โศกนาฏกรรมในวรรณกรรมพื้นบ้าน
เรื่องผาแดง นางไอ่ : ภาพสะท้อนอกุศลมูล 3
โดย...
นายพิทักษ์สิน สิวรุจน์
นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ สำนักงานศาลยุติธรรม
ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
อีเมล์ : koreangate@hotmail.com
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)
|
วรรณกรรมต่าง
ๆ สามารถถ่ายทอดปรัชญา คุณธรรม และจริยธรรมของแต่ละสังคมออกมาให้เป็นรูปธรรมภายใต้ลายลักษณ์อักษรได้
โดยวรรณกรรมเปรียบเสมือนสะพาน
เชื่อมระหว่างหลักปรัชญา คุณธรรม และจริยธรรมที่เป็นนามธรรมกับเรื่องราวอันเป็นรูปธรรมผ่านการสื่อสารหลักแนวคิดดังกล่าวจากการแสดงพฤติกรรมของตัวละครได้
(Tomlinson, 1997: 126 อ้างถึงใน Mendelson-Maoz, 2007: 111) ซึ่งวรรณกรรมนี้รวมถึงวรรณกรรมพื้นบ้านภาคอีสานของไทยอย่างนิทานเรื่องผาแดง
นางไอ่ ด้วย ซึ่ง
จากการศึกษาของพระบุญยืน งามเปรี่ยม (2553) พบว่า หลักจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องดังกล่าว
ได้แก่ หลักเบญจศีล (ศีล 5) และหลักเบญจธรรม(ธรรม 5)
ซึ่งเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลในสังคมยึดถือปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขมาสู่ตนเองและสังคมรอบข้าง
ในบทความนี้
ผู้เขียนจะหยิบยกและอภิปรายถึงตัวละครต่าง ๆ จากวรรณกรรมเรื่องผาแดง นางไอ่
อันสะท้อนให้เห็นว่าถูกครอบงำโดย อกุศลกรรม ประกอบด้วย โลภะ
โทสะ และโมหะ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโศกนาฏกรรมของเรื่องราวที่ตามมา โดยมุ่งหวังที่จะชี้ให้เห็นว่านิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ก็สามารถถ่ายทอดหลักคุณธรรมที่บุคคลควรคำนึงถึงเพื่อ
ประโยชน์สุขของตนเองและส่วนรวมได้ดังคุณประโยชน์ของวรรณกรรมที่กล่าวไว้ในตอนตน
วรรณกรรมเรื่องผาแดง
นางไอ่ โดยย่อ
พระยาขอมผู้ครองนครเอกธีตา
มีธิดาหนึ่งนางซึ่งมีสิริโฉมงดงามนามว่า นางไอ่คำ หรือ นางไอ่ ครั้นถึงเดือนหก
จะจัดงานบุญบั้งไฟจึงได้มีใบบอกบุญไปยังหัวเมือง
ต่าง ๆ ให้ทำบั้งไฟไปร่วมจุดในงาน ท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพงแม้ว่าจะไม่ได้รับใบบอกบุญแต่ก็ประสงค์ไปร่วมงานดังกล่าวด้วยหวังจะพบนางไอ่คำที่ตนหลงรัก
ซึ่งนอกจากท้าว
ผาแดงแล้ว ยังมีท้าวภังคี นาคหนุ่มบุตรชายของท้าวสุทโธนาค แปลงกายไปร่วมงานบุญนี้และแอบหลงรักนางไอ่ด้วยเช่นกัน
ภาพที่
1 : หนังสือนิทานเรื่องท้าวผาแดง นางไอ่
และประเพณีบุญบั้งไฟ ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
ภาพจาก Web Site
http://www.su-usedbook.com/product.detail_97359_th_5691633#
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 17-11-57 |
|
นาคหนุ่มภังคีเมื่อกลับบ้านเมืองของตนแล้วก็กินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะใจปฏิพัทธ์ต่อนางไอ่คำ
จึงเดินทางไปยังเมืองเอกธีตาอีกครั้ง แม้ว่าท้าวสุทโธนาคผู้เป็นบิดาจะ
