สำนักทะเบียนและวัดผล มสธ.
Web Contents

การเตรียมตัวในวันสอบและเทคนิคการทำข้อสอบ

1. กำหนดวันสอบซ่อมภาคการศึกษาที่ 1/2562 และภาคการศึกษาพิเศษ/2561 ในวันที่  11-12 ก.ค. 2563

2. การเตรียมตัวในวันสอบ

      2.1 ตรวจสอบ วัน เวลา และสถานที่สอบซ่อมภาคการศึกษาที่  1/2562   ได้ที่ http://www.stou.ac.th/website/Exam/login_11.aspx มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษา/ผู้เรียนเข้าสอบ 2 ชุดวิชา ในคาบเวลาเดียวกัน

     2.2 การแสดงตนในการเข้าสอบ ให้นักศึกษานำบัตรประจำตัวนักศึกษาหรือบัตรประจำตัวผู้เรียน และบัตรประจำตัวประชาชนมาให้ครบทั้งสองบัตรเท่านั้น กรณีขาดบัตรประจำตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง 2 บัตร ให้นำรูปถ่ายมาติดใบคำร้องขอทำบัตรเข้าสอบ 2 รูป (เป็นรูปถ่ายที่ถ่ายในคราวเดียวกัน) ซึ่งถ่ายมาไม่เกิน 6 เดือน ที่กองกลางสนามสอบ บัตรเข้าสอบที่ไม่ได้ติดรูปถ่าย มหาวิทยาลัยฯ จะไม่ตรวจกระดาษคำตอบและให้ถือว่านักศึกษาสอบไม่ผ่านในชุดวิชานั้น

     2.3 เตรียมอุปกรณ์เพื่อใช้ในการสอบ ได้แก่ ปากกา ดินสอดำเบอร์ 2B เท่านั้น ยางลบ ที่เหลาดินสอ และอุปกรณ์อื่นที่มหาวิทยาลัยฯ อนุญาตให้ใช้ในการสอบเฉพาะชุดวิชานั้น

3. การแต่งกาย

นักศึกษาหญิง ให้สวมเสื้อ กระโปรง รองเท้าทรงสุภาพ (รัดส้น/หุ้มส้น) กางเกงขายาวสีพื้นสี/เข้ม/ทรงสุภาพ ห้ามสวมกางเกงยีนส์ กางเกงขาสั้นหรือขาสามส่วน กางเกงรัดรูป เสื้อยืดคอกลม เสื้อแขนกุด รองเท้าแตะ หรือร้องเท้าไม่มีส้น

นักศึกษาชาย ให้สวมเสื้อเชิ้ต เสื้อยืดคอปก กางเกงขายาวสีสุภาพ และสอดชายเสื้อไว้ในกางเกง รองเท้าหุ้มส้น หรือมีสายรัดส้น กางเกงยีนส์สีและทรงสภาพ ห้ามสวมกางเกงยีนส์ชนิดที่มีรอยขาดเป็นที่ที่ เสื้อยืดคอกลม กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะ” และต้องเชื่อฟังคำแนะนำและปฎิบัติตามคำสั่งของกรรมการคุมสอบอย่างเคร่งครัด

 

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องมือสื่อสาร

นักศึกษาต้องปิดโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดก่อนเข้าห้องสอบ โดยให้วางโทรศัพท์และอุปกรณ์ไว้ใต้เก้าอี้ที่นั่งสอบ และห้ามถ่ายภาพใดๆ ภายในบริเวณห้องสอบ หากพบเห็นว่านักศึกษาฝ่าฝืน มหาวิทยาลัยจะดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการสอบไล่ ระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2551 หมวด 3 แนวปฏิบัติการเข้าสอบสอบของนักศึกษา 

 

เทคนิคการทำข้อสอบปรนัย และอัตนัย

1. เทคนิคการทำข้อสอบปรนัย การทำข้อสอบปรนัยของ มสธ. มีตัวเลือก 5 ตัวเลือก (ชุดวิชามี 15 หน่วย ออกข้อสอบ หน่วยละ 8 ข้อ รวมเป็น 120 ข้อ) การทำข้อสอบในแต่ละข้อ นักศึกษาจะต้องใช้ความคิด พิจารณาอ่านอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว ข้อควรปฏิบัติในการทำข้อสอบทุกครั้ง

