กองกลาง จากอดีต สู่อนาคต
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 39 ตอนที่ 39 วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2522 งานในหน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักงานอธิการบดีในครั้งนั้น ครอบคลุมงานสารบรรณ งานธุรการทั่วไป งานอาคารสถานที่ งานประชาสัมพันธ์ งานยานพาหนะ งานการเงินและบัญชี งานพัสดุ งานการเจ้าหน้าที่ งานวิเทศสัมพันธ์ งานสารสนเทศและวิจัยสถาบัน งานวางแผนหลัก และงานวิเคราะห์แผนและงบประมาณ ต่อมา มหาวิทยาลัยได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้แบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดีออกเป็น 4 กอง คือ กองกลาง กองคลัง กองแผนงาน และกองพัสดุ (ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523) โดยให้งานการเจ้าหน้าที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของกองกลาง (ได้แยกเป็นกองการเจ้าหน้าที่ในภายหลัง) และเมื่อปริมาณงานของกองต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จึงยกระดับตำแหน่งหัวหน้ากอง ระดับ 6 เป็น ผู้อำนวยการกอง ระดับ 7 ใน พ.ศ. 2526 และตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ตำแหน่งผู้อำนวยการกองได้ปรับเป็น ระดับ 8 ทุกกอง ความรับผิดชอบของกองกลางในระยะแรก คือ การดำเนินงานเกี่ยวกับงานสารบรรณและธุรการโดยทั่วไปของมหาวิทยาลัย การติดต่อราชการกับหน่วยงานภายนอก งานเลขานุการสภามหาวิทยาลัย งานเลขานุการอธิการบดีและรองอธิการบดี งานด้านการประชาสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย งานยานพาหนะของมหาวิทยาลัย งานอาคารสถานที่ ตลอดจนการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มีระบบการจัดการเป็นศูนย์รวมของการบริการหลายรูปแบบ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานและอำนวยความสะดวกด้านการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เช่น การจัดการเอกสารราชการ การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การบริการยานพาหนะ การดูแลรักษาความปลอดภัย การจัดประชุม และการติดต่อประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก และงานพิธีต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ งานสารบรรณ และหน่วยเอกสารราชการ รับผิดชอบการจัดการเอกสารราชการของมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และนโยบายของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่การรับ-ส่งเอกสาร การจำแนกเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การนำเสนอหนังสือ การออกเลขที่หนังสือ การเก็บรักษาเอกสารสำคัญ การรับฝากเก็บเอกสารกึ่งกระแสการใช้งาน ตลอดจนการดำเนินการทำลายเอกสารราชการและสิ่งพิมพ์ที่ไม่ใช้ประโยชน์ในราชการ ต่อมา ได้เพิ่มระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมทั้งนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในระบบการจัดเก็บเอกสาร และการทำลายเอกสารของมหาวิทยาลัย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น งานประชาสัมพันธ์ รับผิดชอบการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่มหาวิทยาลัย เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยให้นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไปทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยอาศัยสื่อประเภทต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น จัดผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์ และการประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซท์เพื่อแจ้งข่าวกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ให้บริการความรู้ด้านต่างๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดำเนินการขอความอนุเคราะห์จากศูนย์การค้าชั้นนำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อใช้พื้นที่ในการจัดนิทรรศการรณรงค์การแนะแนว และรับสมัครนักศึกษาใหม่ งานการประชุม ดำเนินการในหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ที่ประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัย และที่ประชุมเฉพาะกิจอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย และประสานงานให้การดำเนินงานตามมติที่ประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รับผิดชอบการจัดการประชุมในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นศูนย์กลางการจัดเตรียมและให้บริการการใช้ห้องประชุมของมหาวิทยาลัย หน่วยยานพาหนะ รับผิดชอบให้บริการยานพาหนะ ในระบบบริหารกลางรวมศูนย์การใช้ไว้ที่หน่วยยานพาหนะ จัดหา และจัดสรรยานพาหนะประจำหน่วยงานต่างๆ ดูแลรักษาและควบคุมการใช้ยานพาหนะ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างประหยัด ตามนโยบายของรัฐบาล และตามระเบียบของมหาวิทยาลัย หน่วยประสานงาน รับผิดชอบการประสานงานทั่วไประหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ดำเนินการจัดงานพิธีการต่างๆ โดยเฉพาะงานพิธีสงฆ์ของมหาวิทยาลัย ขอความร่วมมือและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยในงานพิธีวันสำคัญ และกิจกรรมพิเศษอื่นๆ รับผิดชอบงานบริหารทั่วไปเกี่ยวกับแผนงาน งบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ งานบุคคล และการประกันคุณภาพการศึกษา ศูนย์รักษาความปลอดภัย ดูแลความปลอดภัยของบุคคลากร ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ตลอดจนทรัพย์สินของนักศึกษา และบุคคลากรภายนอกที่มาใช้บริการการสอน หรือติดต่องานภายใยมหาวิทยาลัย จัดระเบียบการจราจรในบริเวณพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน รวมทั้งการประสานงานกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในกรณีที่มีการจัดงาน หรืองานพิธีต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย การบริหารงานของกองกลางในอนาคต จะเพิ่มเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการดำเนินงานให้มากขึ้น เช่น การจัดการเอกสารทั้งระบบ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ การจัดประชุมในระบบ e-Conference ระบบการประสานงานและการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกด้านอื่นๆ ระบบการควบคุมและการให้บริการขอใช้รถราชการ การติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และการจัดระบบการรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยมากขึ้น
ผู้เขียน: นางภาวนา สุพัฒนกุล หัวหน้างานสารบรรณ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช |