สัญลักษณ์ ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ

ตราประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์เรียงกัน ภายใต้พระมหามงกุฏ นำมาประกอบกับส่วนยอดของเจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัย เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

สีประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยกำหนดให้ สีเขียว และ สีทอง เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย
สีเขียว เป็นสีประจำวันพุธ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สีทอง เป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคล

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยกำหนดให้ ต้นปาริชาตหรือต้นทองหลางลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีใบเป็นสีเขียว และเส้นใบเป็นสีทอง ตรงกับสีเขียวทองซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย


ปณิธาน

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต มุ่งพัฒนาคุณภาพของประชาชนทั่วไป เพิ่มพูนวิทยฐานะแก่ ผู้ประกอบอาชีพและขยายโอกาสทางการศึกษาต่อสำหรับทุกคน เพื่อสนองความต้องการของบุคคลและสังคมด้วยการจัดระบบการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งใช้สื่อการสอนทางไปรษณีย์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และวิธีการอื่นที่ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ

วิสัยทัศน์

“เป็นมหาวิทยาลัยเปิดชั้นนำของโลกที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาทางไกลเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตสำหรับทุกคน”

ปรัชญาการศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

“มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong education) และการศึกษาควบคู่กับการทำงานและการดำรงชีวิต มุ่งพัฒนาวิชาชีพและคุณภาพชีวิตเพื่อสนองความต้องการของบุคคลและสังคมด้วยการเปิดโอกาสทางการศึกษาผ่านระบบการเรียนการสอนทางไกล โดยใช้สื่อประสมที่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานของสังคมและความพร้อมของนักศึกษาและผู้เรียน ด้วยวิธีการที่หลากหลายที่เอื้อให้นักศึกษาและผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ”

พันธกิจ
  1. จัดให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต
  2. วิจัยพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคคล ชุมชน สังคม และประเทศ
  3. บริการวิชาการเพื่อบูรณาการความรู้ใช้ประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศ ให้มั่งคั่งและยั่งยืน
  4. เรียนรู้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน และเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม
  5. พัฒนาองค์กรให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และมีธรรมาภิบาล
เป้าประสงค์/วัตถุประสงค์
  1. เพื่อพัฒนา มสธ. ให้เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ทางไกลชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
  2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมนำความรู้และ จัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ตอบสนองต่อการพัฒนาสังคมและประเทศ
  3. เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยเปิดทางไกลที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พัฒนาสู่ระบบการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์
อำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

    พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๕ ได้บัญญัติให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นสถาบันการศึกษาแบบไม่มีชั้นเรียนของตนเอง มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทะนุบำรุงวัฒนธรรม

อำนาจหน้าที่การบริหารมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
    สภามหาวิทยาลัย

    1) วางนโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การให้บริการทางวิชาการ แก่สังคม และการทะนุบำรุงวัฒนธรรม ทั้งนี้โดยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยและ นโยบายของรัฐ
    (2) จัดวางระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
    (3) อนุมัติปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญา และประกาศนียบัตร
    (4) พิจารณาการจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิก สำนักงานอธิการบดี สถาบัน สำนักและสาขาวิชา แล้วแต่กรณี
    (5) อนุมัติการรับสถาบันวิชาการชั้นสูงเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย
    (6) พิจารณาการแต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดีและศาสตราจารย์ประจำ
    (7) อนุมัติการแต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก รองผู้อำนวยการสถาบัน รองผู้อำนวยการสำนัก รองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์
    (8) จัดวางระเบียบเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
    (9) แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกระทำการใด ๆ ตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
    (10) หน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ


    สภาวิชาการ

    มีอำนาจหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยดังนี้
    (1) พิจารณากำหนดหลักสูตร การสอน และการวัดผลการศึกษา
    (2) เสนอการให้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญา และประกาศนียบัตร
    (3) เสนอการจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิก สถาบัน สำนักและสาขาวิชา
    (4) พิจารณาการรับสถาบันวิชาการชั้นสูงเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย
    (5) เสนอแนะการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
    (6) พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์
    (7) จัดหาวิธีการอันจะยังการศึกษา การวิจัย และการบริการทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัย
    (8) พิจารณาให้ความเห็นแก่สภามหาวิทยาลัยในเรื่องเกี่ยวกับวิชาการของมหาวิทยาลัย
    (9) แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกระทำการใดๆ ตามที่สภาวิชาการมอบหมาย


    ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย

    มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัยและโดยเฉพาะมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
    (1) พิจารณาและรับผิดชอบกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารโดยทั่วไปของมหาวิทยาลัย
    (2) เรื่องที่มิได้ระบุไว้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่ง หรือคณะกรรมการคณะหนึ่งคณะใด ตามกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับอื่น
    (3) เรื่องที่อธิการบดีขอความเห็นหารือและสั่งการให้เป็นหน้าที่เฉพาะ


    ก.พ.อ. มสธ.

    มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
    (1) การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
    (2) แต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.อ. มสธ.
    (3) อำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ อ.ก.พ.กรม และ.อ.ก.พ.กระทรวง ในกรณีที่นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน (กฎ ก.พ.) และระเบียบที่เกี่ยวข้องมาใช้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยโดยอนุโลม
    (4) ดำเนินการอื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
    (5) มีหน้าที่ปฏิบัติการตามกฎทบวง และมีหน้าที่ช่วย คณะกรรมการข้าราชการมหาวิทยาลัย ปฏิบัติงานตามที่ คณะกรรมการข้าราชการมหาวิทยาลัย มอบหมาย และให้ความเห็นแก่อธิการบดีตามที่อธิการบดีปรึกษา


    คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา มสธ.

    มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
    (1) เสนอแนะนโยบายบัณฑิตศึกษาต่อสภาวิชาการ
    (2) ให้ความเห็นชอบแผนการเปิดสอนบัณฑิตศึกษาตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเพื่อเสนอต่อสภาวิชาการ
    (3) พัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้มีมาตรฐานสากล
    (4) กำกับดูแลมาตรฐานการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
    (5) ควบคุมการดำเนินงานบัณฑิตศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน และนโยบายของมหาวิทยาลัย
    (6) แต่งตั้งอาจารย์บัณฑิตศึกษา และอาจารย์พิเศษบัณฑิตศึก
    (7) พิจารณาคุณสมบัติตามเกณฑ์การแต่งตั้งอาจารย์พิเศษบัณฑิตศึกษา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ
    (8) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบโครงการดุษฎีนิพนธ์ คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์
    (9) แต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์
    (10 )พิจารณาหัวข้อวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์
    (11) รับรองวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์
    (12) แต่งตั้งคณะกรรมการผลิต/ปรับปรุงชุดวิชาระดับบัณฑิตศึกษา
    (13) แต่งตั้งคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำสาขาวิชา
    (14) แต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวกับงานบัณฑิตศึกษา
    (15) ปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย