หลักการเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต
โดย... ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมรพรรณ  ซุ้มโชคชัยกุล
สาขานิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

          สถานภาพการรับรู้ข่าวสารและการสื่อสารของประชาคมโลกมีศักยภาพสูงขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร
ในสังคมโลกาภิวัฒน์ การเลือกรับข่าวสารต่างๆ มีความหลากหลายในเวลาเดียวกัน อินเทอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารของ
ประชาชนทุกเพศทุกวัยและในทุกระดับ
           กล่าวได้ว่าในปัจจุบันไม่มีใครที่ไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต สื่อสมัยใหม่ตัวนี้มีบทบาทอย่างมากในการสื่อสาร ดังจะเห็นได้จากการ
ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ การสืบค้นเรื่องราวความรู้ในเรื่องต่างๆ แทบทุกเรื่องทำได้อย่างรวดเร็วจนได้รับ
สมญานามว่า ห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก


ภาพจาก Web Site
http://www.stou.ac.th/
http://www.stou.ac.th/Thai/Offices/Oce/Knowledge/index.html
http://www.stou.ac.th/Offices/Oce/home/

           ลักษณะข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต มีลักษณะเป็นสื่อผสมผสานที่ประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และภาพ
จากวิดีทัศน์ หรือวิดีโอ คลิปต์ ที่ขาดไม่ได้คือเสียงองค์ประกอบที่ทำให้เกิดชีวิตชีวา
           ด้วยภาวะข้อมูลข่าวสารที่มีมากมายและความเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกด้าน บทความจึงมีหน้าที่เป็นช่องทางหนึ่งในการ
แสดงความคิดเห็น ให้ความรู้ ชี้แนะ และอธิบาย
           บทความคือข้อเขียนประเภทหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นข้อเท็จจริงบวกกับข้อคิดเห็นและเหตุผลที่เชื่อถือได้ของผู้เขียนต่อ
เหตุการณ์หรือสถานการณ์หนึ่งๆ ด้วยสำนวนภาษาที่แตกต่างกันขึ้นกับวัตถุประสงค์ของบทความแต่ละประเภท
           ลักษณะเนื้อหาของบทความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้อ่าน

          วัตถุประสงค์ของการเขียนบทความ

       การเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับบทความที่พบเห็นในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ดังนี้
           1. เพื่ออธิบาย มีลักษณะเป็นการให้ข้อมูล ให้ภูมิหลัง และข้อเท็จจริงอย่างละเอียด เพื่ออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย ในเรื่อง
ราวหรือเหตุการณ์ที่ซับซ้อน โดยใช้ภาษาที่ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจได้
           2. เพื่อรายงานหรือกระตุ้นความสนใจ มีลักษณะคล้ายๆ กับการเขียนเพื่ออธิบายหรือวิเคราะห์ ซึ่งพิจารณาเห็นว่าเป็น
เรื่องที่ผู้อ่านควรรู้ เป็นการรายงาน บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น
           3. เพื่อให้ความรู้ การแสดงความคิดเห็นของบทความนี้คือการให้ความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในหลายระดับตั้งแต่
เกร็ดความรู้เล็กๆ จนถึงความรู้ทางวิชาการ
           4. เพื่อเสนอแนวทางแก้ไข เป็นบทความที่ผู้เขียนมุ่งอธิบายถึงข้อเท็จจริง ที่มาของปัญหาตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้น
พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งทางก็ได้
           5. เพื่อโน้มน้าวใจ เป็นบทความที่ผู้เขียนต้องการโน้มน้าวให้เกิดการคล้อยตามความคิดเห็นในเรื่องที่กำลังนำเสนอ
ส่วนมากมักเป็นประเด็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือโครงการรณรงค์ต่างๆ เช่น สร้างความเป็นไทย ส่งเสริมให้ใช้ของไทย
ประหยัดการใช้พลังงาน เป็นต้น
           6. เพื่อวิเคราะห์หรือวิจารณ์ การวิเคราะห์เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือประเด็นปัญหา ตามหลักวิชาการ ชี้ให้เห็นข้อดี
และข้อเสีย และผลกระทบ โดยอ้างเหตุผลที่น่าเชื่อถือประกอบการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ส่วนการวิจารณ์จะเน้นในความคิดเห็น
ของผู้เขียนเป็นหลัก ซึ่งมาจากความรู้และประสบการณ์ที่มี โดยมองปัญหารอบด้านในทุกมิติเพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่เที่ยงตรง
           7. เพื่อความเพลิดเพลิน เป็นการนำเสนอเรื่องเบาๆ ที่ผ่อนคลาย เพื่อสร้างอารมณ์ขันด้วยลีลาภาษาที่ไม่เป็นทางการ
เกินไป

          ประเภทบทความ

           บทความที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
           1. บทความแนะนำวิธีปฏิบัต เป็นบทความที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอนการปฏิบัติ และคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่อง
ใดเรื่องหนึ่ง หรืออธิบายวิธีการ กระบวนการในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินชีวิต
           บทความประเภทนี้ เช่น วิธีการประหยัดไฟ การดำเนินชีวิตในยุคข้าวยากหมากแพง วิธีการประกอบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
          2. บทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป เป็นบทความที่มุ่งแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งประเด็นทาง
สังคม เศรษฐกิจ หรือเป็นเรื่องที่ควรรู้ กำลังอยู่ในกระแสความสนใจ โดยเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นในแง่มุมต่างๆ และแสดง
ความคิดเห็น บทความประเภทนี้อาจเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจที่แตกต่างจากเดิมก็ได้
           ความคิดเห็นที่เสนอในบทความนี้จะหนักเบาขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการเขียนและประเด็นเรื่องที่นำเสนอ ซึ่งอาจมีตั้งแต่เรื่อง
การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ จนถึงเรื่องอื่นๆ ทั่วไป บทความแสดงความคิดเห็นที่เผยแพร่
ทางอินเทอร์เน็ตมักจะเชิญชวนให้ผู้ใช้แสดงความคิดเห็นได้ด้วย เป็นการสื่อสารแบบสองทาง
           3. บทความเชิงวิชาการ  เป็นบทความที่มุ่งถ่ายทอดความรู้ ความคิด หรือความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่อง
หนึ่ง โดยนำเสนอข้อมูลที่เที่ยงตรง น่าเชื่อถือ การเขียนบทความประเภทนี้จำเป็นต้องมีการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร หรือจากบุคคล
ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ และความคิดเห็นที่นำเสนอต้องอ้างเหตุผลตามหลักวิชาการมารองรับ มีการอ้างอิงหลักฐานหรือผล
งานวิจัยประกอบการอธิบาย


ภาพจาก Web Site
http://www.stou.ac.th/Thai/Offices/Oce/Knowledge/12-51/index12-51.html
http://www.stou.ac.th/Thai/Offices/Oce/Knowledge/12-51/page4-12-51.html

           บทความเชิงวิชาการที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตจะมีลีลาในการนำเสนอที่ผ่อนคลายมากกว่าบทความวิชาการโดยตรง
           4. บทความวิเคราะห์ เป็นบทความที่มุ่งวิเคราะห์เหตุการณ์ สถานการณ์ที่กำลังเป็นที่สนใจที่มีผลกระทบต่อคนในสังคม
โดยการให้ภูมิหลัง เหตุผล ชี้ประเด็น แสดงความคิดเห็น บทความวิเคราะห์เป็นความคิดเห็นของบุคคลคนเดียว ซึ่งถ้ามีความรู้และ
เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนจะได้รับความเชื่อถือ

          หลักการเขียนบทความ

           การเขียนบทความขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการเขียน ซึ่งก็มาจากความต้องการและความสนใจของกลุ่มเป้าหมายว่าต้องการ
บทความประเภทใด
           หลักการเขียนบทความพิจารณาตั้งแต่โครงสร้างการเขียน ซึ่งประกอบด้วยการตั้งชื่อเรื่อง ความนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป
           โครงสร้างการเขียนบทความ ก็คือเป็นลักษณะทางกายภาพของบทความที่เป็นแนวทางสำหรับการนำเสนอข้อมูลความคิด
ที่เป็นระบบเพื่อให้ผู้อ่านติดตามความคิดของผู้เขียน ซึ่งบทความที่ดีต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน นั่นคือสาระเนื้อหา ความคิด
และภาษา โครงสร้างการเขียนจึงเปรียบเหมือนกรอบที่ผู้เขียนกำหนดเนื้อหา แนวคิดที่น่าสนใจด้วยสำนวนภาษาที่ดีและเหมาะสม
เพื่อให้ได้บทความแต่ละประเภทตามต้องการ
           โครงสร้างการเขียนบทความประกอบด้วย ชื่อเรื่อง ความนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป แต่ละส่วนมีบทบาทหน้าที่ตาม
วัตถุประสงค์ของการเขียนดังนี้
           1. ชื่อเรื่อง  มีบทบาทในการดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้สนใจอยากอ่านบทความ จึงเป็นข้อเขียนที่สื่อสารให้ผู้อ่านทราบ
ว่าเรื่องที่จะเขียนเป็นเรื่องอะไร
           การตั้งชื่อเรื่องที่ดีต้องบอกใจความสำคัญ ประเด็นหลักของเรื่อง เพื่อให้สามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน จึงควรสั้น
กระชับ ได้ใจความ จดจำได้ง่าย กระตุ้นความสนใจและการมีส่วนร่วมของผู้อ่าน ชื่อเรื่องที่ดีต้องสนองวัตถุประสงค์ของการเขียน
สะท้อนประเด็นปัญหาที่นำเสนอ นอกจากนี้เทคนิคการนำเสนอก็จะมีส่วนช่วยในการทำให้ชื่อเรื่องดูสะดุดตาอีกด้วย การตั้งชื่อเรื่อง
มีหลายลักษณะ เช่น
           - ชื่อเรื่องแบบสรุปเนื้อหา เป็นชื่อเรื่องที่บอกถึงเนื้อหาของบทความว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
           - ชื่อเรื่องแบบคำถาม เป็นชื่อเรื่องที่เป็นคำถาม เพื่อกระตุ้นให้คนอยากรู้
           - ชื่อเรื่องแบบคำพูด เป็นชื่อเรื่องที่เป็นคำพูดซึ่งเป็นประเด็นหลักของเรื่องที่จะเขียน
           - ชื่อเรื่องแบบอุปมาอุปมัย เป็นชื่อเรื่องที่เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ
           2. ความนำ  มีบทบาทจูงใจความสนใจของผู้อ่านให้ติดตามเนื้อเรื่องต่อไปจนจบ ด้วยลีลาภาษาที่กระชับ ไม่เยิ่นเย่อ เสนอ
ประเด็นหลักของเรื่อง ความนำที่ดีต้องสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านให้อยากอ่านบทความต่อไป ว่าเรื่องต่อไปจะเป็นอะไร
มีความสำคัญและน่าสนใจตรงไหน นอกจากนี้ยังอาจบอกถึงประเด็นเรื่องที่จะเสนอในเนื้อหาด้วย ความนำของบทความต้องสื่อ
ความคิดของผู้เขียนทันทีเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน
           การเขียนความนำมีหลายแบบ เช่น แบบพรรณนา แบบบรรยาย แบบคำถาม แบบเปรียบเทียบ แบบสร้างความสงสัย
           3. เนื้อเรื่อง  มีบทบาทในการนำเสนอประเด็นเรื่องอย่างละเอียดโดยใช้เทคนิคที่ชวนให้ติดตาม เนื้อเรื่องมาจากข้อมูลที่
ผ่านการค้นคว้าจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ
           เนื้อเรื่องหรือประเด็นเรื่องเป็นส่วนที่สำคัญไม่น้อย ฉะนั้นการกำหนดประเด็นเรื่องที่จะเขียนควรเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ
ของผู้อ่าน หรือมาจากความสนใจของผู้รับผิดชอบในการจัดทำสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งปกติถ้าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่หรือ
มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต คนจะสนใจ เมื่อได้เรื่องแล้วต้องผ่านการค้นหาข้อมูลหาแง่มุมเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเรื่องหนึ่งๆ มีหลาย
แง่มุมที่สามารถนำมาเสนอได้
         การเขียนเนื้อเรื่องนั้นต่อเนื่องมาจากการเกริ่นนำในความนำ และเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่านต้องเสนอข้อมูล และข้อเท็จ
จริงที่รวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของผู้เขียนให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เนื้อหาในบทความควรมีสาระที่น่า
สนใจ มีข้อมูลที่ชัดเจน โดยเฉพาะบทความวิชาการ ต้องมีหลักฐานสนับสนุนหรืออ้างอิงให้เกิดความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างการอ้างอิง
เช่น
จากเว็บไซด์
www. presscouncil.or.th
จากวารสาร
สมสุข หินวิมาน “วัฒนธรรมชนชั้นกลางในละครโทรทัศน์ ” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 26 ( เดือนมกราคม  2543) : 35-38


ภาพจาก Web Site
http://www.stou.ac.th/Thai/Offices/Oce/Knowledge/index.html
http://www.stou.ac.th/Thai/Offices/Oce/Knowledge/information/Article2008/index.htm

