอยู่กำไฟของไทดำ ตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการอยู่กระโจมหรือการประคบด้วยลูก
ประคบสมุนไพร เพราะสะดวกกว่าการอยู่ไฟ เนื่องจากปัจจุบันป่าไม้มีน้อยลง การหาฟืนที่จะมาใช้ในการอยู่ไฟ ทำได้ยากขึ้น ทำให้ไม่พบเห็นการอยู่ไฟแบบดั้งเดิมแล้ว อีกทั้งผู้ที่มีความ
รู้ในเรื่องยาสมุนไพรบางท่านก็เสียชีวิตไป โดยที่ยังไม่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในส่วนนี้ไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อ ทำให้การกินยาสมุนไพรแบบโบราณ เช่น ยาต้ม เพื่อขับเลือดที่ตกค้าง
และแก้อาการปวดหลังปวดเอว ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นยาประเภทบรรจุขวดที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป รวมทั้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลกันหมดแล้ว ทำให้หมอตำ
แยหมดหน้าที่ลงไปด้วย
          ปัจจุบันคติความเชื่อดั้งเดิมบางประการเกี่ยวกับการคลอดบุตรได้สูญหายไปและไม่มีการปฏิบัติแล้วในปัจจุบัน นั่นไม่ใช่เพราะลูกหลานคลายความเชื่อฟังคำสั่งสอนของบรรพบุรุษ
แต่เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติตามความเชื่อได้ ส่วนความเชื่อดั้งเดิมบางประการที่ลูกหลานรุ่นใหม่ยังคงยึดถือและปฏิบัติอยู่ได้นั้น นอกเหนือ
จากคำอธิบายที่มีเหตุผลและเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติแล้ว ยังเป็นเพราะความเชื่อนั้นสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปนั่นเอง



เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

ถนอม คงยิ้มละมัย (สัมภาษณ์, 10 มีนาคม 2555)
เทศ พิมพ์งาม (สัมภาษณ์, 3 มีนาคม 2555)
บุญมี ปาริชาติธนกุล. (2546). ความเชื่อเรื่องผีในพิธีกรรมของชาวไทยโซ่งบ้านไผ่หูช้าง
          อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชา
          ไทยศึกษา, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
เรไร สืบสุข และคณะ. (2523). วรรณกรรมพื้นบ้านไทยทรงดำ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี.
          เพชรบุรี: ภาควิชาภาษาไทย วิทยาลัยครูเพชรบุรี
เสฐียรโกเศศ (นามแฝง). (2552). ประเพณีเนื่องในการเกิด. นนทบุรี: โครงการเลือกสรรหนังสือ สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.
อนุมานราชธน, พระยา. (2516). วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ของไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน. (2552). สารัตถะคติความเชื่อและพิธีกรรมลาวโซ่ง. มหาสารคาม : หจก. อภิชาติการพิมพ์.
อ้น เผ่าพงศ์ (สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม 2557)