งานบุญตามประเพณีที่สำคัญงานหนึ่งของประชาชนไทยแถบจังหวัดนครพนมและใกล้เคียง กับประชาชนลาวในแขวงคำม่วน(ลาว : ; อักษรโรมัน : Khammouan) ซึ่งเป็นภาคกลาง ค่อนมาทางภาคใต้ของประเทศลาวนั้นก็คือ งานนมัสการพระธาตุพนมและพระธาตุศรีโคตรบอง ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๒ จนถึง แรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ นั่นเอง ด้วยอุปนิสัยของประชาชนที่มีความผูกพันมาแต่โบราณกับพระพุทธศาสนา ดินแดนแถบนี้จึงมีโบราณสถานเพื่อแสดงออกถึงความเคารพศรัทธาในศาสนาพุทธอยู่เป็น จำนวนมาก ในบรรดาพุทธสถานเหล่านั้น องค์พระธาตุพนม นับเป็นพระบรมเจดีย์ที่ผู้คนให้ความเคารพศรัทธาอย่างสูงยิ่ง และเมื่อท่านได้มาเยือนจังหวัดนครพนมแล้ว ก็น่าที่ จะหาโอกาสข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปกราบนมัสการ องค์พระธาตุศรีโคตรบอง ณ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศลาว ด้วยกันเลย
พระธาตุพนม ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุพนม อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม องค์พระเจดีย์นั้นมีลักษณะเป็น เจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ ๑๒.๓๓ เมตร สูง ๕๓.๖ เมตร มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ ๔ ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บน "ภูกำพร้า" เป็นเนินดินสูงจากพื้นธรรมดา ประมาณ ๓ เมตร พระธาตุพนมองค์ปัจจุบันเป็นการสร้างขึ้นใหม่หลังจากที่พระธาตุองค์เก่าได้ล้มลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยทางวัดยังคงเก็บรักษาซากปรักหักพังของพระธาตุ องค์เก่าไว้อย่างดี โดยสร้างสถูปครอบไว้และให้ผู้สนใจเข้าไปเคารพกราบไหว้ได้ ในงานบูชาพระธาตุเดือนสามนี้ จะมีการตกแต่งบริเวณวัดและพระธาตุด้วยเครื่องบูชาอย่างสวยงาม ได้แก่ บายศรี ต้นดอกผึ้ง ( เครื่องบูชาท้องถิ่นอีสาน ใช้ขี้ผึ้งทำดอกไม้ ประดับตกแต่งให้เป็นต้น หรือเป็นมณฑป ) ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องหอมอย่างไทย เป็นต้น งานนมัสการเดือนสามนี้เป็นงานใหญ่ที่ประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงกับพากัน หลั่งไหลเพื่อไปบูชาองค์พระธาตุในช่วงเดือนนี้ ท่านที่ต้องการไปควรสำรองที่พักไว้ล่วงหน้าหรือพักในอำเภอใกล้เคียง
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดนครพนมก็คือ การมีพระธาตุหรือเจดีย์เก่าแก่กระจายอยู่หลายแห่งหลายอำเภอ ล้วนแต่สวยงามและน่าเลื่อมใสทั้งสิ้น ดังจะขอกล่าว พอสังเขปในที่นี้ ได้แก่ พระธาตุเรณูนคร อำเภอเรณู ซึ่งอยู่ใกล้กันกับพระธาตุพนม ท่านสามารถนมัสการพระธาตุพนมแล้วเดินทางต่อมายังพระธาตุเรณูได้สะดวก หรือในเขต อำเภอเมืองนครพนมก็มีพระธาตุนคร เป็นต้น แต่บทความนี้จะพาท่านข้ามแม่น้ำโขงไปนมัสการ องค์พระธาตุศรีโคตรบอง ซึ่งก็มีงานสักการะพระธาตุประจำปีในช่วงเดือน ๓ ตรงกันกับงานพระธาตุพนมเช่นกัน เกร็ดน่ารู้อีกเรื่องก็คือ ช่วงงานนมัสการเดือน ๓ พระธาตุสองฝั่งโขงนี้ มักจะตรงกับช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลตรุษเวียดนาม ; เต๊ด-เหวียด-นาม ) หรือวันปีใหม่ของชาวเวียดนาม ดังนั้นจะมีชาวเวียดนามที่อาศัยในประเทศไทยเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทำให้ด่านผ่านแดนสองฝั่งไทยและลาว มีผู้คนใช้บริการมากเป็นพิเศษ รถโดยสารประจำทางข้ามประเทศจะแน่นกว่าปกติเนื่องจากเส้นทางจากนครพนมผ่านเมืองท่าแขกนี้เป็น เส้นทางที่สั้นที่สุดในการเดินทางไปยังประเทศเวียดนามนั่นเอง ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่ต้องการผ่านแดนไปประเทศลาวในช่วงเทศกาลนี้จึงควรเผื่อเวลาในการเดินทางไว้ด้วย นอกจากนี้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ลาว-ไทย แห่งที่ ๓ นครพนม-ท่าแขก ยังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็น ๑ ในสะพานสวยงามขึ้นชื่อของประเทศไทยแห่งหนึ่ง เรียกว่า เป็นอีกจุดที่นักท่องเที่ยวจะได้แวะเก็บภาพที่ระลึกในระหว่างการเดินทางมานมัสการพระธาตุสองฝั่งโขงนี้เช่นกัน เกร็ดเล็กน้อยที่ผู้เขียนจะขอแนะนำนักท่องเที่ยวในการมาเก็บ ภาพที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ ๓ ก็คือ ยามเย็น พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าที่ฝั่งจังหวัดนครพนม ช่วงพระอาทิตย์คล้อยต่ำนั้น จะเห็นลอยเด่นอยู่เหนือหลังคาอาคารของด่านผ่าน ชายแดนพอดี เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าเก็บภาพประทับใจ เมื่อท่านเดินทางมาถึงเมืองท่าแขกแล้ว รถโดยสารจะพาท่านมาส่งยังสถานีรถโดยสาร จากนั้นท่านสามารถว่าจ้างรถสกายแล็ป (รถสามล้อ) ไปวัดพระธาตุศรีโคตรบอง และเที่ยวชมสถานที่อื่นๆที่น่าสนใจของเมืองท่าแขกเช่น ถ้ำพระ (ถ้ำปาฝา) กำแพงยักษ์โบราณ ถนนริมโขง เป็นต้น แต่สถานที่สำคัญที่จะแนะนำก็คือ วัดพระธาตุศรีโคตรบอง วัดนี้ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง สถานที่สำคัญของวัดได้แก่ พระอุโบสถ พระธาตุศรีโคตรบอง และในสวนพักผ่อนภายในวัดมีอนุสาวรีย์พระยาศรีโคตรตะบองซึ่งเป็นบุคคลสำคัญใน ประวัติศาสตร์ของเมือง ช่วงงานนมัสการพระธาตุเดือน ๓ นี้ก็จะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก ท่านสามารถเลือกซื้อของที่ระลึก เช่น ผ้าสไบ (ผ้าเบี่ยง) เครื่อง จักสานซึ่งเป็นของพื้นบ้านจากประเทศลาวในราคาที่ต่อรองได้ หรือหาซื้ออาหารพื้นเมืองได้ด้วยเช่นกัน
หากท่านไม่รีบเดินทางกลับประเทศไทยเกินไปนัก ขอแนะนำให้หาที่พักในตัวเมืองท่าแขกสักคืน เพื่อสัมผัสบรรยากาศย่ำค่ำและตื่นมารับอรุณ ณ เมืองท่าริมฝั่งแม่น้ำโขง ยามเย็นนั่งเล่นที่ท่าน้ำวัดพระธาตุศรีโคตรบองมองพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าลาแสงไปทางฝั่งไทย สะท้อนแสงสีส้มบนผิวน้ำ อีกทั้งตลอดแนวตลิ่งซึ่งระดับน้ำลดลงเพราะไม่ใช่ฤดูน้ำ หลากก็มีวิถีของผู้คนท้องถิ่นที่ออกมาใช้ชีวิตแสดงถึงความผูกพันกับสายน้ำเส้นเลือดใหญ่แห่งเอเชียอาคเนย์อย่างแม่น้ำโขงหรือ น้ำของ ในสำเนียงภาษาลาว สภาพอากาศของ เมืองท่าแขกฝั่งประเทศลาวและจังหวัดนครพนมฝั่งประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมนั้นเย็นสบาย ไม่ร้อนจัดตลอดวัน จึงเป็นช่วงที่น่าเดินทางท่องเที่ยว และอีกวันเมื่อ ท่านตื่นมายามเช้า เหนือแม่น้ำโขงก็ไอหมอกปกคลุมต่ำๆ ให้ยืนชมจากถนนเลียบแม่น้ำโขงได้ ท่านที่ได้มาเยือนที่นี้ในงานบุญเดือน ๓ นั้นนอกจากมาสักการะองค์พระธาตุเจดีย์ ร่วมสืบสานงานประเพณีแล้วยังได้เก็บเกี่ยวบรรยากาศดีๆของสองฟากฝั่งมหานทีที่หล่อเลี้ยงอนุภูมิภาคนี้มาแต่บรรพกาล นับว่าเป็นกำไรชีวิตครั้งหนึ่งทีเดียว
|