แล
ลอด สอด ส่อง วรรณกรรมอีสานเรื่อง ท้าวคำสอน
โดย...ชัยณรงค์ อกอุ่น
ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
โรงเรียนโพธิ์ไทรพิทยาคาร
อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี
อีเมล์ : makkaaot@gmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)
|
วรรณกรรมประเภทคำสอนเรื่อง
ท้าวคำสอน นี้น่าจะประพันธ์มาจากคตินิยมของชาวท้องถิ่นอีสานกล่าวคือประมวลความเชื่อเรื่องลักษณะสตรีเพศมาประพันธ์เป็นตำรา
วิชาการว่าด้วยลักษณะของสตรี ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ ทักษาพยากรณ์
(ตำราว่าด้วยการทายลักษณะสตรี) ต่างแต่ว่าเรื่องท้าวคำสอนนี้ไม่ได้เน้นลักษณะสตรีเพศอย่างเดียวกลับ
เน้นทางด้านความประพฤติและจริยธรรมด้วย ฉะนั้นจึงมีลักษณะคล้ายบทบัญญัติในการเลือกคู่ครองสำหรับชาย
และเข้าใจว่าน่าจะเป็นตำราทางวิชาการของบุรุษเพศมาแต่
โบราณ ซึ่งยึดถือปฏิบัติกันมา แต่ชาวอีสานจะยึดถือบทบัญญัติในเรื่องท้าวคำสอนนี้เพียงใดไม่ทราบ
แต่เข้าใจว่าจะมีการเชื่อถือและยึดมั่นกันพอสมควร เอกสารใบลานฉบับนี้จึง
ค่อนข้างจะแพร่หลาย อีกประการหนึ่งความประณีตในการประพันธ์ของกวีก็มีส่วนให้เอกสารฉบับนี้แพร่หลายเช่นเดียวกัน
ซึ่งเรื่องท้าวคำสอนนี้สำนวนโวหาร และกระบวนการ
ประพันธ์จัดอยู่ในขั้นดีเรื่องหนึ่ง
ต้นฉบับ เดิมเป็นเอกสารใบลาน
อยู่ ณ วัดใดไม่ปรากฏ ในคำนำบอกแต่เพียงว่ามีผู้นำมาถวายท่านเจ้าคุณอริยานุวัตร
(อารีย์ เขมจารี) วัดมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัด
มหาสารคาม ได้ชำระออกมาเป็นอักษรไทย และพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรทองการพิมพ์
อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
อายุความเก่าแก่ของเรื่องท้าวคำสอน
จากการศึกษาเรื่องนี้แล้ว พบว่าน่าจะประพันธ์หลังเรื่อง กาละนับมื้อส้วยเพราะมีสำนวนในกาละนับมื้อส้วยปรากฏอยู่ในเรื่องนี้
ซึ่งใน
เรื่องกาละนับมื้อส้วยกล่าวถึงความวิปริตของบ้านเมืองในอนาคตว่า บัวเผื่อนจะไปเกิดอยู่กลางหนอง
บัวทองไปเกิดที่หัวสวน บ้านเก่า ที่น้ำลึกกลับตื้น ที่น้ำตื้นกลับลึก ในเรื่องนี้ก็
ได้กล่าวได้เช่นกัน ดังนี้
บัวอี่แบ้สังไปเกิดกลางหนองแท้นอ
บัวทองสังไปเกิดหัวสวนบ้านเก่า ที่เลิ้กมาเล่าตื้นสังไปโฮ่งแต่บ่อนเขิน เจ้าเอย
(อี่แบ้-บัวเผื่อน สัง-ไฉน, ฉันใด เลิ้ก-ลึก, น้ำลึก โฮ่ง-น้ำล้น)
เนื้อเรื่อง
ท้าวคำสอนเป็นกำพร้าอาศัยอยู่กับพระมหาเถระ
เมื่อเจริญวัยพระมหาเถระจึงสอนวิธีเลือกคู่ครอง ซึ่งท่านได้อรรถาธิบายถึงลักษณะหญิงประเภทต่างๆ
ท้าวคำสอนก็ลา
พระมหาเถระไปหาหญิงลักษณะดีเป็นคู่ครอง ในที่สุดก็พบนางปังคำ เป็นคนจนอยู่กระท่อม
แต่มีลักษณะถูกตามโฉลกของหญิงดีเป็นเมียแก้ว ท้าวคำสอนเกี้ยวพาราสี ซึ่งตอนนี้
เป็นตอนที่กวีได้แสดงฝีปากได้ดีมาก และในสำนวนเกี้ยวพาราสีกันนี้ ดูเหมือนว่าหนุ่มสาวชาวอีสานจดจำกันได้ดี
และนำมาพูดจาเกี้ยวกัน สนทนากันอยู่เนื่อง ๆ ฉะนั้นถ้ารวบรวม
สำนวนผญาที่หนุ่มสาวจ่ายผญากันนั้น จะเป็นสำนวนที่จดจำมาจากเรื่องท้าวคำสอนเป็นส่วนใหญ่
จากการศึกษาเรื่องท้าวคำสอนนี้พบว่า
ค่านิยมในการเลือกคู่ครองของชาวอีสานนั้นไม่เน้นเรื่องความงามเป็นหลักแต่กลับเน้นถึงลักษณะของสตรีที่เป็นสิริมงคล
ถึงแม้ว่า
ความงามจะด้อยไปก็ตาม และลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเน้นสตรีที่มีใจบุญสุนทานไม่น้อยกว่าลักษณะอื่นๆ
แสดงว่าค่านิยมในการเลือกคู่ครองของชายชาวอีสาน มุ่งที่จะ
ได้คู่ครองที่เป็นภรรยาที่ดี คือเป็นเมียแก้วเมียขวัญ ซึ่งเป็นความปรารถนาของชายโดยทั่วไป
และค่านิยมนี้ถึงแม้จะปฏิบัติไม่ได้ดังปรารถนานักก็ตามที แต่จากหลักเกณฑ์ในการ
เลือกคู่ครองนี้ ก็เป็นแนวคิดที่ดีในการสอนกุลบุตรกุลธิดาที่ยังไม่มีประสบการณ์เรื่องชีวิตคู่มากนัก
ถ้าเราศึกษาดูความงามของสตรีในวรรณกรรมอีสานแล้ว ส่วนใหญ่จะมีแนวโน้ม
ตามคตินิยมในเรื่องท้าวคำสอนอยู่โดยทั่วไป
ภาพจาก
Web Site
http://www.oknation.net/blog/buzz/2012/10/15/entry-
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 1-9-57 |
|
ตัวอย่างคำสอนที่ได้จากเรื่อง
๑.
ลักษณะหญิงที่เป็นสิริมงคล วรรณกรรมเรื่องท้าวคำสอนนี้ได้ชี้ให้เห็นค่านิยมของสังคมโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า
ลักษณะหญิงที่จะเป็นคู่ครองนั้นควรเป็น
หญิงนำโชคมาสู่สามีและครอบครัว ใจบุญ ซื่อสัตย์ต่อสามี และเป็นแม่บ้านที่ดี
ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะเห็นว่าค่านิยมในการเลือกคู่ครองนี้ เน้นหนักในเรื่องการนำโชคลาภมาสู่สามี
และทำให้สามีเจริญก้าวหน้ามากกว่าเรื่องนั้น ฉะนั้นลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการทำนายตามทักษาพยากรณ์เท่านั้น
ส่วนที่เน้นรองลงมา ได้แก่ หญิงใจบุญสุนทาน ซึ่งลักษณะเช่นนี้น่า
จะสังเกตได้จากจริยาวัตรของหญิงนั้น ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามการดูลักษณะสตรีตามเรื่องท้าวคำสอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องความเชื่อมากกว่า
เพราะจากการศึกษาแล้วเห็นว่าหลักเกณฑ์
ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องท้าวคำสอนนี้ เป็นเพียงความพยายามที่จะกำหนดรูปแบบสตรีโดยยึดลักษณะของสตรีมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นจริงเช่นนั้น แต่
อย่างไรก็ตามเอกสารนี้ก็เป็นสิ่งที่จะชี้ให้เห็นแนวความคิด และคตินิยมว่าชาวอีสานนั้นไม่พึงใจในสตรีงามมากนัก
แต่กลับพึงใจในสตรีที่คิดว่าเป็นผู้นำโชคลาภมาสู่สามีและ
ครอบครัวเป็นอันดับแรกและที่รองลงมาคือสตรีที่ใจบุญ ซื่อสัตย์ต่อสามี และเป็นแม่บ้านแม่เรือน
ตามลำดับ
๑. ลักษณะหญิงที่เป็นสิริมงคลแก่สามีและครอบครัว
ซึ่งควรที่จะเลือกเป็นคู่ครองนั้นมีลักษณะสำคัญ ๒ ประการ คือ
๑.๑
สตรีที่นำโชคลาภมาสู่สามีและครอบครัว ซึ่งจะมีวาสนาให้สามีเจริญรุ่งเรือง
และครอบครัวมีความสุข ร่ำรวย
๑.๒
ลักษณะสตรีที่มีความซื่อสัตย์ต่อสามี ไม่เป็นชู้ ตัวอย่างเช่น
หญิงใดหลังตีนสูงขึ้นคือหลังดองเต่า
ก็บ่มักเล่นชู้ชายอื่นมาชม
หญิงนั้นแม่นซิทำการสร้างอันใดก็เรืองรุ่ง แท้แล้ว |
หญิงนั้นใจซื่อแท้ประสงค์ตั้งต่อผัว
เจ้าเอย
ก็ท่อจงใจรักต่อผัวคีค้อยคีค้อย
แสนซิจมอยู่พื้นมาแล้วก็หากฟู |
(คีค้อยคีค้อย-สม่ำเสมอ
ฟู-เจริญ, รุ่งเรือง, ฟูเฟื่อง) |
ภาพจาก
Web Site
www.
http://pantip.com/topic/30737251
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 1-9-57 |
|
๒.ลักษณะหญิงที่เป็นอัปมงคล ไม่ควรเลือกมาเป็นคู่ครอง ท่านได้อรรถาธิบายไว้หลายประการ
แต่เน้นหนักในลักษณะหญิงกาลกิณี คือหญิงอัปมงคลต่อสามี ลักษณะของ
หญิงประเภทนี้ ท่านพิจารณาจากรูปร่างเป็นสำคัญ คือมีลักษณะเหมือนสตรีโทษนั่นเอง
อีกประการหนึ่งคือหญิงที่มีความประพฤติไม่ดี เช่น ชอบนินทา เป็นชู้ ขี้เกียจ
ดื้อดึง ท่าน
พิจารณาจากความประพฤติ ซึ่งประการหลังนี้น่าจะมีเหตุผลมากกว่า ซึ่งแยกออกได้
๒ ประเภทดังนี้
๒.๑
ลักษณะสตรีโทษ อัปมงคลต่อสามีและครอบครัวไม่เจริญรุ่งเรืองในชีวิต
๒.๒
ลักษณะหญิงที่มีจิตใจชั่ว คตินิยมของชาวอีสานเชื่อว่าความชั่วดื้อรั้น กิเลสตัณหาทั้งหลายนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการอบรมแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ลักษณะเหล่านี้เกิดมา
พร้อมกับชีวิต คือเป็นมาตั้งแต่เกิด ฉะนั้นจากใจความตอนนี้จะเห็นว่าโลกทัศน์ของชาวอีสานอันเนื่องด้วยธรรมชาติของมนุษย์
กลับมองเห็นว่ามนุษย์อาจชั่วมาแต่กำเนิด ซึ่งโดย
ปกติแล้วชาวอีสานจะมองเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้บริสุทธิ์มาแต่กำเนิดความชั่วทั้งหลายแหล่นั้นเกิดขึ้นเพราะความหลงผิดมนุษย์ฉะนั้นแนวคิดนี้น่าจะได้มาจากที่อื่น
กล่าวคือน่าจะได้
แนวคตินิยมจาก ทักษาพยากรณ์ ก็น่าจะเป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามกฎเกณฑ์ต่างๆ
อันปรากฏในเรื่องท้าวคำสอนนี้ น่าจะเป็นเครื่องสังวรใจของชายที่กำลังคิดจะหาคู่ครองเท่านั้น
การกำหนดจากรูปร่างลักษณะทางร่างกาย ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริงทุกประเด็น
ดังนี้
หญิงใดขนตาเหี้ยนทางปลายยอดยิ่ง
แม่โฉม รูปงามดังห้อยบาท้าวอย่าเอา แท้เนอ |
หญิงนั้นรู้ขึ้นคร้านเข็นฝ้ายมักนอน
แท้แด้
แม่นว่าเป็นเมียใผก็บ่เป็นเรือนเหย้า |
(เข็นฝ้าย-ปั่นฝ้าย
บาท้าว-ชายหนุ่ม) |
หญิงใดผมถอยขึ้นตาแหลวหลวงจับหน้าผาก
มันนั้นใจพาโลเหลือส่อสนคำเว้า
หญิงนั้นตั้งถ่อยร้ายควรเว้นหลีกไกล ท้าวเอย |
สบข้างใต้มันพับยื่นยาว
ท่อแต่เก็บคำเว้านินทาป้อยด่า |
(ตาแหลว-เครื่องหมาย,
กะเหลว สบ-ปาก ส่อสน-พูดเท็จ ท่อแต่-เพียงแต่ ป้อย-แช่ง, ด่า ถ่อย-ต่ำช้า) |
๓. โวหารเชิงนารีปราโมทย์
ใจความในเรื่องท้าวคำสอนนั้นไม่เพียงแต่ให้แนวคิด คตินิยมในการเลือกสตรีมาเป็นคู่ครองเท่านั้น
แต่ยังปรากฏว่ามีโวหารยอดเยี่ยมในการ
เกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว และคงจะเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำนายลักษณะของสตรีเพศที่ยกมาให้ดูแล้วข้างต้น
คำผญาภาษิตในเรื่องท้าวคำสอนนี้
ส่วนใหญ่เป็นการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวที่เราเรียกกันว่า ผญาเครือ ซึ่งโวหารที่ปรากฏอยู่ในเรื่องท้าวคำสอนนี้หนุ่มสาวในสมัยโบราณคงจดจำมาพูดเกี้ยวพาราสีกันอยู่เนื่องๆ
๓.๑
โวหารที่ฝ่ายชายจะขอความรักจากหญิง กวีก็ได้อุปมาไว้ว่า ดอกบัวย่อมไม่หนีน้ำ