ห้ามปรามไว้ก็ไม่ยอมฟัง เมื่อถึงเมืองเอกธีตาของนางไอ่ ท้าวภังคีจึงแปลงกายเป็นกระรอกเผือกกระโดดไปตามต้นไม้ใกล้ปราสาทของนางไอ่
เมื่อนางเห็นกระรอกเผือกก็คิด
อยากได้ จึงให้นายพรานตามจับกระรอกตัวดังกล่าว นายพรานจึงยิงกระรอกตัวนั้นตายเสีย
ก่อนตายท้าวภังคีในร่างกระรอกเผือกได้อธิษฐานขอให้เนื้อกระรอกของตนมีความ
เอร็ดอร่อยและมีจำนวนมากพอกินแก่คนทั้งเมือง
ฝ่ายบริวารที่ติดตามท้าวภังคีไปด้วยก็รีบนำความไปแจ้งแก่ท้าวสุทโธนาค
เมื่อทราบดังนั้นท้าวสุทโธนาคจึงโกรธมาก เกณฑ์พลพรรคนาคนับหมื่นเพื่อไปถล่มเมืองเอกธีตา
ผู้ใดที่ทานเนื้อของภังคีไปต้องตายเสียให้หมด
ส่วนท้าวผาแดงเองที่อยู่
ณ เมืองผาโพง ก็อดกลั้นความรักของตนที่มีต่อนางไอ่ไม่ไหว จึงขี่ม้าไปหานางผู้เป็นที่รัก
ณ เมืองเอกธีตา เมื่อนางไอ่นำเนื้อกระรอกเผือกมาเลี้ยง
ต้อนรับ ท้าวผาแดงก็ทราบโดยทันทีว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นเนื้อของท้าวภังคีแปลงตนมา
ใครกินเนื้อกระรอกเข้าไปแล้วบ้านเมืองจะถล่มถึงตาย
ตกกลางคืน กองทัพนาคก็เดินทางมาถึง
ผืนแผ่นดินถล่มกลายเป็นหนองน้ำไปทั่ว ท้าว
ผาแดงจึงพานางไอ่คำขึ้นขี่ม้าหนีโดยมีพญานาคไล่ติดตามไปตลอดทาง เมื่อม้าของท้าวผาแดงเริ่มหมดแรง
จึงทำให้พญานาคไล่ตามไปทัน ใช้หางเกี่ยวนางไอ่คำตกลงมาจาก
หลังม้า แล้วนำนางไปที่เมืองบาดาลของเหล่านาค ส่วนท้าวผาแดงก็ควบม้าหนีต่อไปถึงยังเมืองผาโพง
สภาพบ้านเมืองของนางไอ่ถล่มทลายพินาศกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ เป็น
ตำนานการเกิด หนองหาน ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
ภาพที่
2 : ประติมากรรมท้าวผาแดง นางไอ่ ขี่ม้าหนีพญานาค (เมืองโบราณ
จังหวัดสมุทรปราการ)
ภาพจาก Web Site
http://payanakara.blogspot.com/2012/06/blog-post_7099.html
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ 17-11-57 |
|
เมื่อท้าวผาแดงรู้สึกเสียใจมากที่สูญเสียนางอันเป็นที่รักไปต่อหน้าต่อตา
จึงอธิษฐานต่อเทพยดาว่าขอตายกลายเป็นผีเพื่อไปต่อสู้เอานางไอ่กลับคืนมา เมื่อกลั้นใจตายแล้ว
ท้าวผาแดงได้กลายเป็นหัวหน้าผีเกณฑ์ไพร่พลกองทัพผีไปต่อสู้กับพวกนาค แต่สู้กันเท่าใดก็ไม่มีผู้ใดแพ้ผู้ใดชนะ
ยังแต่จะทำให้น้ำในหนองบึงขุ่นมัว ดินบนบกเป็นฝุ่นตลบไปทั่ว
ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาระงับศึกให้พวกนาคและพวกผีกลับบ้านเมืองของตนไปก่อน
ส่วนนางไอ่ยังให้อยู่ ณ เมืองบาดาล รอให้พระศรีอาริย์มาตัดสินว่านางไอ่ควรเป็นของใคร
อกุศลมูล 3 ในวรรณกรรมเรื่องผาแดง-นางไอ่
อกุศลมูล
หรือ รากเหง้าของอกุศล อันประกอบด้วย โลภะ โทสะ และโมหะ คือต้นตอของความชั่ว
เป็นจริตหรือตัวแปรฝ่ายชั่วที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมหรือบุคลิกของ
บุคคล รวมไปถึงพฤติกรรมที่ปรากฏในตัวละครในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องผาแดง-นางไอ่
อันเป็นบ่อเกิดของโศกนาฏกรรมที่ตามมา
โลภะ (ความอยากได้)