           4. บทสรุปหรือบทลงท้าย มีบทบาทในการเสริมย้ำประเด็นสำคัญ สรุปสาระสำคัญของเรื่อง สร้างความประทับใจให้ผู้อ่าน
บทสรุปเป็นส่วนที่อยู่ท้ายสุดของเรื่องแต่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่านส่วนนี้ผู้เขียนต้องเน้นย้ำ
ความคิดเห็นหรือจุดยืนอย่างชัดเจน ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญในเชิงสรุป ถ้ามีการตั้งคำถามในตอนต้นหรือในส่วนนำของเรื่องเพื่อ
เรียกร้องความสนใจก็ต้องแก้ปมและตอบคำถามนั้น บทสรุปจะมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นกับลีลาการนำเสนอความคิดที่จะโน้มน้าว
ความคิดเห็นให้คล้อยตามหรือเห็นแย้ง บทสรุปที่ดีต้องตอบสนองวัตถุประสงค์ของการเขียน ทิ้งประเด็นข้อคิดเห็นให้ผู้อ่านคิดตามได้
            อย่างไรก็ตามการเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตนอกจากจะต้องคำนึงถึงหลักการเขียนบทความแล้วยังต้อง
พิจารณาถึงคุณสมบัติของสื่ออินเทอร์เน็ตด้วย เนื่องจากสื่ออินเทอร์เน็ตมีลักษณะเป็นสื่อผสมผสานที่ประกอบด้วยข้อความ รูปภาพ
ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ข้อเขียนที่ปรากฏทางสื่ออินเทอร์เน็ตจึงมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากการเขียน
โดยทั่วไป

          ลักษณะข้อเขียนที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

           ข้อเขียนที่ปรากฏทางอินเทอร์เน็ตมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือเป็นข้อความที่สั้น กระชับ เน้นประเด็นสำคัญของเนื้อหา
ข้อเขียนทางอินเทอร์เน็ตมีลักษณะ ดังนี้
           1. เน้นประเด็นสำคัญที่เป็นจุดเด่นของเนื้อหา เพื่อให้ข้อความที่จะสื่อสารไม่ยาวเกินไปนัก ข้อเขียนที่เผยแพร่ทาง
อินเทอร์เน็ตจะนำเสนอประเด็นที่เป็นจุดเด่นของเนื้อหาโดยตรง ลักษณะข้อเขียนจึงเป็นหัวข้อเรื่องและจะอธิบายเกี่ยวกับหัวเรื่อง
นั้นๆ ในสาระสำคัญเท่านั้น และจะใช้ภาพประกอบในการอธิบายเนื้อหาให้เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อช่วยไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย
ในการอ่านข้อความยาวๆ
           2. มีการเชื่อมโยงเนื้อหาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งที่เรียกว่า การลิงค์ข้อความ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้อง
การได้อย่างรวดเร็วและอ้างอิงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้
           3. มีสารบัญเนื้อหาปรากฏอยู่ทุกหน้าของจอภาพเพื่อความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล เนื่องจากการอ่านข้อความ
ย้อนกลับไปกลับมาทำให้ไม่สะดวก การออกแบบหน้าจอจึงควรมีสารบัญเนื้อหาควบคู่ไปกับการแสดงข้อความต่างๆ เพื่อช่วยให้
ผู้อ่านสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลได้ทันที
           4. ใช้สำนวนภาษาที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และมีประเด็นเนื้อหาที่ชัดเจน รูปแบบสำนวนภาษาที่ใช้บนอินเทอร์เน็ต
ต้องกระชับ ไม่เยิ่นเย่อ แต่เข้าใจง่าย และควรหลีกเลี่ยงศัพท์เทคนิคที่เข้าใจยาก
           5. มีภาพหรือแผนภูมิหรือภาพเคลื่อนไหวประกอบเนื้อหาที่นำเสนอ เพื่อให้เกิดความสะดุดตา น่าติดตาม เรื่องนี้นับ
เป็นจุดเด่นของการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต เพราะสามารถสื่อความหมายได้ดี นับเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของข้อเขียนที่เผยแพร่
ทางอินเทอร์เน็ต


บรรณานุกรม
..............................................................................................................................................................................
มาลี บุญศิริพันธ์ “การเขียนบทความในสื่อสิ่งพิมพ์” เอกสารการสอนชุดวิชาการเขียนสำหรับสื่อ
สิ่งพิมพ์ หน่วยที่ 7 นนทบุรี สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2548.
อภิชญา อยู่ในธรรม “ การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ในสื่อสมัยใหม่” เอกสารการสอนชุด
วิชาการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ หน่วยที่ 9 นนทบุรี สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2549.
Callahan, Christopher. A Journalist’s Guide To The Internet, The Net as a Reporting
Tool. Chestnut Hill Enterprises, Inc. USA. 1999.