จันทร์ย่อมไม่หนีเขาพระสุเมรุ เจ้าอย่าได้ตัดเยื่อใยพี่เลย พี่เหมือนม้าหิวน้ำมาพบ
บ่อน้ำก็เพียงแต่ยืนมอง หรือเหมือนกับปลาหมอขาดน้ำย่อมเป็นเหยื่อแก่นกกา
๓.๒
โวหารหญิงที่กล่าวตอบการเกี้ยวพาราสีของชาย กวีได้ร้อยกรองไว้ไพเราะมาก และเป็นโวหารของท้องถิ่นที่สาวมักจะกล่าวตอบโต้การเกี้ยวของชายหนุ่มเสมอๆ
ดังนี้
สาวเมื่อมีใจรักชายก็ต้องนิ่งไว้
เหมือนดอกไม้ต้องเอาไม้สอยจึงจะได้ดมกลิ่น ชายเหมือนจระเข้ต้องตีหางถึงชาวประมงจะรู้
ฯลฯ ตัวอย่างเช่น
โอนอแนวหญิงนี้คือกันกับดอกท่มนั่นแล้ว
แนวนามเชื้อ สกุลหญิงยศต่ำ
แนมท่อแข้บ่ตีหางให้ชาวมองบ่รู้เมื่อใดแล้ว
นกบ่กูร์ณาแร้วป๋าจินายดิ้นอยู่ป่มๆ อ้ายเอย |
คันว่าอ้ายบ่หาไม้หมิ้นดวงดิ้วบ่หล่นลง
พี่เอย
หญิงหากสุขอยู่ย่อนบุญสร้างพร่ำผัว แท้แล้ว
บ่มีใผซิรู้ได้มีแข้เงือกงู
แร้วบ่เปื้องปลิ้นหน้ากาแร้งก็หล่ำดาย นั่นแล้ว |
(ท่ม-ดอกไม้ประเภทกระทุ่ม ดั้ว-อวบ, อวบอ่อน ย่อน-เพราะ ไม้หมิ้น-ไม้สอย
แนมท่อ-หากว่า, ผิว่า แข้-จระเข้ เปลื้องปลิ้น-เหวี่ยงไกว ป๋า-ทิ้ง,
ร้าง ปล่อยปละหล่ำดาย-มองดูเฉยๆ, ชำเลืองดูเฉยๆ) |
๓.๓
โวหารหญิงที่แสดงว่ารักชายแต่เกรงว่าวาสนาไม่ถึงก็เหมือนกับหมายจันทร์ถึงจะร่ำไห้จันทร์ก็ไม่เอนเอียงลงมาเพราะว่าน้องเป็นเหมือนนาเรื้อหวังเพียงกล้าแก่
กล้าอ่อนมีมากแต่ไม่อาจประสงค์ น้องมีใจรักอยากจะได้เคียงคู่ แต่เกรงว่ากบจะร้องแต่เดือนห้า
ฝนไม่ตกข้าวของที่ปลูกไว้ก็เฉาตายเปล่า ๆ ดังนี้
พ่อชายนั้นคือจันทร์เทิงฟ้าดาราเคียงคู่
นั่นแล้ว
ชาตินาทามเรื้อประสงค์หาแต่กล้าแก่
น้องได้ดอม จิตตั้งประสงค์ชายเรียงร่วม พี่เอย
น้องปลูกหมากแค้งไว้กลางไร่ก้ได้ป๋า
อันนี้มีแต่ลมมาต้องบ่มีฝนจักห่า |
หญิงแสนซิร้องร่ำไห้บ่มิได้เหนิ่งจันทร์
ได้แล้ว
กล้าอ่อนมีบ่แพ้นาเรื้อบ่ประสงค์
ย่านท่อ คือกบเขียดร้องเดือนห้าก่อนฝน
ปลูกหมากอึแตงไว้กลางนาทิ่มเปล่าดาย |
(เทิง-บน,
ข้างบน เหนิ่ง-โอน, เอน, เนิ้ง ก็ว่า แพ้-ชนะ ตรงข้ามกับพ่าย หมากแค้ง-มะเขือพวง
ป๋า-ทิ้ง, ร้าง, ปล่อยปละ หมากอึ-ฟักทอง ทิ่ม-ทิ้ง, ทอดทิ้ง) |
เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................
ธวัช ปุณโนธก. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย. มปป
http://www.bl.msu.ac.th/bailan/vanagum/vanagum5.asp สืบค้นเมื่อ วันที่
๑ กันยายน ๒๕๕๗
www. http://pantip.com/topic/30737251 สืบค้นเมื่อ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗
http://www.oknation.net/blog/buzz/2012/10/15/entry-1 สืบค้นเมื่อ วันที่
๑ กันยายน ๒๕๕๗
|