ถึงแม้โลกของเราจะเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อโลกใบนี้จากฝีมือมนุษย์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและอาจรุนแรงมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏ มาก่อน เป็นไปได้ว่าเรากำลังผเชิญกับวิกฤตทรัพยากรที่เกี่ยวเนื่องต่อการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรทั้งโลก ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การผลิตอาหารของโลกนั้นจะมีความเสี่ยง มากขึ้น ทั้งจากประชากรของโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจสูงถึง 9,000 ล้านคนในปีพ.ศ.2593 ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตอาหาร การแย่ง ชิงทรัพยากรที่สำคัญทั้งที่ดิน น้ำ และพลังงาน รวมไปถึงรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
เมื่อมีการพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น คนส่วนใหญ่จะพูดถึงแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ น้ำมันการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเปลี่ยนหลอดประหยัดไฟ รวมถึงการลดใช้ภาชนะบรรจุอาหารบางชนิดเช่น กล่องโฟม อย่างไรก็ตามน้อยคนนักจะ กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตอาหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารนั้นมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยในปัจจุบันนี้พฤติกรรมการบริโภคอาหารมุ่งเน้นไปที่การบริโภคเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นตลอดจนผลจากการผลักดันการค้าด้านอาหารในระดับโลก โดยหารู้ไม่ว่าการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์นั้นต้องใช้ ต้นทุนทรัพยากรมากน้อยเพียงใด มีการประเมินว่าเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคกันนั้นในน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมต้องใช้ธัญพืชในการเลี้ยงจำนวนมาก รวมไปถึงต้องใช้น้ำในการ ปลูกพืชเหล่านั้นรวมถึงการเลี้ยงสัตว์กว่าหลายพันลิตรเลยทีเดียว อีกทั้งแนวโน้มการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากขึ้นนี้เองส่งผลกระทบต่อธรรมชาติของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ใน ปัจจุบันมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ถึง 1 ใน 4 ของผืนแผ่นดินทั้งหมดบนโลกของเรา ทำให้คุณภาพที่ดินเสื่อมสภาพลง อีกทั้งยังเป็นการบุกรุกลดปริมาณพื้นที่ป่าที่เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์อีก ด้วย นอกจากนี้แล้ว การเลี้ยงสัตว์ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 18 ของปริมาณทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์อีกด้วย ซ้ำร้ายปริมาณปลาจากท้องทะเลที่มนุษย์จับมา บริโภคนั้น ในปัจจุบันนี้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปริมาณเดิมที่เคยมีอยู่ การจับปลาอันเนื่องมาจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของมนุษย์ที่มากขึ้นนั้นไม่สามารถ ชดเชยได้ทันจากการกระบวนการแพร่พันธุ์ปกติตามธรรมชาติ ทำให้ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล เกิดมลพิษและการ แพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังสัตว์น้ำตามธรรมชาติ โดย ดร.ราเชนทรา ปาเจารี นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ประธานองค์คณะด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระหว่างรัฐบาล แห่งสหประชาชาติ (UN Intergovermental Panel on Climate Change) ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงนี้ว่า การเลือกกินเนื้อสัตว์น้อยลงหรือเลิกกินไปเลยเป็นทางเลือกส่วน ตนที่ดีที่สุดทางหนึ่งที่ทำได้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปแล้ว ระบบอาหาร (Food system) ยังมีส่วนสำคัญต่อปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระบวนการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรม ทั้งการผลิตปุ๋ยเคมีและการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไป การกำจัดของเสียจากสัตว์อย่างผิดวิธี รวมไปถึงผลพิษที่เกิดขึ้น ระหว่างการขนส่งอาหาร เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเรือบรรทุกสินค้าหรือเครื่องบิน เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วผนวกกับแนวทางการผลิตอาหารนั้นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อโลกของเราใบนี้ มนุษย์จำเป็นต้องค้นหาทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนอง ทั้งสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า ความต้องการเทคโนโลยีการผลิตอาหารใหม่ๆนั้นต้องเร่งพัฒนาไปในแนวทางที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนั้นๆจะ ต้องได้ผลผลิตมากเพียงพอสำหรับป้องกันความอดอยากที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต สอดคล้องกับ Government Office for Science ของสหราชอาณาจักร ที่ได้กล่าวถึง The Future of Food and Farming ในโครงการ Foresight Project ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้กำกับนโยบาย (Policy makers) ว่าควรมุ่งจัดการความท้าทาย 5 อย่าง ได้แก่ การปรับ อุปสงค์และอุปทานให้มีความสมดุลกันอย่างยั่งยืน การเตรียมรับมือกับความผันผวนของระบบอาหารในอนาคต การยุติความอดอยากหิวโหย การมุ่งเป็นโลกที่มีการปล่อยก๊าซเรือน กระจกต่ำ และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และบริการระบบนิเวศน์ (Ecosystem service) เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในการเลี้ยงปากท้องของคนทั้งโลก โดยไม่ทำลายทรัพยากรอันมีค่าของโลกใบนี้
|