มสธ. > รู้จัก มสธ.
 
 
stou   ประวัติความเป็นมา

     แนวคิดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเปิด เป็นความพยายามที่รัฐบาลจะขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนให้มากที่สุด แนวคิดนี้ได้เคยนำมาใช้แล้วในประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2476 ได้จัดการศึกษาระบบ "ตลาดวิชา" รับนักศึกษาโดยไม่มีการสอบคัดเลือก ไม่บังคับให้เข้าฟังบรรยาย แต่ยังคงใช้วิธีการจัดการศึกษาในลักษณะเดียวกับมหาวิทยาลัยทั่วไป คือใช้ชั้นเรียนเป็นหลัก นักศึกษาอาจศึกษาได้ด้วยตนเอง หรืออาจเข้าฟังบรรยาย หรือไปพบอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยได้ ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เปลี่ยนมาเป็นระบบจำกัดการรับนักศึกษาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

     และในปี พ.ศ. 2514 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเปิดหลักสูตรการศึกษามากกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระยะที่เปิดสอนในระบบตลาดวิชา และสามารถรับนักศึกษาได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงจัดการศึกษาโดยอาศัยชั้นเรียนเป็นหลัก เช่นเดียวกันทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงประสบปัญหาต่าง ๆ เป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในด้านอาคารสถานที่เรียนไม่สามารถขยายให้เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี
หากมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะขยายการจัดการศึกษาที่ดำเนินการอยู่นี้ให้เพียงพอกับความต้องการของผู้เรียนแล้ว รัฐบาลและมหาวิทยาลัยจะต้องรับภาระหนักในด้านการลงทุนซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปีไม่มีวันสิ้นสุด
     ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายและกระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาลจึงดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นอีกแห่งหนึ่ง มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ดำเนินการสอนโดยใช้ระบบการสอนทางไกล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช" ตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์ นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัย เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย
      เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยจึงกำหนดวันที่ 5 กันยายน ของทุกปีเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย
     ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีอำนาจให้ปริญญา และประกาศนียบัตรที่มีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของรัฐอื่น ๆ ทุกประการ

     ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดแรก รวมทั้งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก
     หลังจากได้ใช้เวลาเตรียมการด้านต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมที่จะเปิดสอนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2523 และได้เปิดสอนในหลักสูตรต่างๆ เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
   - พ.ศ.2523 เปิดสอนเป็นปีแรกใน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ
   - พ.ศ.2525 เปิดสอนเพิ่มเติมอีก 5 สาขาวิชา คือ สาขาวิชานิติศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ และสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์
   - พ.ศ.2526 เปิดสอนสาขาวิชารัฐศาสตร์
   - พ.ศ.2527 เปิดสอนสาขาวิชานิเทศศาสตร์
   - พ.ศ.2538 เปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
   - และในปี พ.ศ.2544 ได้เปิดสอนสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (แยกจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพเมื่อ พ.ศ.2523) เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาขาวิชา
     รวมสาขาวิชาที่เปิดสอนในปัจจุบันทั้งสิ้น 12 สาขาวิชา
 
 
 
 
stou   ระบบการเรียนการสอน

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชใช้ระบบการศึกษาที่เอื้ออำนวยให้นักศึกษาสามารถใช้เวลาว่างศึกษาด้วยตนเองโดยไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียนตามปกติ เป็นวิธีการศึกษาด้วยระบบการศึกษาที่เรียกว่า “ระบบการศึกษาทางไกล”

ระบบการศึกษาทางไกลเป็นระบบการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ สามารถศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเองตามความพร้อม ความสะดวก และความสนใจของตนเอง จากสื่อประสม ประเภทสิ่งพิมพ์ในรูปของเอกสารการสอน แบบฝึกปฏิบัติ ซีดีเสียงประกอบชุดวิชา และหนังสืออ่านประกอบต่างๆ รายการวิทยุกระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์ และการสอนเสริมตามศูนย์บริการการศึกษา

การจัดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยใช้หลักการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกันในรูปของชุดการสอนเรียกว่า “ชุดวิชา” ชุดวิชาแต่ละชุดแบ่งหน่วยการสอนออกเป็น 15 หน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยใช้เวลาศึกษาประมาณ 12 ชั่วโมง (ข้อสอบปรนัยจะออกหน่วยละ 8 ข้อ 15 หน่วยจะเท่ากับ 120 ข้อ)

มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาเป็นระบบทวิภาค ปีการศึกษาหนึ่งมี 2 ภาคการศึกษาตามปกติ แต่ละภาคการศึกษาปกติ มีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์

เพื่อช่วยให้นักศึกษาสามารถศึกษาด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นน้อยที่สุด มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชใช้ระบบการถ่ายทอดความรู้ เนื้อหาสาระ ประสบการณ์ รวมทั้งการประเมินผลการศึกษาดังนี้

1. การศึกษาจากวัสดุการศึกษาที่ส่งให้ทางไปรษณีย์

ก. เอกสารการสอนประจำชุดวิชา เอกสารการสอนประจำชุดวิชาประกอบด้วยคำอธิบายชุดวิชาวัตถุประสงค์ของชุดวิชา รายชื่อหน่วยการสอน วิธีการศึกษา ตลอดจนแผนการศึกษาของหน่วยต่างๆ เนื้อหาสาระในเอกสารการสอนจัดอยู่ในรูปบทเรียนแบบโปรแกรม ซึ่งนักศึกษาจะต้องศึกษาเอกสารการสอนทุกหน่วยอย่างละเอียดพร้อมทั้งทำกิจกรรมตามที่ได้กำหนดไว้แต่ละหน่วย

ข. แบบฝึกปฏิบัติประจำชุดวิชา ประกอบด้วยคำชี้แจงในการใช้แบบฝึกปฏิบัติ รายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยการสอน แบบประเมินผลตนเองก่อนและหลังเรียน ที่ว่างสำหรับบันทึกสาระสำคัญ ทำกิจกรรมและทำรายงาน รวมทั้งแบบทดสอบประจำหน่วย

ค. ซีดีเสียงประจำชุดวิชา มหาวิทยาลัยได้ผลิตซีดีเสียงประจำชุดวิชา ใช้คู่กับเอกสารการสอนเพื่อขยาย หรือสรุปเนื้อหาสาระของเอกสารการสอนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจัดส่งให้นักศึกษาพร้อมเอกสารการสอน โดยปกติกำหนดปริมาณไม่เกิน 4 แผ่นต่อชุดวิชา ความยาวแผ่นละ 60 นาที

ง. วีซีดีประจำชุดวิชา บางชุดวิชาที่ต้องการขยายความเข้าใจในเนื้อหาสาระเอกสารการสอนประจำชุดวิชาด้วยเสียงและภาพเคลื่อนไหว มหาวิทยาลัยจึงได้ผลิตวีซีดีประจำชุดวิชาขึ้น เพื่อเสนอเรื่องราวที่สอดคล้อง เสริม เติมเต็มเนื้อหาสาระของชุดวิชา ปกติกำหนดปริมาณไม่เกิน 2 แผ่นต่อชุดวิชา ความยาวประมาณแผ่นละ 60 นาที

จ. ซีดีรอมประจำชุดวิชา มหาวิทยาลัยได้ผลิตชุดการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ประจำชุดวิชาใช้คู่กับเอกสารการสอน มีรูปแบบการนำเสนอลักษณะมัลติมีเดียเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาสารที่จำเป็นในเอกสารการสอนที่แสดงกระบวนการ สาธิต ทดลองหรือการเสนอเรื่องราวเป็นกรณี ในลักษณะของสื่อประสมที่เน้นปฏิสัมพันธ์ปกติกำหนดปริมาณไม่เกิน 2 แผ่นต่อชุดวิชา

นอกจากการศึกษาจากวัสดุการศึกษาที่ส่งให้ทางไปรษณีย์แล้ว มหาวิทยาลัยยังให้บริการสื่อการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับนักศึกษาและผู้สนใจในการศึกษาด้วยระบบการเรียนการสอนทางไกลที่หลากกลายมากขึ้น ได้แก่ E-Learning ซีดีรอมประกอบชุดวิชา รายการวิทยุกระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์และรายการ Media on Demand ทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย


2. การบริการด้านการสอนเสริม

การสอนเสริมเป็นบริการทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยจัดให้แก่นักศึกษา โดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้เสริมความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของชุดวิชาที่นักศึกษาเรียนด้วยตนเองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างความกระจ่างด้วยการตอบปัญหาข้อสงสัยของนักศึกษาเกี่ยวกับเอกสารการสอนที่ศึกษา การบริการสอนเสริมดังกล่าวนักศึกษาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ทั้งนี้การสอนเริมจะจัดให้มีขึ้นในวันเสาร์ อาทิตย์ ณ ศูนย์บริการการศึกษาที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดโดยมีรายละเอียดดังนี้

ก. วัตถุประสงค์ของการสอนเสริม การสอนเสริมมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 4 ประการ คือ

1) สรุปเนื้อหาสาระของหน่วยหรือชุดวิชาในประเด็นที่ยาก ซึ่งนักศึกษาอาจไม่เข้าใจจากการอ่านเอกสารการสอนหรือประมวลสาระชุดวิชาการทำกิจกรรมในแบบฝึกปฏิบัติหรือแผนการศึกษาและคู่มือการศึกษา
2) เปิดโอกาสให้นักศึกษาซักถามข้อสงสัยในเนื้อหาสาระที่ศึกษาในชุดวิชาที่เปิดให้มีการสอนเสริมและได้รับฟังคำตอบ คำเฉลยปัญหาที่นักศึกษาสงสัยข้องใจ
3) ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสอนเสริม เช่น สถานการณ์จำลอง กลุ่มสัมพันธ์ การวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น เป็นต้น
4) ให้นักศึกษาได้มีโอกาสพบปะอาจารย์ เพื่อนนักศึกษา และสร้างเครือข่ายเพื่อการติดต่อสื่อสารในการเรียน การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนโดยทั่วไป และการให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาส่วนตัวบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียน

ข. รูปแบบการสอนเสริม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้กำหนดรูปแบบการสอนเสริมตามลักษณะเนื้อหาวิชาออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ (แต่ละชุดวิชาเลือกเพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น)
1) รูปแบบที่ 1 แบบสอน 2 ครั้ง ครั้งๆ ละ 1 วันๆ ละ 5 ชั่วโมง (รวม 10 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา)
2) รูปแบบที่ 2 แบบสอน 3 ครั้งๆ ละ 1 วันๆ ละ 5 ชั่วโมง (รวม 15 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา)
3) รูปแบบที่ 3 แบบสอน 2 ครั้งๆ ละ 1 วันติดกัน (เสาร์-อาทิตย์ติดกัน) วันละ 5 ชั่วโมง (รวม 10 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา)

ค. วิธีการสอนเสริม การสอนเสริมจะเป็นการสรุปเนื้อหาสาระของบางหน่วย หรือชุดวิชาในบางประเด็นที่ยากสลับซับซ้อน ซึ่งนักศึกษาอาจไม่เข้าใจหลังจากที่ได้ศึกษาจากเอกสารการสอน ทำกิจกรรมในแบบฝึกปฏิบัติ หรือแผนการศึกษา และคู่มือการศึกษามาแล้ว โดยคณาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนเสริม

ง. สถานที่สอนเสริม มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ศูนย์บริการการศึกษาจังหวัดและศูนย์บริการการศึกษาภาคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นสถานที่สอนเสริมในแต่ละภาคการศึกษา ดูตารางสอนเสริม

จ. ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับ นักศึกษาจะได้รับความรู้และมีโอกาสสอบถามปัญหาข้อสงสัยจากอาจารย์สอนเสริมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามปัญหาในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาโดยตรง เช่น ปรึกษาปัญหาด้านการเรียน การลงทะเบียนเรียน การศึกาเอกสารการสอนให้ประสบผลสำเร็จ เป็นต้น

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้จัดให้มีการสอนเสริมในรูปแบบอื่นๆ อีก ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับ วัน/เวลา และชุดวิชาที่จะจัดสอนเสริม สำนักบริการการศึกษาจะแจ้งให้นักศึกษาทราบในแต่ละภาคการศึกษาผ่าน “ข่าว มสธ.” หรือสื่ออื่นๆ ตามความเหมาะสม ได้แก่ การสอนเสริมโดยการนัดหมาย การสอนเสริมในเรือนจำ/ทัณฑสถาน การสอนเสริมทางไกลผ่านดาวเทียม การสอนเสริมผ่านอินเตอร์เน็ต และการสอนเสริมแบบเข้ม เป็นต้น

ในกรณีนักศึกษาพลาดการชมการสอนเสริมทางไกลผ่านดาวเทียมและการสอนเสริมทางอินเตอร์เน็ตในวันและเวลาที่กำหนด นักศึกษาสามารถชมรายการย้อนหลังได้โดยเข้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย แล้วเลือก Webcasting หรือ Media on Demand หรือ e-Tutorials นอกจากนั้น ยังสมารถรับชมได้ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV 8 โดยดูจากตารางออกอากาศของสำนักเทคโนโลยีการศึกษา


3. กิจกรรมภาคปฏิบัติเสริมประสบการณ์

ในบางชุดวิชานักศึกษาต้องเข้ารับการฝึกภาคปฏิบัติเสริมประสบการณ์โดยใช้เวลาศึกษาประมาณสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงต่อ 1 ชุดวิชา มหาวิทยาลัยจะจัดแหล่งฝึกงานหรือฝึกภาคปฏิบัติโดยมีกิจกรรมที่นักศึกษาต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

ก. การปฏิบัติการในห้องทดลอง ชุดวิชาบางชุดนักศึกษาจะได้รับมอบหมายให้เข้าห้องปฏิบัติการของสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงาน เช่น วิทยาลัย โรงพยาบาล โรงงาน เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยจะแต่งตั้งบุคลากรในหน่วยงานนั้นเป็นผู้นิเทศก์และประเมินผลการปฏิบัติการของนักศึกษาตามความเหมาะสม

ข. การฝึกงาน ชุดวิชาบางชุดมีลักษณะเนื้อหาที่นักศึกษาจะต้องฝึกงานและดูงานในสถาบันวิชาการและวิชาชีพต่างๆ โดยนักศึกษาต้องทำรายงานส่งให้มหาวิทยาลัยเพื่อประกอบการประเมินผลทุกครั้ง

ค. การเข้าร่วมประชุมสัมมนา ในบางชุดวิชานักศึกษาจะต้องเข้าประชุมและสัมมนาทางวิชาการตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชุดวิชา

ง. การเข้าร่วมในสถานการณ์จำลอง ชุดวิชาบางชุด เช่น ชุดวิชาในสาขาวิชาวิทยาการจัดการ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ นักศึกษาจะต้องเข้าร่วมในสถานการณ์จำลองเพื่อฝึกทักษะความชำนาญในการแก้ปัญหาและการดำเนินงานด้วย


4. การฝึกปฏิบัติเสริมทักษะ

สาขาวิชาต่อไปนี้จะมีการจัดฝึกปฏิบัติเสริมทักษะชุดวิชา

  • สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาการจัดการ
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  • สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
  • สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์
 