   1.1 อ่านและทำความเข้าใจกับข้อคำถามแต่ละข้ออย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะคำว่า ไม่ใช่ มากที่สุด น้อยที่สุด
   1.2 อ่านข้อคำตอบที่เป็นตัวเลือกทั้งหมดทุกข้อ ก่อนตัดสินใจเลือกว่าข้อใดเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากที่สุดเพียงข้อเดียว
   1.3 ไม่ควรใช้เวลานานกับคำถามข้อใด ข้อหนึ่งโดยเฉพาะถ้าติดขัด ยังคิดไม่ได้ นึกไม่ออก ก็ควรเว้นไว้ก่อน แต่ต้องทำเครื่องหมายไว้เป็นที่สังเกตเพื่อกลับมาทำ
   1.4 ควรตรวจสอบเวลาสอบที่เหลือ และข้อสอบที่ทำ หากเวลาเหลือน้อย แต่ข้อสอบมีเยอะควรรีบทำให้เร็วขึ้นในแต่ละข้อ แต่ถ้าเวลาเหลือเยอะ แต่ข้อสอบเหลือน้อย ควรใช้เวลาที่เหลือพิจารณาข้อสอบที่ค่อนข้างยากอีกครั้ง
   1.5 กรณีจำเป็นต้องตอบคำถามในข้อที่ไม่แน่ใจ นักศึกษาควรพิจารณาข้อคำตอบที่เป็นตัวเลือกที่เห็นว่า ไม่ถูก หรือ ผิดอย่างแน่นอน ตัดออกก่อน แล้วพิจารณาข้อคำตอบที่เหลืออย่างรอบคอบ และเลือกข้อคำตอบที่ตรงกับข้อคำถามมากที่สุด
   1.6 ควรทำข้อสอบให้ครบทุกข้อ อย่าปล่อยกระดาษคำตอบว่างไว้ ทำไม่ได้ คิดไม่ทัน เมื่อใกล้หมดเวลาก็ให้ฝนคำตอบให้ครบ ถึงแม้จะเป็นการเดาข้อสอบก็ควรทำ (ต้องเป็นกรณีสุดท้ายจริง ๆ)
1.7 ข้อคำถามที่จำเป็นต้องมีการคิดคำนวณ นักศึกษาสามารถคิดคำนวณ และทดเลขลงในกระดาษคำตอบของแบบทดสอบได้

2. เทคนิคการทำข้อสอบอัตนัย เป็นข้อสอบที่นิยมใช้วัดพฤติกรรม การเรียนรู้ในระดับสูง เช่น การคิด วิเคราะห์ การแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การสังเคราะห์ นักศึกษาจะต้องใช้ความรู้ในหลาย ๆ เรื่อง มาประสมประสานกัน เพื่อตอบประเด็นปัญหาที่ถามให้ได้ความชัดเจน
ลักษณะการตอบข้อสอบอัตนัยที่ดี ดังนี้

   1. ให้เริ่มต้นด้วยประโยคที่เป็นคำตอบที่ตรง และถูกที่สุด
   2. การตอบในย่อหน้าแรกให้เสนอเหตุผลสำคัญที่สุด
   3. การตอบในย่อหน้าต่อมา เป็นเหตุผลรอง
   4. ย่อหน้าต่อมา เป็นเนื้อหาย่อย ๆ
   5. ควรมีตัวอย่าง ประกอบเหตุผล
   6. ให้ข้อคิด หรือการวิเคราะห์ของตัวเองเสริม

*หมายเหตุ ไม่ควรส่งกระดาษเปล่า ถ้าทำข้อสอบไม่ได้ หรือ ไม่รู้คำตอบจริง ๆ ควรเขียนคำตอบที่ดีที่สุด ที่ตัวเองรู้ลงไปในกระดาษคำตอบ

ข้อควรระวังในการทำข้อสอบอัตนัย
   1. ใช้ปากการเขียนตอบในการทำข้อสอบอัตนัย โดยเขียนคำตอบให้อ่านง่าย ชัดเจน เป็นระเบียบ
   2. อ่านและทำความเข้าใจกับโจทย์ โจทย์ต้องการคำตอบในเรื่องใดบ้าง มีกี่ประเด็น โดยกำหนดคำตอบเป็นหลักการสำคัญของแต่ละประเด็นก่อน แล้วค่อยเขียนคำตอบพยายามตอบให้ครบถ้วนทุกประเด็น และเมื่อขึ้นประเด็นใหม่ควรย่อหน้าใหม่
   3. เมื่อตอบข้อใหม่ ควรใช้กระดาษคำตอบแผ่นใหม่
   4. ต้องเขียนชื่อ – ชื่อสกุล เลขประจำตัวนักศึกษาลงในกระดาษคำตอบทุกแผ่น


แผนที่สนามสอบ

นักศึกษาสามารถค้นหาสนามสอบเพื่อดูที่ตั้งและเส้นทางการเดินทางได้ที่ http://www.stou.ac.th/offices/ore/rere/goto/examsite


สำนักทะเบียนและวัดผล มสธ.  Version 2018.0.1