โลภะ คือ ความอยากได้
ปรากฏชัดเมื่อนางไอ่เห็นกระรอกเผือกจึงมีความอยากได้อันเป็น โลภะ ความอยากได้นี้เบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น
โดยนางให้นายพรานตามจับ
กระรอกตัวนั้น จนนายพรานได้ยิงกระรอกซึ่งเป็นท้าวภังคีแปลงกายมาตายในที่สุด
หากนางไม่อยากได้ การเบียดเบียนชีวิตท้าวภังคีก็จะไม่เกิดขึ้น
โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
โทสะ หมายถึง
ความโกรธ หรือความคิดประทุษร้าย กล่าวคือ ความขัดเคืองใจ ความไม่ชอบใจ ความไม่พอใจ
หรือแม้แต่ความน้อยใจ ซึ่งมีโทษทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และ
สังคมโดยส่วนรวม (จรัล เนื้อนา, 2546)
ในเนื้อเรื่อง
ปรากฏชัดเมื่อท้าวสุทโธนาคทราบว่าภังคีบุตรชายถูกสังหาร จึงโกรธแค้นเกณฑ์กองทัพนาคไปถล่มเมืองเอกธีตาให้จมลงกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่
ใครที่
กินเนื้อภังคีไปต้องตายอย่างน่าเวทนา เบียดเบียนชีวิตชาวบ้านผู้ที่บริสุทธิ์ไม่ได้รับรู้อะไรด้วยเลย
เพียงแต่ได้รับบริจาคเนื้อกระรอกมารับประทานเท่านั้น
โมหะ (ความหลง)
โมหะ คือ ความหลง
ปรากฏชัดในสองตอน กล่าวคือ ตอนที่ท้าวภังคีหลง ปราศจากปัญญาไตร่ตรองไม่ยอมฟังคำเตือนของท้าวสุทโธนาคผู้เป็นบิดา
แปลงกายเป็นกระรอก
เผือกแอบไปใกล้ปราสาทของนางไอ่คำจนเกิดโศกนาฏกรรมบังเกิดแก่ชีวิตตนเองในที่สุดอีกตอนคือ
เมื่อท้าวผาแดงปราศจากปัญญา มีแต่ความปรารถนาที่จะช่วยให้นางไอ่คำ
กลับคืนมา จนต้องกลั้นใจตายกลายเป็นผีเพื่อไปสู้รบกับพญานาค เบียดเบียนชีวิตของตนเองเช่นเดียวกัน
บทสรุป
จากที่ได้หยิบยกตัวละครในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องผาแดง
นางไอ่ ขึ้นมาอภิปรายพร้อมกับอกุศลมูล 3 ประการ ซึ่งเป็นตัวแปรของจริตและพฤติกรรมของตัวละครต่าง
ๆ
เหล่านั้น ย่อมสะท้อนให้เห็นได้ว่าหากบุคคลตกอยู่ภายใต้โลภะ โทสะ และโมหะ
ครอบงำแล้ว จริตฝ่ายชั่วก็ย่อมสามารถผลักดันให้บุคคลผู้นั้นไม่อาจดำรงตนได้อย่างปรกติสุข
จำต้องเบียดเบียนตนเอง บุคคลรอบข้าง หรือแม้แต่สังคมโดยรวมได้ ดังนั้นแล้วบุคคลจำต้องพินิจตรึกตรองไม่ตกอยู่ภายใต้จริตฝ่ายชั่วดังกล่าว
แนวทางหนึ่งในการพินิจหลัก
ปรัชญา คุณธรรม และจริยธรรม ก็สามารถกระทำได้ผ่านวรรณกรรมนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................
ภาษาไทย
จรัล เนื้อนา. (2546). การศึกษาวิเคราะห์เรื่องความโกรธในพระพุทธศาสนาเถรวาท.
วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บุญยืน งามเปรี่ยม. (2553). การตีความพุทธจริยธรรมในวรรณกรรมเรื่องผาแดง
นางไอ่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สำนักงานจังหวัดสกลนคร. (ม.ป.ป.). นิทานเรื่อง ผาแดงนางไอ่. [ออนไลน์]. http://province.m-culture.go.th/sakonnakhon/tale_1.html
(เข้าถึงเมื่อ 14 พ.ย. 2557).
ภาษาอังกฤษ
Mendelson-Maoz, Adia. (2007). Ethics and literature: Introduction. Philosophia,
(35), pp. 111-116.
|