5. กิจกรรมก่อนสำเร็จการศึกษา

การอบรมเข้มชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพ เป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดให้กับนักศึกษาตามข้อกำหนดของหลักสูตรการศึกษากล่าวคือ หลักสูตรการศึกษาของแต่ละสาขาวิชาได้กำหนดให้มีชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพเป็นชุดวิชาบังคับในโครงสร้างหลักสูตรการศึกษา ซึ่งนักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาสุดท้ายและเข้ารับการอบรมตามจำนวนวัน เวลา และสถานที่ที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยนักศึกษาจะต้องชำระค่าอาหารและที่พักตามจำนวนที่มหาวิทยาลัยแจ้งไว้ ซึ่งได้กำหนดการประเมินผลการเรียนชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพไว้ 2 ส่วนคือ สอบภาคทฤษฎีตามตารางการสอบไล่ประจำภาคโดยกำหนดคะแนนในส่วนนี้ไว้ร้อยละ 40 และเข้ารับการอบรบเข้มชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพตามเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้นักศึกษา ส่วนนี้ได้กำหนดคะแนนในการประเมินไว้ร้อยละ 60 และจะนำคะแนนทั้งสองส่วนมารวมกันเพื่อตัดสินผลคะแนนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

 
 
 
 
stou   การจัดการศึกษา

      มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่นักศึกษา จึงจัดสาระของหลักสูตรเป็นชุดวิชาที่บูรณาการเนื้อหาสาระและประสบการณ์ต่างๆ ของวิชาที่มีความสัมพันธ์กันเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีระบบในรูปแบบชุดการสอน เรียกว่า "ชุดวิชา" แต่ละชุดวิชามีค่า 6 หน่วยกิต ทวิภาค ของหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ชุดวิชาหนึ่งแบ่งหน่วยการสอนออกเป็น 15 หน่วย แต่ละหน่วยการสอนใช้เวลาศึกษาประมาณ 12 ชั่วโมง
     มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาเป็นระบบทวิภาค ปีการศึกษาหนึ่งมี 2 ภาคการศึกษาปกติ แต่ละภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ นักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนอย่างน้อย 1 ชุดวิชา แต่ไม่เกิน 3 ชุดวิชา จนกว่าจะครบจำนวนชุดวิชาตามหลักสูตร ทั้งนี้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เท่า ของระยะเวลาการศึกษาตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
     หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนมี 6 ลักษณะ คือ
          1. หลักสูตรปริญญาเอก
          2. หลักสูตรปริญญาโท
          3. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต
          4. หลักสูตรปริญญาตรี
          5. หลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง
          6. หลักสูตรประกาศนียบัตร
 
 
 
