เศรษฐกิจพอเพียงระวังสับสนกับเกษตรทฤษฎีใหม่

             โดย...นายธีรนันทน์  ไกรเลิศ
อาชีพ : รับราชการ
ต.ทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่
อีเมล์ : pranprai007@gmail.com

(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)

 


          ปัจจุบันทุก ๆ สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งหวังให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะของความพอเพียงที่สามารถนำไปใช้ในชีวิต
ประจำวันได้ แต่ในขณะที่สังคมภายนอกกำลังมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่สวนกระแสโลกโลกาภิวัฒน์ โลกแห่งทุนนิยม จึงมักจะมองข้ามไปว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับตน
ไม่เหมาะสมกับฐานะของตน หรือไม่เหมาะสมกับอาชีพของตน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

"หากเราเข้าใจว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือการที่ผู้ปฏิบัติจะต้อง
กลับไปปลูกผักกินเอง เลี้ยงสัตว์กินเอง ไม่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้น
เราต้องทบทวนและทำความเข้าใจเสียใหม่"

          คนส่วนมากมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของคนปลูกผัก ทำสวน เลี้ยงหมูหลุม แต่แท้จริงแล้ว ผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ ก็สามารถนำเอาแนวพระราชดำรัสไปประยุกต์
ใช้ได้ทั้งสิ้น “...ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้โดยเน้นการผลิตด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกินไป เพราะ
หากขนาดใหญ่เกินไป ก็จะต้องพึ่งพิงสินค้าวัตถุดิบและเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาผลิตสินค้า ต้องคำนึงถึงสิ่งที่อยู่ในประเทศไทยก่อน...” หรือพระราชดำรัสเนื่องในโอกาส
วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ว่า “พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอ
เพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง”
          จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (๒๕๕๐) ได้อธิบายถึง คำนิยามเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้จำได้ ง่ายที่สุด คือ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ปัจจัยสำคัญที่เป็นแก่นแท้ของ ๓ ห่วง
คือ (๑) ความพอประมาณ ไม่ สุดโต่งจนเกินไป (๒) การมีเหตุมีผลที่จะคิดวิเคราะห์ทุกอย่างก่อนลงมือปฏิบัติ (๓) มีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อ ไม่ให้กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามามีผลกระทบ
ต่อชีวิตของเรามากเกินไป ส่วน ๒ เงื่อนไข คือ (๑) ความมีเหตุผลใช้ความรู้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง (๒) คุณธรรม หากมีสิ่งเหล่านี้ไม่มีคำว่าไปไม่รอด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ
มากในการดำเนินชีวิต เบื้องต้นคงต้องใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป

ภาพจาก Web Site
http://www.kknontat.com/wp-content/uploads/2013/10ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง1.jpg
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ ๑๖-๒-๕๘

          ส่วนหลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่นั้น เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการจัดการที่ดินในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ของเกษตรกรเพื่อการมีชีวิตที่ดีมั่นคง ยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัย
และเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ เป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สาเหตุที่เรียก
“ทฤษฎีใหม่” นั้นเนื่องจาก มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน มีการคำนวณโดยหลักวิชาการ
เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะเก็บกักให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมตลอดปี และมีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ ประกอบด้วยทฤษฎีใหม่ ๓ ขั้นตอน ได้แก่
          ขั้นตอนที่ ๑ เป็นการผลิตแบบพึ่งตนเองด้วยวิธีง่ายๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง พอมีพอกินไม่อดอยาก
          ขั้นตอนที่ ๒ เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงในเรื่องของการผลิตการตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา
          ขั้นตอนที่ ๓ ร่วมมือกับแหล่งเงินและพลังงาน ตั้งและบริหารโรงสี ตั้งบริการร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุนช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท ซึ่งมิใช่ทำอาชีพ
ด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว


ภาพจาก Web Site
https://aeioulove4143.files.wordpress.com/2013/01/newthe1.jpg
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ ๑๖-๒-๕๘

          จะเห็นได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีหลักการใด ๆ เลยที่ระบุว่าต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่หลักการที่ต้องให้คนเลิกอาชีพเดิมแล้ว
หันกลับมาปลูกผัก เลี้ยงสัตว์กินเอง ทอผ้าใช้เองเหมือนอย่างในอดีต แต่หลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถประยุกต์หลักการไปใช้ได้ทุกระดับฐานะและทุกสาขาอาชีพ ส่วน
เกษตรทฤษฎีใหม่นั้นอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมในการประกอบการ
เกษตรเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน
การทำความเข้าใจให้ถูกต้องจึงเป็นผลดีที่จะทำให้การนำความรู้และหลักการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ เผยแพร่ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม


ภาพจาก Web Site
https://toonbkb.files.wordpress.com/2013/02/newtheory32.jpg
ข้อมูลภาพ ณ วันที่ ๑๖-๒-๕๘

 



เอกสารอ้างอิง
...........................................................................................................................

พระราชดํารัสเศรษฐกิจพอเพียง. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา เศรษฐกิจพอเพียง.Net/พระราชดํารัสเศรษฐกิจ พอเพียง.html (17 มกราคม 2558).
เสรี พงศ์พิศ. (2550). เศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ : พลังปัญญา.
เศรษฐกิจพอเพียง. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.chaipat.or.th/chaipat/content/porpeing/porpeing.html#porpeing (17 มกราคม 2558).
อุดมพร อมรธรรม. (2549). ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : แสงดาว.