 
stou   การวัดและประเมินผลการศึกษา

     มหาวิทยาลัยแบ่งลักษณะเนื้อหาชุดวิชาออกเป็น ชุดวิชาเชิงทฤษฎีและชุดวิชาเชิงปฏิบัติ โดยให้มีการประเมินผลการศึกษาทุกชุดวิชาที่นักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนไว้แต่ละภาคการศึกษาและใช้วิธีการประเมินผลการศึกษาดังนี้
          1. การให้คะแนนกิจกรรมหรือการฝึกปฏิบัติ
          2. การสอบประจำภาคการศึกษา
          3. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมวิชาชีพตามที่สาขาวิชาเป็นผู้กำหนดในช่วงก่อนสำเร็จการศึกษา
     การวัดและประเมินผลการศึกษาในแต่ละชุดวิชาให้สาขาวิชาเป็นผู้กำหนดว่าชุดวิชาใดเป็นชุดวิชาเชิงทฤษฎีหรือชุดวิชาใดเป็นชุดวิชาเชิงปฏิบัติ และให้มีอำนาจกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับฝึกปฏิบัติและการสอบไล่ประจำภาคการศึกษาตามลักษณะของแต่ละชุดวิชาที่สาขาวิชารับผิดชอบ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่มีการกำหนดในระเบียบของมหาวิทยาลัย
     สำหรับกำหนดการสอบไล่ประจำภาคการศึกษา สถานที่สอบ การประเมินผลการศึกษา และการแจ้งผลการสอบ มหาวิทยาลัยมีเกณฑ์ในการดำเนินการดังต่อไปนี้
     - สถานที่สอบ มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการจัดสถานที่สอบให้กับนักศึกษาเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือนักศึกษาไม่ต้องละทิ้งหน้าที่การงานในระยะเวลาที่มีการสอบ ซึ่งสถานที่ที่นักศึกษาเข้าสอบ เรียกว่า "สนามสอบ" โดยมหาวิทยาลัยเปิดสนามสอบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยใช้รหัสไปรษณีย์ที่อยู่ที่นักศึกษาแจ้งไว้กับมหาวิทยาลัยในตอนสมัครเรียนเป็นเกณฑ์ในการกำหนดสนามสอบให้นักศึกษา ซึ่งมีนักศึกษาบางส่วนไม่สามารถเข้าสอบในสนามสอบที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ได้ มหาวิทยาลัยจึงอนุญาตให้นักศึกษาสามารถระบุจังหวัดที่เป็นสนามสอบได้ โดยมหาวิทยาลัยจะจัดสนามสอบตามที่นักศึกษาเลือกไว้ให้มากที่สุด เว้นแต่สนามสอบที่นักศึกษาระบุมีห้องสอบไม่เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาในจังหวัดนั้นๆ มหาวิทยาลัยจะจัดสนามสอบในจังหวัดที่ใกล้เคียงให้กับนักศึกษาแทน
     นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังให้บริการนักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศและไม่สามารถกลับมาเข้าสอบที่ประเทศไทยได้ โดยมหาวิทยาลัยให้บริการจัดสอบในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยจะจัดสอบให้ ณ สถานเอกอัครราชฑูตหรือสถานกงศุล ที่มีความพร้อมเป็นสนามสอบประจำประเทศนั้นๆ
     - กำหนดการสอบ มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาค แต่ละภาคการศึกษามีการจัการสอบ 2 ครั้ง คือ การสอบไล่ และการสอบซ่อม โดยมหาวิทยาลัยกำหนดการสอบในวันเสาร์และวันอาทิตย์ และดำเนินการสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 2 วัน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะกำหนดให้มีการสอบวันละ 2 - 3 คาบ แล้วแต่ความเหมาะสม และสำนักทะเบียนและวัดผลจะแจ้งกำหนดการสอบในแต่ละครั้งให้นักศึกษาทราบเป็นรายบุคคลทางไปรษณีย์ ก่อนการสอบแต่ละครั้งประมาณ 10 - 20 วัน
     - การประเมินผลการศึกษา มหาวิทยาลัยได้กำหนดลำดับขั้นการแสดงความสามารถในการเรียนรู้ของนักศึกษาที่เข้าสอบในแต่ละชุดวิชา ดังนี้

คะแนน ลำดับขั้น/ความหมาย ค่าเฉลี่ย
ร้อยละ 76 ขึ้นไป           H (HONOUR เกียรตินิยม) 4.00
ร้อยละ 60 - 75           S (SATISFACTORY ผ่าน) 2.30
ต่ำกว่าร้อยละ 60           U (UNSATISFACTORY ไม่ผ่าน) -
-           I (INCOMPLETE ไม่สมบูรณ์) -

     หมายเหตุ สัญลักษณ์ I ในระบบการประเมินผลการศึกษาจะกำหนดให้ในกรณีต่อไปนี้
          1. นักศึกษาที่ไม่ได้เข้าสอบชุดวิชานั้นเป็นครั้งแรกจะได้ลำดับขั้น I (ยกเว้นภาคการศึกษาพิเศษจะไม่มีลำดับขั้น I) เมื่อเข้าสอบซ่อมจะได้ลำดับขั้นตามผลการสอบโดยไม่มีเครื่องหมาย * (ลำดับขั้นที่มีเครื่องหมาย * กำกับไว้ด้านหลังแสดงว่าเคยสอบชุดวิชานั้นไม่ผ่านมาแล้ว) แต่ถ้าไม่เข้าสอบซ่อมอีกลำดับขั้น I จะเปลี่ยนเป็นลำดับขั้น U โดยอัตโนมัติ หรือ
          2. การดำเนินกิจกรรมที่กำหนดตามหลักสูตรไม่เสร็จสมบูรณ์ในภาคการศึกษาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้
     จากทั้ง 2 กรณีข้างต้น เมื่อผู้ที่ได้คะแนนเกียรตินิยม H หลังจากได้ I ก็มีสิทธิที่จะได้รับเกียรตินิยมเช่นเดียวกับนักศึกษาอื่นๆ ที่มีผลการศึกษาอยู่ในเกณฑ์
     การนับชุดวิชาสะสมเพื่อให้ครบตามโครงสร้างหลักสูตร มหาวิทยาลัยจะนับเฉพาะชุดวิชาที่นักศึกษาสอบได้ลำดับขั้น H และ ลำดับขั้น S เท่านั้น
     - การแจ้งผลสอบ เมื่อสำนักทะเบียนและวัดผลประเมินผลการศึกษาในลำดับขั้น ตามความสามารถในการเรียนของนักศึกษาที่ได้ทำการสอบตามกำหนดเวลาของมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้วนั้น สำนักทะเบียนและวัดผลจะแจ้งผลการสอบแต่ละครั้งให้นักศึกษาทราบเป็นรายบุคคลทางไปรษณีย์ หลังจากสอบแต่ละครั้งประมาณ 35 - 45 วัน
     ทั้งนี้ นักศึกษาสามารถตรวจสอบรายละเอียดสถานที่สอบ กำหนดการสอบ และผลการสอบในแต่ละภาคการศึกษาได้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ที่ www.stou.ac.th
 
 
 
 
stou   ค่าใช้จ่ายในการสมัครเข้าศึกษา

     มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กำหนดค่าใช้จ่ายในการสมัครเข้าเป็นนักศึกษาใหม่ ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตร โดยประมาณการค่าใช้จ่ายใน 1 ภาคการศึกษาปกติ
ดังนี้

รายการค่าใช้จ่าย การลงทะเบียนเรียน
1 ชุดวิชา (บาท) 2 ชุดวิชา (บาท) 3 ชุดวิชา (บาท)
   1. ค่าธรรมเนียมแรกเข้า
   1.(ชำระครั้งเดียวตอนสมัคร)
500 500 500
   2. ค่าบำรุงการศึกษา 300 300 300
   3. ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลง
   3. ทะเบียนประวัตินักศึกษา ตลอดเวลา
   3. ของการเป็นนักศึกษา
  3. (ชำระครั้งเดียวตอนสมัคร)
100 100 100
   4. ค่าชุดวิชารวมค่าวัสดุการศึกษา * 700 หรือ 850 1,400 หรือ 1,700 2,100 หรือ 2,550
รวมค่าใช้จ่าย 1,600 หรือ 1,750 2,300 หรือ 2,600 3,000 หรือ 3,450


     หมายเหตุ * ค่าชุดวิชารวมค่าวัสดุการศึกษา บางชุดวิชาจำนวนเงินไม่เท่ากัน
 
 
[ กลับหน้าแรก | เกี่ยวกับ มสธ. | รู้จัก มสธ. | เรียน มสธ. ดีอย่างไร | คุณสมบัติผู้สมัครเรียน | ช่องทางการสมัครและวิธีการรับสมัคร | กลับด้านบน ]
Translate this page into English
จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลทะเบียนและบริการนักศึกษา สำนักทะเบียนและวัดผล มสธ.  โทร. 02 504 7231-6